หน้ากล้อง, บนเวทีอลังการ ท่ามกลางสปอตไลต์ ภายใน 'เซ็นเตอร์พอยท์สตูดิโอ' เมื่อวันเปิดตัวอย่างยิ่งใหญ่ จากโลว์โปรไฟล์ บุคลิกสบายๆ ไม่ชอบพิธีรีตอง กลับกลาย เป็น CEO หนุ่มรุ่นใหม่ที่ทุกคนต้องจับตา
หลังกล้อง เขาคือ CEO หนุ่มที่ใกล้ชิดลูกน้องมากถึงมากที่สุด บ่อยครั้งที่ผู้บริหารหนุ่มจะเดินเข้าหาพูดคุยให้คำปรึกษา กระทั่งถามไถ่สารทุกข์กับพนักงานอย่างเป็นกันเอง จึงไม่แปลกที่ลูกน้องและผู้ที่ร่วมงานจะเคารพรักทั้งต่อหน้าและลับหลัง
หลังเปิดตัวไทยรัฐทีวีไปอย่างยิ่งใหญ่ปลายสัปดาห์ที่แล้ว ไทยรัฐออนไลน์มีโอกาสเปิดห้องทำงานเพื่อสัมภาษณ์พิเศษ คุณจูเนียร์ วัชร วัชรพล ประธานกรรมการบริหาร บริษัท ทริปเปิล วี บรอดคาสท์ จำกัด สถานีโทรทัศน์ไทยรัฐทีวีมูลค่าหลายพันล้านบาท พูดคุยเป็นครั้งแรก
นอกจากย้อนทุกความเป็นมา พร้อมกับตอบทุกคำถามที่ทั้ง 'คนนอก' และ 'คนใน' วงการ สงสัยเกี่ยวกับไทยรัฐทีวี ตั้งแต่จุดเริ่มต้น และคำปรามาสต่างๆ มากมาย ที่เกิดขึ้นระหว่างทาง และอนาคตข้างหน้าอย่างตรงไปตรงมา
นี่คือทั้งหมดหัวใจครั้งแรกของหนุ่มโลว์โปรไฟล์ ซึ่งวันนี้กลายเป็น CEO หนุ่มไทยรัฐทีวี สถานีบ้าพลัง (สร้างสรรค์) ที่หลายคนจับตา ซึ่งกำลังเดินรอยตาม กำพล วัชรพล ผู้ก่อตั้ง นสพ.ไทยรัฐ และแน่นอนว่าเขามีคุณตาเป็นแรงบันดาลใจ!
...
Q : ชีวิตเปลี่ยนไปไหม หลังจากตัดสินใจทำไทยรัฐทีวี?
เปลี่ยนแปลงในทางที่มีหน้าที่ภาระอันใหญ่หลวง หนักหน่วงมากขึ้นกับชีวิตที่จะต้องรับผิดชอบ เมื่อก่อนผมอาจจะมีเวลาเล่นกีฬาที่ชอบ (บาสเกตบอล และฟุตบอล) แต่ตอนนี้อาจจะมีเวลาทำอะไรน้อยลง
Q: เครียดไหมที่มีคนจับตาและคาดหวังกับทีมไทยรัฐทีวีเอาไว้สูงมาก?
ก็มี แต่ก็มีจุดหนึ่งที่บอกเราว่าเครียดไปมันก็ไม่มีประโยชน์ เราตั้งใจทำให้ดีที่สุดแล้ว ก็ไม่จำเป็นต้องทำให้มันจบภายในวันที่มันเปิดตัว (24 เม.ย.) ซึ่งต้องยอมรับว่าทุกอย่างอาจจะไม่สมบูรณ์ 100% แบบที่ใจหวัง แต่เราก็ยังมีเวลาที่เราต้องปรับปรุงผลงานอีกเยอะ คือเกมนี้มันเป็นเกมยาว มันไม่ใช่โป้งเดียวจอด แต่ผมก็ต้องยอม รับว่าความประทับใจครั้งแรกมันเป็นสิ่งสำคัญ เราจึงพยายามทำตรงนั้นให้ดีที่สุด แต่อย่างที่บอก 'มันไม่ใช่ชอตเดียว แม้ First impression หรือการเห็นโฉมหน้าไทยรัฐทีวีครั้งแรกเป็นสิ่งสำคัญในการเปิดตัวที่สวยหรูในฤดูกาลที่ดี แต่ฤดูกาลนี้มันก็ไม่ได้จบแค่แมตช์แรกแมตช์เดียวผมคิดแบบนั้น
Q : ทีวีไทยรัฐเริ่มต้นจากอะไร อะไรที่บอกว่าต้องเริ่มทีวีไทยรัฐแล้วนะ?
