การศึกษาไทยกำลังมีปัญหาเรื่องคุณภาพ หากเทียบกับประเทศเพื่อนบ้านอาเซียน เราอยู่อันดับที่ 8 จึงต้องหาทางแก้ปัญหาอย่างเร่งด่วน

แนวทางแก้ปัญหา หนึ่งระดับนโยบาย จะเกาถูกที่คันหรือไม่ก็ตามคือ การทดสอบทางการศึกษาระดับชาติระดับอุดมศึกษา (ยูเน็ต) ของ สถาบันทดสอบทางการศึกษาแห่งชาติ (สทศ.) แต่ก็ประกาศยกเลิกไปแล้ว ท่ามกลางเสียงต่อต้านและคล้อยตาม

ในทรรศนะของ ดร.สุภาวดี วงษ์สกุล ผอ.โรงเรียนสวนกุหลาบวิทยาลัย รังสิต ผู้อยู่กับเด็กมัธยมมองคุณภาพเด็กไทยว่า “ผลการสอบของเด็ก ถ้าเป็นระดับนานาชาติเราอยู่บ๊วย หรือไม่ก็เกือบบ๊วยสุด” พลางอธิบายเสริมว่า ปัญหาที่เกิดขึ้นกับการศึกษาไทยนั้น ไม่ใช่เด็กไทยไม่เก่ง แต่เกิดจากความผิดพลาดทางด้านการจัดการศึกษา

ผิดพลาดอย่างไร คำตอบคือ “เราจะเห็นว่า คนไทยประยุกต์เก่ง แปลงเก่ง เมื่อรู้ว่าเป้าหมายของผู้ปกครองต้องการให้เด็กเข้ามหาวิทยาลัยให้ได้ รู้ว่าพ่อแม่จะทำทุกวิถีทางให้ลูกทำคะแนนได้ โรงเรียนไม่ว่าจะเป็นเอกชนและรัฐบาลก็สนองตอบ โดยการทำอย่างไรก็ได้ ติวอะไรก็ได้ให้เด็กทำคะแนนได้”

เมื่อเป็นเช่นนั้น ติวเตอร์ก็สนองตอบด้วย “ทำทุกอย่างให้ โดยไปดูว่าข้อสอบเข้ามหาวิทยาลัยว่าออกสไตล์ไหน ก็มาดักเรียนอยู่แค่นั้น เขาบอกว่าการศึกษาในศตวรรษที่ 21 ต้องการให้มีทักษะต่างๆ ที่จะประกอบอาชีพ ในความเป็นจริงมีแนวคิดนี้มาแต่ไหนแต่ไรแล้ว ต้องให้มีความชำนาญ ให้มีความรู้อย่างแท้จริง แต่ความที่เพี้ยนเพราะคนมุ่งจะเข้ามหาวิทยาลัยให้ได้ ก็เลยไปติว ติวแม้กระทั่งการปฏิบัติการเพื่อทำแล็บ ติวเตอร์สรุปรวบยอดอย่างเดียว โรงเรียนเองก็อาจจะอุปกรณ์ไม่พร้อม หรือไม่ดีพอ เด็กไปติวแล้วท่องหมดเลย ภาษาอังกฤษก็ท่องอย่างเดียวเพื่อจะให้ได้คะแนน ผลมันก็เลยออกมาว่า เด็กสอบได้แล้วก็โล่งใจ ไม่ทำอะไร แล้วเป็นความเคยชินคือ เห็นโจทย์อย่างนี้ทำอย่างนี้ เขาบอกไว้ ผลร้ายตามมาก็คือเด็กไม่ได้ลับสมอง คิดไม่เป็น”

...

ด้วยตระหนักในเรื่องนี้ “ในโรงเรียนของเรา เราจะสอนให้รู้ ถ้าเจอโจทย์สถานการณ์ใดๆ ก็ตาม ต้องอ่าน ต้องคิด ต้องวิเคราะห์ ต้องวางแผน ต้องทดลอง กระบวนการมันต้องครบ มันจึงจะหัดแก้ปัญหาและลับสมอง เมื่อเจอปัญหาใดๆ ก็แก้ได้”

