บัณฑิตคณิตศาสตร์คนหนึ่งบอกว่า ไม่รู้จักรามานุจัน อันนี้ทำให้เราเห็นภาพการศึกษาไทยได้ว่า “แคบ” ในโลกของคนเรียนคณิตศาสตร์ ต่างยกย่องศรีนิวาสะ รามานุจัน การเรียนคณิตศาสตร์โดยมิได้เกริ่นถึงรามานุจัน เป็นสิ่งที่จะต้องเอาไปลงหนังสือแปลก

รามานุจันเกิดในครอบครัวมีฐานะยากจนมาก พ่อเป็นนักบัญชีในร้านขายผ้า ส่วนแม่หารายได้เสริมโดยการไปร้องเพลงสวดภาวนาตามวัด

แม้ว่าจะยังเป็นเด็กเล็กอยู่ แต่รามานุจันก็ท่องค่าสแควร์รูท 2 ให้ครูฟังได้อย่างถูกต้อง เพื่อนคนหนึ่งให้ยืมหนังสือคณิตศาสตร์ชั้นสูงไปอ่าน ทำให้รามานุจันมีความสามารถทางคณิตศาสตร์สูงกว่าเด็กวัยเดียวกัน และสอบได้รับทุนเรียนต่อที่วิทยาลัยเมื่ออายุ 16 ปี

วันหนึ่ง รามานุจันมีโอกาสอ่านหนังสือคณิตศาสตร์ของมหาวิทยาลัยเคมบริดจ์ที่มีสูตรคณิตศาสตร์ประมาณ 6,000 สูตร แต่ไม่ได้แสดงวิธีพิสูจน์ ทำให้รามานุจันพยายามพิสูจน์สูตรต่างๆ จนสอบวิชาอื่นตกหมด และถูกตัดทุนเล่าเรียน

สอบเข้าวิทยาลัยอีก 2 ครั้ง แต่ไม่ได้ เพราะคะแนนดีเพียงคณิตศาสตร์ รามานุจันออกหางานสอนพิเศษคณิตศาสตร์ แต่ก็สอนเกินหลักสูตร ไม่ตรงกับข้อสอบ จนไม่มีใครจ้างสอน

อายุ 22 ปี ต้องเข้าพิธีแต่งงานกับเด็ก 9 ขวบ รามานุจันจึงต้องหางานให้ได้ วันที่ไปสมัครงานผู้ช่วยวิจัยกับศาสตราจารย์ไดแวน บี.ราว รามานุจันหนีบสมุดเล่มหนึ่งใต้รักแร้ ศาสตราจารย์ราวจึงขอดู ก็เป็นสูตรคณิตศาสตร์ที่ศาสตราจารย์ราวฟังรามานุจันอธิบายแล้วไม่เข้าใจ

รามานุจันจึงรู้ว่า ศาสตราจารย์คณิตศาสตร์ผู้นี้อ่านสูตรสมการไม่รู้เรื่อง จึงไปค้นวิธีอธิบายที่ง่ายขึ้นและมาพูดให้ฟังใหม่ในวันต่อมา นั่นแหละ รามานุจันจึงได้งาน แต่ก็ด้วยเงินเดือนน้อยมาก เมื่อหมดทุนวิจัย รามานุจันก็ต้องไปหางานเสมียนทำ และใช้เวลาว่างวิจัยคณิตศาสตร์ เพราะความยากจน ไม่มีเงินซื้อกระดาษ รามานุจันต้องใช้กระดาษห่อของเขียนสูตรและสมการต่างๆ

...

รามานุจันได้รับคำแนะนำให้ส่งจดหมายไปหาศาสตราจารย์ที่มีชื่อเสียงในประเทศอังกฤษ ส่งไปเยอะแยะ แต่ได้รับตอบกลับมาแค่ฉบับเดียว คนตอบชื่อศาสตราจารย์ก๊อดฟรีย์ ฮาร์ดี อายุ 36 ปี ศาสตราจารย์ก๊อดฟรีย์ให้สัมภาษณ์ว่า อ่านจดหมายนายคนนี้ครั้งแรก คิดว่าเป็นของพวกคนบ้า แต่พออ่านไปเรื่อยๆ ก็รู้ว่า ข้อความที่อยู่เบื้องหน้านั้น เป็นงานของเทวดา จึงไปชวนศาสตราจารย์คณิตศาสตร์ชื่อดังของอังกฤษมาช่วยกันดูกว่า 3 ชั่วโมง แล้วก็ยอมรับว่า สิ่งที่รามานุจันคนไม่มีปริญญาเขียนนั้น พวกตนไม่มีความสามารถสูงเท่า จึงมีจดหมายเชิญมาร่วมงานที่มหาวิทยาลัยเคมบริดจ์ โดยออกค่าเดินทาง ค่ากิน และเงินเดือนที่จะมากกว่าที่อินเดียถึง 30 เท่า

ศาสนาของรามานุจันห้ามการเดินทางไปต่างประเทศ พวกที่เคมบริดจ์จึงต้องให้เพื่อนๆ ไปพบรามานุจันที่มัทราส จนวันหนึ่ง แม่ของรามานุจันฝันว่า เทพธิดานามาคีรียอมให้รามานุจันไปอังกฤษได้ รามานุจันจึงเดินทาง

ที่อังกฤษ รามานุจันทำให้พวกศาสตราจารย์แปลกใจมาก เพราะวิธีคิดของแกไม่เหมือนนักคณิตศาสตร์ทั่วไป รามานุจันรู้บางเรื่องดีมาก แต่เรื่องง่ายๆ ที่เป็นพื้นฐานกลับไม่รู้

งานของรามานุจันได้รับการตีพิมพ์ถึง 21 เรื่องในเวลาเพียง 5 ปี ทั้งที่ไม่จบปริญญา แต่รามานุจันก็ได้รับตำแหน่งเป็น “ศาสตราจารย์คณิตศาสตร์แห่งมหาวิทยาลัยเคมบริดจ์” และได้รับการเสนอให้เป็น Fellowship of the Royal Society หรือ FRS ซึ่งมีเกียรติยศมาก รามานุจันเป็นอินเดียคนแรกที่ได้รับเลือกให้ได้เป็น FRS

รามานุจันกินแต่ผัก ชีวิตในอังกฤษก็ลำบาก ต้องให้ครอบครัวส่งข้าวจากอินเดียมาหุงกินเอง ไหนจะทำงานสอน งานวิจัย ไหนจะต้องดูแลตัวเอง สุขภาพของรามานุจันจึงไม่ดีเพราะขาดสารอาหาร สุดท้ายรามานุจันก็เป็นวัณโรคและโรคตับอักเสบ

การตายของรามานุจันด้วยวัย 32 ปี ทำให้วงการคณิตศาสตร์ทั้งโลกตกใจ รามานุจันทิ้งสมุดบันทึกหลายเล่มที่มีสูตรคณิตศาสตร์ประมาณ 4,000 สูตร แต่ครูเก่าของรามานุจันมาหยิบเอาไป ทำให้วันนี้ โลกมีผลงานของรามานุจันไม่ครบ

เรื่องของรามานุจันมีเยอะ เอามาเขียนทั้งสัปดาห์ก็ไม่หมด

เรื่องพวกนี้ เรียนกันตามมหาวิทยาลัยที่สอนคณิตศาสตร์

แต่ทำไมบัณฑิตคณิตศาสตร์ของไทยคนนี้จึงไม่รู้จัก?

คุณนิติ นวรัตน์