กพฐ.เร่งจัดทำคู่มือแก้ไขปัญหานักเรียนมัธยมอ่านไม่ออกเขียนไม่ได้ เน้นแนวทางการทดสอบวัดระดับความสามารถทางภาษาไทยของนักเรียน หลังพบผลสัมฤทธิ์ทางการเรียนต่ำ เด็กอ่านโจทย์คำถามไม่ออก...
นายอภิชาติ จีระวุฒิ เลขาธิการคณะกรรมการการศึกษาขั้นพื้นฐาน (กพฐ.) กล่าวว่า ปัจจุบันนักเรียนมัธยมมีปัญหาอ่านไม่ออกเขียนไม่ได้ค่อนข้างน่าเป็นห่วง ส่วนใหญ่เป็นปัญหาที่สะสมมาตั้งแต่ระดับประถมศึกษา แต่กลับไม่ได้รับการแก้ไข โรงเรียนปล่อยให้เด็กเลื่อนชั้นขึ้นมัธยมได้ทั้งที่ยังอ่านไม่ออกเขียนไม่ได้ เพราะฉะนั้น สำนักงานคณะกรรมการการศึกษาขั้นพื้นฐาน (กพฐ.) จึงจะเร่งรัดแก้ไขปัญหาดังกล่าว โดยสั่งการให้โรงเรียนมัธยมทั่วประเทศในสังกัด สพฐ. ทำการทดสอบทักษะภาษาไทยของนักเรียนที่รับเข้าใหม่ ทั้งระดับ ม.1 และ ม.4 ตั้งแต่สัปดาห์แรกของการเปิดภาคเรียน แล้วสรุปข้อมูลรายงานมายัง สพฐ.
ทั้งนี้ สำนักวิชาการและมาตรฐานการศึกษา (สวก.) ของ สพฐ. กำลังจัดทำคู่มือแก้ไขปัญหานักเรียนมัธยมอ่านไม่ออกเขียนไม่ได้ โดยเนื้อหาในคู่มือจะมีแนวทางการทดสอบวัดระดับความสามารถทางภาษาไทยของนักเรียน และแนวทางในการพัฒนาทักษะภาษาไทยให้กับนักเรียนที่มีปัญหา เพราะฉะนั้น หลังจากโรงเรียนทำการสแกนในการวัดทักษะภาษาไทยของนักเรียนที่เข้าใหม่แล้ว ก็ให้พัฒนาเด็กตามแนวทางในคู่มือ เพื่อให้เด็กอ่านออกเขียนได้โดยเร็ว เพราะส่วนหนึ่งที่ผลสัมฤทธิ์ทางการเรียนต่ำ รวมทั้งการที่เด็กทำคะแนนทดสอบทางการศึกษาระดับชาติขั้นพื้นฐาน (โอเน็ต) และทำคะแนน Pisa ต่ำนั้น สาเหตุใหญ่เป็นเพราะเด็กอ่านโจทย์ไม่ออก อันนี้เป็นข้อมูลจริงที่ สพฐ. ได้จากการลงไปสัมภาษณ์เด็กและผู้เกี่ยวข้องโดยตรง
สำหรับนักเรียนเดิมในชั้น ม.2 ม.3 ม.5 และ ม.6 ก็ให้โรงเรียนจัดทดสอบทักษะการอ่านเขียนด้วย แล้วเร่งรัดแก้ปัญหาให้เด็กโดยด่วน เพราะนักเรียนที่จบชั้นมัธยมบางส่วนจะเข้าสู่ตลาดแรงงานทันที หากปล่อยให้เด็กที่ยังอ่านเขียนไม่คล่องออกไปจะมีปัญหาต่อการทำงานได้
...
นอกจากนั้นยังได้สั่งการให้ครูชั้น ป.3 เตรียมทดสอบทักษะในการเขียนของนักเรียนที่กำลังเลื่อนชั้นขึ้น ป.4 ด้วย นักเรียนระดับชั้นนี้เป็นรุ่นแรกที่ได้รับแจกแท็บเล็ตตามโครงการ 1 คอมพิวเตอร์พกพก (แท็บเล็ต) ต่อ 1 นักเรียน ตั้งแต่ปีการศึกษา 2555 ซึ่งหลายฝ่ายกังวลว่า เมื่อเด็กเปลี่ยนไปใช้แท็บเล็ตในการเรียนมากขึ้นแล้ว อาจลดโอกาสในการฝึกเขียนของเด็กได้ เพราะอาศัยแต่การอ่านจากเครื่องแท็บเล็ต จึงจำเป็นต้องจับเด็กมาทดสอบการเขียนเพื่อให้ได้ข้อมูลที่แท้จริง หากพบว่าความสามารถทางการเขียนของเด็กได้รับผลกระทบจริง จะได้หาทางพัฒนาทักษะการเขียนให้นักเรียนเพิ่มเติม.