เด็กคิดไม่เป็น แก้ปัญหาไม่ได้ ทางออกคือ “ขณะนี้เรามัวโทษกัน โทษพ่อแม่ ประถม มัธยม มหาวิทยาลัย และโทษครู ถ้าเราจะแก้ปัญหาระยะสั้นโดยพัฒนาครู ด้วยการอบรมครูก็ถูกต้องทำไป แต่จะให้ได้ผลมากๆ นั้นยาก เพราะว่าเขามีความเคยชินมาตั้งแต่เป็นเด็กจนมาเป็นครู มันก็เป็นวัฏจักร ขณะที่กระทรวงจะปรับโน่นปรับนี่ แนวทางการแก้ปัญหาก็คือ เมื่อปฏิรูปการเรียนอย่างไร จะพัฒนาครูอย่างไร เราก็เอาไปใส่ในมืออุดมศึกษา ระดับอุดมศึกษาต้องผลิตคนรุ่นใหม่ออกมา เพื่อตามแก้ปัญหาประเทศชาติ ปัญหามันอยู่ตรงนั้น”

ทำไมต้องอุดมศึกษา เพราะ “ระดับอุดมศึกษารวมคนเก่งทั้งประเทศเอาไว้ การจะมาแก้ปัญหาที่ปลายมือตรงครูประถม ครูมัธยม มันคล้ายๆกับว่าเขาเก่งสู้อุดมศึกษาไม่ได้ อุดมศึกษาคุณต้องอดทน อดกลั้น ฝึกทุกอย่างที่จะให้เด็กรุ่นใหม่ออกมาแก้ปัญหาของชาติให้ได้”

อุดมศึกษาเสมือนตะแกรงร่อนสุดท้าย ในการผลิตบุคลากรทางการศึกษา ผลิตครูออกมาสอนเด็กทุกระดับชั้น ถ้าไม่ผลิตบุคลากรที่มีคุณภาพออกมา “สถานประกอบการก็ว่า คุณจบวิศวะออกมาทำงานไม่เป็นเลย มหาวิทยาลัยโทษมัธยมว่าส่งคนที่ไม่ได้คุณภาพเข้าไป มัธยมบางแห่งอาจเป็นอย่างนั้นก็อย่าว่ากันเลย เพราะไม่พร้อม อย่างโรงเรียนเราก็ขาดครูตั้ง 40-50 คน โรงเรียนใหญ่ๆ โรงเรียนเล็กโรงเรียนน้อยขาดครู อีกทั้งครูเข้ามาสอนไม่ตรงเอก ไม่ตรงโท เพราะฉะนั้นมหาวิทยาลัยนี่ตรงวุฒิ ตรงเอก ตรงโทที่สุด ด้วยเหตุนั้นคุณต้องช่วยแก้ปัญหาประเทศชาติทางการศึกษา อันนี้เป็นหัวใจเลย”

ดร.สุภาวดีตั้งข้อสังเกตว่า ดูเหมือนมหาวิทยาลัยจะลอยตัว ไม่ถูกตรวจสอบ ไม่ถูกประเมิน อย่างคณะศึกษาศาสตร์ ในมหาวิทยาลัยสอนไม่มาก เพราะต้องมีงานวิจัย เป็นต้นว่าสอนอย่างไร ทำอย่างไร แก้ปัญหาอย่างไร ได้ผลงานออกมาก็ให้ประถม มัธยมเอาไปใช้ แต่ระยะ 10-20 ปีที่ผ่านมาไม่เห็นงานวิจัยออกมาแก้ปัญหาได้เลย ทั้งๆ ที่มหาวิทยาลัยใหญ่ๆ มีครู มีลูกศิษย์เรียนปริญญาตรี โทเป็นลูกมือ

“เมื่อเป็นเสียอย่างนี้ ปัญหาของประเทศชาติวันนี้ จับตรงไหนก็เป็นปัญหาหมด เราต้องเริ่มต้นที่อุดมศึกษา ตั้งใจหน่อย คุณผลิตคนออกมาเพื่อแก้ปัญหาสังคม แก้ปัญหาประเทศชาติ แต่ที่สถานประกอบการ บริษัทห้างร้านที่บ่นทั้งหมด คุณกลับเอาหูทวนลม ไม่ได้ทำอะไรเลย นี่เป็นเรื่องที่หนึ่ง”