จริงๆ ตอนแรกผมตั้งใจจะทำสตูดิโอเล็กๆ บนชั้น 11 ของอาคาร 12 (ที่อยู่ไทยรัฐออนไลน์ในปัจจุบัน) ตรงที่เป็นห้องประชุมกระจก เพราะเมื่อก่อนชั้น 11 เป็นชั้นฟิตเนส เราตั้งใจว่าเล็กๆ จะเอาตรงนั้นมาทำเป็นโปรดักชั่นเล็กๆ ผลิตคลิปวิดีโอมาเสริมข่าวบนออนไลน์ก่อน เนื่องจากตอนนั้นเทรนด์มัลติมีเดียเริ่มเข้ามา ผมเลยคิดว่าเว็บไซต์มันไม่ใช่มีแค่ภาพและตัวหนังสือ เราจะทำมัลติมีเดียทำวิดีโอเพิ่มเข้ามา ตอนแรกตั้งใจทำออนไลน์ให้มันยิ่งครบก่อน ต่อมาไอเดียนี้มันก็ถูกพัฒนามาเรื่อยๆ ขณะเตรียมการอยู่ พอดีช่วงนั้นกระแสทีวีดาวเทียมเริ่มบูม เราก็มาคิดกันว่าหรือเราจะทำทีวีดาวเทียมกันไหม ระหว่างนั้น กสทช.ก็ประกาศว่าจะมีการประมูลทีวีดิจิตอลเราก็เลยสนใจ เพราะถ้าไทยรัฐจะลงสนามทีวี เราต้องมาระดับฟอร์มใหญ่แล้วก็พัฒนามาจนถึงทุกวันนี้
เป็นจังหวะจะโคนที่เราคิดว่าใช่ เป็นโอกาส "ซึ่งมันจะมีโอกาสสักกี่ครั้งที่ภาครัฐจะเปิดโอกาสให้เอกชนเป็นวงกว้าง หรือเอกชนรายอื่นๆ เข้ามาทำช่องประมูลช่องทีวีดิจิตอล มันมีโอกาสไม่เยอะในประวัติศาสตร์ไทย" และนี่ก็เป็นโอกาสที่คนจะทำทีวีหรือคนที่ตั้งใจจะทำทีวีอยู่แล้วเป็นโอกาสทองที่พอดิบพอดี
Q: หลายคนถามว่ามันเร็วไปไหมกับการกระโดดไปทำในสิ่งที่เราไม่ถนัด?
ความจริงเราต้องบอกว่าเราใช้เวลาเรียนรู้และศึกษาตรงนี้มากว่า 2 ปีแล้ว หาข้อมูล เดินทางไปดูงานทั้งในและนอกประเทศ ค้นคว้าหาความรู้ให้ตัวเองก่อนว่า ทีวีมันมีอะไร ทำกันอย่างไร คิดวิเคราะห์ก็ต้องพยายามดู ศึกษาทุกทาง พยายามนั่งคิดกันหาแนวทางว่าเมื่อไทยรัฐจะมาทำ 'ทีวี' เราก็เป็นสื่อใหญ่ แต่เรียกว่าเป็นคนสุดท้ายที่มาสู่ในวงนี้ ซึ่งหนังสือพิมพ์หัวอื่นๆ เขาก็ได้ทดลองทำทีวีไปหมดแล้ว เราก็หัวใหญ่สุด แต่ว่าเป็นน้องสุดของทีวีเราก็เลยมานั่งถกคิดกันนานกว่าจะออกมา
Q : คุยกับใครครับ !
