“เกาหลีใต้” ผงาด ยืนแถวหน้าด้านการศึกษา ขึ้นอันดับ 1 การศึกษาโลก ประเมินจากทักษะการคิดและการบรรลุเป้าหมายทางการศึกษาด้านต่างๆ รวมถึงคะแนนเฉลี่ยในการทดสอบทักษะและความรู้ในระดับสากล แซงหน้า “ฟินแลนด์” ที่ปีนี้ร่วงไปอยู่อันดับ 5 โดยมีญี่ปุ่น สิงคโปร์ ฮ่องกง อยู่ในอันดับ 2-4 ส่วนไทยติดอยู่ที่อันดับ 35 แต่ถือว่าดีขึ้นจากปี 2555 ขณะที่มหาอำนาจอย่าง สหรัฐอเมริกา-รัสเซีย อันดับร่วง

สำนักข่าวต่างประเทศรายงานเมื่อวันที่ 8 พ.ค. ถึงผลการจัดอันดับการศึกษาโลกประจำปี 2557 โดยบริษัทเพียร์สัน พีแอลซี บริษัทด้านการศึกษาและสื่อสิ่งพิมพ์ระดับโลก สำนักงานใหญ่อยู่ที่กรุงลอนดอนของอังกฤษ ที่อ้างอิงผลสรุปดัชนีการเรียนรู้ของเพียร์สัน จัดทำร่วมกับนิตยสาร “ดิอิโคโนมิสต์” สื่อวิเคราะห์เศรษฐกิจ และสถาบันวิจัย “อินเทลลิเจนซ์ ยูนิต” เพื่อประเมินสถานการณ์ด้านการศึกษาใน 40 ประเทศและเขตการปกครองต่างๆทั่วโลก พบว่าหลายประเทศในแถบเอเชียมีอันดับด้านการศึกษาที่ดีขึ้นในเวทีโลก แต่ประเทศแถบยุโรปและอเมริกามีอันดับลดลง ส่วนหนึ่งเป็นผลจากปัญหาเศรษฐกิจส่งผลกระทบต่อการพัฒนาด้านการศึกษาและการวิจัย

ทั้งนี้ “เกาหลีใต้” เป็นประเทศแถบเอเชียประเทศแรกที่ติดอันดับ 1 การจัดอันดับการศึกษาโลกของเพียร์สัน เริ่มจัดทำมาตั้งแต่ปี 2533 อ้างอิงผลประเมินทักษะการคิดและการบรรลุเป้าหมายทางการศึกษาด้านต่างๆ รวมถึงคะแนนเฉลี่ยของนักเรียนและนักศึกษาของแต่ละประเทศ ซึ่งผ่านการทดสอบทักษะและความรู้ในระดับสากล ได้แก่ โครงการประเมินผลนักเรียนนานาชาติ (PISA) จัดทำโดยกลุ่มประเทศสมาชิกองค์การเพื่อความร่วมมือและพัฒนาเศรษฐกิจ (OSCD) การประเมินผลวิทยาศาสตร์และคณิตศาสตร์ (TIMSS) โครงการประเมินความก้าวหน้าด้านการรู้หนังสือนานาชาติ (PIRLS) รวมถึงสถิติผู้รู้หนังสือและสถิติผู้สำเร็จการศึกษาในประเทศต่างๆ แต่ละปี

...

จากผลการจัดอันดับพบว่าเกาหลีใต้ได้คะแนนรวมทั้งหมด 1.30 คะแนน เพิ่มขึ้นจาก 1.19 คะแนนจากการสำรวจในปี 2555 ส่งผลให้เกาหลีใต้ติดอันดับ 1 ด้านการศึกษาโลกแทนประเทศฟินแลนด์ ซึ่งตกลงไปอยู่อันดับ 5 ในปีนี้ ส่วนประเทศและเขตปกครองต่างๆ ที่ติดอันดับ 2-10 ประกอบด้วย ญี่ปุ่น, สิงคโปร์, ฮ่องกง เขตบริหารพิเศษจีน, ฟินแลนด์, อังกฤษ, แคนาดา, เนเธอร์แลนด์, ไอร์แลนด์ และโปแลนด์ ส่วนประเทศไทยติดอันดับ 35 ถือว่าดีขึ้นจากอันดับ 37 ในปี 2555 ขณะที่สหรัฐอเมริกาและรัสเซียตกจากอันดับเดิม 11 และ 9 กลายเป็นอันดับที่ 13 และ 14

เซอร์ไมเคิล บาร์เบอร์ ประธานกรรมการที่ปรึกษาของเพียร์สัน ให้สัมภาษณ์สำนักข่าวบีบีซีของอังกฤษระบุว่า สาเหตุที่ทำให้ประเทศแถบเอเชียติดอันดับต้นๆในการจัดอันดับการศึกษาโลกเพิ่มมากขึ้น เป็นผลจากการพัฒนาระบบการศึกษาที่มุ่งเน้นความมีประสิทธิภาพตามหลักสากล ผสมผสานกับวัฒนธรรมในแถบเอเชีย ซึ่งให้คุณค่ากับการศึกษาและท่องจำอย่างหนัก รวมถึงการให้เกียรติแก่ครูผู้สอนวิชาต่างๆว่ามีความสำคัญเทียบเท่ากับผู้ปกครอง

ด้านนายจอห์น ฟอลลอน ประธานกรรมการบริหารของเพียร์สัน จึงกล่าวเตือนว่าการพิจารณาใช้เทคโนโลยีด้านต่างๆแทนที่บทบาทของครูอาจารย์จะเป็นเรื่องที่ผิดพลาดอย่างยิ่ง พร้อมระบุว่า การพัฒนาระบบการศึกษาต้องคำนึงถึงการแบ่งปันข้อมูลด้านการศึกษา เพราะสถาบันการศึกษาทั่วโลกสร้าง สรรค์นวัตกรรมในสาขาต่างๆ เพิ่มขึ้นเป็นจำนวนมาก แต่ยังไม่มีการแบ่งปันอย่างเป็นระบบ ทำให้ขาดการต่อยอดองค์ความรู้ ขณะที่การพัฒนาระบบการศึกษาและการฝึกอบรมที่มีประสิทธิภาพจะช่วยส่งเสริม ให้การพัฒนาเศรษฐกิจเจริญเติบโตได้อย่างรวดเร็วเมื่อเทียบกับประเทศที่ขาดการพัฒนาด้านการศึกษา นอกจากนี้ ในแต่ละปีทั่วโลกใช้งบประมาณสนับสนุนด้านการศึกษาเฉลี่ยประมาณ 2.95 ล้านล้านปอนด์ (ราว 162.25 ล้านล้านบาท)