ส่วนเรื่องที่สอง ตัวช่วยในระยะสั้น “มหาวิทยาลัย และสำนักสอบไม่ว่าจะส่วนไหน คุณอยากให้เด็กคิดเป็นวิเคราะห์เป็น คุณต้องออกข้อสอบให้วิเคราะห์หนักๆ เด็กเขียนไม่เป็นคุณต้องออกข้อสอบให้มีอัตนัยด้วย ให้เด็กเขียน อยากให้เด็กพูดภาษาอังกฤษเป็น พูดภาษาอะไรเป็น ก็ต้องสอบตรงเลย สอบสัมภาษณ์ทั้งพูดทั้งคุย ถ้าเป็นอย่างนั้น ผู้ปกครองที่อยากให้เด็กเข้ามหาวิทยาลัย ก็ต้องเตรียมเด็ก ติวเตอร์ทั้งหลายแหล่ก็ต้องปรับการเรียนการสอน เพราะอาชีพเขา”

ในส่วนของโรงเรียนสวนกุหลาบวิทยาลัย รังสิตเอง การสอบเด็กเข้าเรียน ในข้อสอบก็มีอัตนัย 5 ข้อ กระจายความรู้ได้อย่างทั่วถึง แล้วเอาเฉพาะคนเชี่ยวชาญจริงๆมาตรวจสอบ

การแก้ปัญหาคุณภาพเด็ก เท่าที่ผ่านมา “นโยบายของกระทรวงลงมา ไม่มีการประเมินผลว่าใครดำเนินการตามนโยบายหรือไม่ เมื่อสั่งออกไปแล้วใครทำไม่ทำก็ไม่มีการแก้ปัญหาอะไรได้เลย นี่คือปัญหา ถ้าอุดมศึกษาทำอย่างที่ว่า โรงเรียนเราก็ทำอย่างที่บอก ช่วยกันทำคนละเล็กละน้อยมันก็กระเพื่อมทั้งประเทศ ระดับมัธยมทำแบบนี้ก็กระเพื่อม และเมื่อครูน้ำใหม่ออกมาก็จะเป็นมาตรฐาน”

การเอาครูเก่ามาอบรม “อบให้ตายก็เปลี่ยนไม่ได้เท่าไหร่หรอก แต่เอาคนรุ่นใหม่ออกมาซิ เอาน้ำใหม่ออกมา เพราะฉะนั้นเมื่อแก้ปัญหาตรงนี้ก็จะแก้ทีละเปลาะ และอย่าใจร้อน ปัญหาประเทศชาติตอนนี้ ผู้ใหญ่หรือใครก็ตามใจร้อนไปไหม ออกมาปุ๊บอยากให้สำเร็จเลย เพราะฉะนั้นจึงมีแต่โรยหน้า มันไม่ยั่งยืน ทั้งๆที่ผู้ใหญ่อยากให้ยั่งยืน”

การเตรียมเด็กเพื่อรองรับอาเซียน ขณะที่รัฐมนตรีว่าการกระทรวงศึกษาธิการ จาตุรนต์ ฉายแสง ให้เน้นภาษาอังกฤษซึ่งเป็นภาษากลางของอาเซียนมาเป็นอันดับหนึ่ง ตามมาด้วยภาษาเพื่อนบ้านนั้น ดร.สุภาวดีบอกว่า ไม่ได้เตรียมเฉพาะสู่อาเซียนเท่านั้น แต่เตรียมสู่สากลเลย

การสู่สากลนอกจากวิชาชีพแล้ว ยังเน้น “วิชาช่วย” อีก 2 วิชาคือ ภาษาอังกฤษ กับไอซีที

“อยากจะเรียนวิชาชีพอะไรก็ตามทำตามที่เรียนไป บางคนก็ทำงานไม่ตรงกับที่เรียนมา เห็นด้วยกับอาจารย์ท่านหนึ่งบอกว่าวิชาช่วย เป็นวิชาที่สำคัญที่สุดเลย เพราะเราไปศึกษาอะไร ค้นอะไร เขาใช้ภาษาอังกฤษหมด คุณทำงานอาชีพอะไรในอนาคตต้องเอาสองวิชานี้เอาไปใช้หมด ถ้าคุณไม่มีสองวิชาช่วยนี้ คุณไม่สามารถสู่สากลได้ ถ้าเด็กได้ 2 ตัวนี้ไม่ต้องกลัวอะไรแล้ว ท่องโลกได้เลย”

อย่างไรก็ตาม การแก้ปัญหาต้องค่อยเป็นค่อยไป ต้องสร้างฐานให้มั่นคงและแข็งแรง “ถ้าไม่อย่างนั้น มันก็จะทลายลงมา” ดร.สุภาวดีทิ้งท้าย.