ศาลอาญาไม่รื้อฟื้นคดี 2 ตร.เพชรเกษมข่มขืนสาว 16 ปี บนโรงพัก ชี้ที่ผ่านมาศาลเปิดโอกาสให้สู้คดีอย่างเต็มที่แล้ว จึงยังไม่มีเหตุให้รื้อฟื้นคดีขึ้นใหม่...
วันที่ 7 พ.ค.57 มีรายงานว่า ที่ห้องพิจารณาคดี 709 ศาลอาญา ถนนรัชดาภิเษก ศาลนัดฟังคำสั่งรื้อฟื้นคดีอาญา ที่ นางสายนภา แอ๊ดมา ภรรยา ด.ต.นุโลม แอ๊ดมา และ นางฐพัฒน์ นาถโททอง ภรรยา ด.ต.มงคล โททอง ได้ยื่นคำร้องขอให้ศาลรื้อฟื้นคดีขึ้นพิจารณาใหม่ ตาม พ.ร.บ.รื้อฟื้นคดีอาญาขึ้นพิจารณาใหม่ พ.ศ. 2526 มาตรา 5 ในคดีหมายเลขดำที่ อ.4264 /2553 ในคดีหมายเลขดำที่ อ.4264 /2553 ที่ ด.ต.นุโลม แอ๊ดมา กับ ด.ต.มงคล โททอง และพวกอีก 1 คน อดีตตำรวจ สน.เพชรเกษม ต้องคำพิพากษาศาลฎีกาจำคุก 20 ปี ฐานกระทำชำเราหญิงอายุ 16 ปีเศษ อันมีลักษณะเป็นการโทรมหญิง
โดยคำร้องรื้อฟื้นคดีระบุว่า ด.ต.มงคล และ ด.ต.นุโลม ถูกพนักงานอัยการ คดีอาญา 3 ยื่นฟ้องเป็นจำเลยที่1-2 ฐานร่วมกันข่มขืนกระทำชำเรา น.ส.บี (นามสมมติ) ผู้เสียหายโดยใช้กำลังประทุษร้าย และผลัดเปลี่ยนกันข่มขืนผู้เสียหาย อันมีลักษณะเป็นการโทรมหญิง เหตุเกิดที่ สน.เพชรเกษม แขวงหลักสอง เขตบางแค กรุงเทพฯ ศาลฎีกามีคำพิพากษายืนตามศาลชั้นต้นว่ากระทำผิดให้จำคุกคนละ 20 ปี และปรับคนละ 40,000 บาท ต่อมาภรรยายของ ด.ต.มงคล และ ด.ต.นุโลม ได้ไปร้องขอความเป็นธรรมต่อกรมสอบสวนคดีพิเศษ หรือดีเอสไอ ให้ดำเนินการสืบสวนข้อเท็จจริง เนื่องจากภายหลัง น.ส.บี (นามสมมติ) ผู้เสียหายได้สารภาพว่าได้ปรักปรำใส่ร้ายเจ้าหน้าที่ตำรวจ สน.เพชรเกษมให้ได้รับโทษจริง ต่อมาเจ้าหน้าที่ดีเอสไอจึงได้รวบรวมหลักฐานและให้ทนายความฟ้องร้อง น.ส.บี ข้อหาเบิกความเท็จ ซึ่งศาลชั้นต้นพิพากษาจำคุกรวม 18 เดือน แต่จำเลยรับสารภาพ ลดโทษเหลือจำคุก 9 เดือน
...
ศาลพิจารณาคำร้องขอรื้อฟื้นคดีแล้วเห็นว่า จำเลยทั้งสองเป็นเจ้าหน้าที่ตำรวจย่อมรู้กฎหมายเป็นอย่างดี หากผู้เสียหายแจ้งความเท็จกล่าวหาว่าจำเลยทั้งสองข่มขืนก็สามารถฟ้องร้องแจ้งความดำเนินคดีต่อผู้เสียหายเพื่อให้รับโทษทางอาญาในความผิดฐานแจ้งความเท็จได้ มิใช่เพิ่งมายื่นฟ้องผู้เสียหายในความผิดฐานแจ้งความเท็จหลังจากที่ศาลอุทธรณ์พิพากษาตัดสินไปแล้ว โดยระยะเวลาผ่านล่วงเลยมานาน ประกอบกับระหว่างการพิจารณาคดีของศาล จำเลยทั้งสองก็สามารถนำพยานหลักฐานต่อสู้ได้อย่างเต็มที่
ส่วนที่ผู้เสียหายยอมรับสารภาพในศาลชั้นต้นว่าเบิกความเท็จ เพื่อปรักปรำจำเลยทั้งสอง โดยอ้างว่ารู้สึกสำนึกผิดนั้น ศาลเห็นว่าอาจมีเหตุจูงใจอื่นนอกจากการสำนึกผิดส่วนที่ผู้เสียหายเข้าเครื่องจับเท็จของดีเอสไอแล้วไม่พบว่าคำให้การมีพิรุธนั้น ถือว่าเป็นการแสวงหาข้อเท็จจริงอย่างหนึ่งแต่เครื่องมือดังกล่าวผู้เชี่ยวชาญก็ระบุว่ามีความผิดพลาดได้ 1-2 เปอร์เซ็นต์ คำร้องของผู้ร้องทั้งสองจึงยังไม่มีเหตุให้รื้อฟื้นคดีขึ้นใหม่ ยกคำร้องและส่งสำนวนให้ศาลอุทธรณ์พิจารณาต่อไป
ทั้งนี้ ภายหลังศาลมีคำสั่ง จำเลยทั้งสองกล่าวระหว่างเดินเข้าห้องขังใต้ถุนศาลอาญาว่า รู้สึกผิดหวัง แต่ก็จะอุทธรณ์สู้คดีต่อไป.