ผมใช้พื้นที่คอลัมน์ในไทยรัฐออนไลน์เขียนถึงชะตาชีวิตของโนเกียไปแล้วหลายครั้ง สัปดาห์นี้ก็ขออีกสักรอบครับ เพราะหนังชีวิตภาคนี้ของโนเกียใกล้จบภาคแล้ว
ในรอบ 3-4 ปีที่ผ่านมา โนเกียอยู่ในช่วงเปลี่ยนผ่านครั้งใหญ่ในรอบหลายสิบปี บริษัทเริ่มจากการเป็นราชาแห่งโลกมือถือมายาวนาน แต่เมื่อตลาดเปลี่ยน เทคโนโลยีเปลี่ยน ซอฟต์แวร์ที่เป็นระบบปฏิบัติการของสมาร์ทโฟนกลายเป็นสิ่งสำคัญกว่าฮาร์ดแวร์ที่โนเกียถนัด ผลสุดท้ายคือโนเกียก็อยู่ไม่รอดในฐานะบริษัทอิสระที่ขายมือถือ และต้องตัดส่วนกิจการมือถือขายให้ไมโครซอฟท์ด้วยราคาไม่แพงมากนักเมื่อช่วงกลางปีที่แล้ว
เมื่อสัปดาห์ที่ผ่านมา ไมโครซอฟท์ประกาศว่าการซื้อกิจการมือถือของโนเกียเสร็จสมบูรณ์แล้ว ในเบื้องต้น สายงานมือถือของโนเกียทั้งหมดจะเปลี่ยนชื่อบริษัทเป็น Microsoft Mobile ที่มีสถานะเป็นบริษัทลูกของ Microsoft Corporation ส่วนอาคารสำนักงานในฟินแลนด์ก็จะยังใช้ที่เดิมไม่เปลี่ยนแปลง (ล่าสุดเปลี่ยนป้ายตึกจากโนเกียเป็นไมโครซอฟท์แล้ว)
ไมโครซอฟท์มีสิทธิใช้ชื่อแบรนด์ “โนเกีย” ทำตลาดไปอีกสักพักใหญ่ๆ และลูกค้าโนเกียที่ซื้อเครื่องไปแล้วจะได้การรับประกันเท่าเดิม ดังนั้นในช่วงแรกเรายังไม่น่าจะเห็นการเปลี่ยนแปลงในสายตาผู้บริโภคมากนัก แต่ถ้าเวลาผ่านไปอีกสัก 6 เดือนหรือ 1 ปี เราน่าจะเห็นพัฒนาการของตัวสินค้าที่เดินหน้าไปอย่างรวดเร็วมากขึ้น เนื่องจากทั้งสองบริษัทรวมกันเป็นหนึ่งแล้วนั่นเอง
ปัจจุบันโนเกียมีระบบปฏิบัติการสำหรับมือถือมากถึง 4 ระบบคือ รุ่นท็อปสุดที่เป็นแบรนด์ Lumia ใช้ Windows Phone ของไมโครซอฟท์, รองลงมาเป็น Nokia X ที่ใช้ Android, รองลงมาอีกเป็นสมาร์ทโฟนราคาถูก Asha ที่ใช้ระบบปฏิบัติการ Asha ของตัวเอง และสุดท้ายคือมือถือที่ไม่ใช่สมาร์ทโฟน
ผมคาดว่าในระยะยาวไมโครซอฟท์จะลดจำนวนระบบปฏิบัติการลงเหลือแค่ 2 ตัว โดยตัวที่เก็บไว้แน่ๆ คือ Windows Phone ของไมโครซอฟท์เอง และมือถือธรรมดาตระกูลฟีเจอร์โฟนรุ่นถูกที่สุด ส่วน Asha กับ Android น่าจะมีตัวไหนตัวหนึ่งต้องจากไปก่อน และระยะยาวคงถูกแทนที่ด้วย Windows Phone ทั้งหมด
ที่ร่ายมาทั้งหมดนี้หมายถึง “กิจการมือถือ” ของโนเกียเพียงเท่านั้นนะครับ
เราต้องไม่ลืมว่า โนเกียในฐานะบริษัทก็ยังคงอยู่ดีมีสุข แค่ตัดส่วนมือถือขายให้ไมโครซอฟท์เท่านั้น แถมเผลอๆ โนเกียยุคใหม่จะสบายกว่าตอนทำมือถือด้วยซ้ำ เพราะกิจการที่เหลืออยู่ทำกำไรดีแถมการแข่งขันไม่รุนแรงเท่ากับมือถือ
โนเกียยุคใหม่ยังมีพนักงานอีกกว่าห้าหมื่นคน โดยทำธุรกิจ 3 ด้านใหญ่ๆ คือ อุปกรณ์เครือข่ายสำหรับโอเปอเรเตอร์ ใต้แบรนด์ NSN (Nokia Solutions and Networks), บริการแผนที่ออนไลน์ในแบรนด์ HERE, ธุรกิจค้นคว้าวิจัยและการขายสิทธิบัตรทางเทคโนโลยี
ล่าสุดโนเกียยุคใหม่เพิ่งตั้งคุณ Rajeev Suri ซีอีโอของ NSN ขึ้นเป็นซีอีโอใหญ่ของโนเกียทั้งบริษัท แทนที่ Stephen Elop อดีตซีอีโอที่ย้ายไปคุมกิจการมือถือให้ไมโครซอฟท์
ในภาพรวมแล้วผมว่าตอนนี้โนเกียซีกที่เหลืออยู่ลอยตัวไปแล้ว เสียศักดิ์ศรีอยู่บ้างว่าต้องขายกิจการมือถือทิ้ง แต่ในแง่ธุรกิจนั้นดีมาก สบายตัวไปเยอะ
ภาระหนักคงตกอยู่ที่ไมโครซอฟท์ที่ต้องรวมกำลังทั้งมวล ไม่ว่าจะเป็นสายงานซอฟต์แวร์ของตัวเอง หรือสายงานฮาร์ดแวร์ที่ซื้อมาจากโนเกีย แล้วแปรเปลี่ยนเป็นผลิตภัณฑ์ที่ดีเลิศและสามารถต่อสู้กับคู่แข่งทั้ง Android และ iOS ได้อย่างสูสี ที่เหลือก็ขึ้นกับฝีมือของ Satya Nadella ซีอีโอคนใหม่ของไมโครซอฟท์แล้วล่ะครับ
มาร์ค Blognone
...