จริงๆ ส่วนใหญ่ก็คุยกันเอง เหมือนกับการแลกเปลี่ยนความคิดกับคุณนิค (จิตสุภา วัชรพล-น้องสาว) ซึ่งคุณนิคมาทำเต็มตัวตอนที่เราจะทำทีวีขึ้นมา แต่ก่อนหน้านี้เราก็คุยในครอบครัว จึงตัดสินใจแล้วก็ไปปรึกษาคุณยุ้ย (ยิ่งลักษณ์ วัชรพล-แม่) ว่ามันคงจะถึงเวลาที่เราจะต้องทำ เพราะสิ่งหนึ่งที่เราเห็นได้จากเป็นบทเรียนจากเมืองนอก...ความคิดคนไทยถือว่าโชคดีมีตัวอย่างจากต่างประเทศ เราจะเห็นแล้วว่าสื่อสิ่งพิมพ์ทุกวันนี้กำลังถดถอยลงไปเรื่อยๆ
...
"ถ้าเราไม่รีบทำอะไรตั้งแต่วันนี้มันก็มีจุดจบหนังสือพิมพ์ใหญ่ๆ ของเมืองนอก" ซึ่งอเมริกาโชคร้ายเขาปรับตัวไม่ทัน ส่วนหนึ่งเราก็มองเขาเป็นตัวอย่าง จึงเอาเป็นบทเรียนที่ดี แต่อย่างว่าเมืองนอกเขาก็ไม่ได้ปรับตัวไปทีวีหมดนะ เขาก็พยายามปรับตัวกับออนไลน์อยู่ด้วยซ้ำ แต่ว่าตรงนี้พอทุกอย่างมันพอเหมาะพอเจาะ กสทช.ก็เปิดโอกาสให้เรามาประมูลก็ลงมือทำ
แล้วก็ค่อยๆ สร้างทีมด้วยการพยายามจะหาบุคลากรที่มีความรู้ความสามารถด้านต่างๆ ในงานนั้นๆ หาคนที่มีประสบการณ์ในพื้นที่นั้นๆ ของทีวี ซึ่งมีหลายมาก เช่น ด้านเทคนิคเองก็สำคัญ ด้านข่าวสารคอนเทนต์อะไรก็สำคัญ พี่เบย์ (ธนา ทุมมานนท์ ผู้บริหารมากฝีมือจากไทยรัฐ) เองก็ยอมรับว่าเราไม่เคยมีความรู้ด้านบรอดแคสต์มาก่อน แต่โชคดีที่ว่าพี่เบย์มีความรู้ด้านไอทีค่อนข้างแข็งแรง แล้วโลกบรอดแคสต์ในปัจจุบันเราก็มาในช่วงที่เทคโนโลยีมันกำลังเปลี่ยนผ่าน
อธิบายง่ายๆ แต่ก่อนเหมือนบรอดแคสต์ที่เปลี่ยนจากอนาล็อกเป็นดิจิตอล แล้วจากดิจิตอลมาเป็น 'ไอพีเบส' อุตสาหกรรมบรอดแคสต์กำลังเปลี่ยนมาเป็นยุคไอพีเบส มันก็เลยทำให้เราพอจะมีพื้นฐานจากการทำเว็บไซต์ ซึ่งช่วยเราได้มาก แล้วเราก็ไปเรียนด้านไอทีบรอดแคสต์มันก็ทำให้ไปได้เร็วขึ้น ไปได้ง่ายขึ้นอีก
Q : หลังจากนั้นรู้ว่า เอาล่ะ ทำไทยรัฐทีวีแน่ๆ ขั้นตอนต่อมาทำอย่างไรต่อ?
บุคลากรของไทยรัฐคือมีประสบการณ์มาเยอะ แต่ว่าเราก็ต้องยอมรับว่าไม่มีใครมีโนฮาวน์ของทีวีเลย เราก็ต้องไปอาศัยประสบการณ์ของลุงๆ ป้าๆ พี่ๆ และก็หาคนที่จะเข้ามาช่วยเรา ถามว่าทำไมถึงเป็น พี่ซัน (ฉัตรชัย ตะวันธรงค์) ความจริงมันก็มีตัวเลือกอื่นๆ ที่เราจะเชื้อชวนมาเป็นผู้บุกเบิกในการทำไทยรัฐทีวีของเราแล้ว ก็แต่ละท่านก็มีโปรไฟล์ในประสบการณ์ในการทำทีวีมาหลายแบบ สิ่งหนึ่งที่ผมประทับใจกับโปรไฟล์พี่ซัน คือ พี่ซันเริ่มต้นอาชีพสายข่าวของเขา ด้วยการเป็นนักหนังสือพิมพ์ แล้วก็สิบกว่าปีที่ผ่านมาเขาก็ผันตัวทำทีวี เป็นรุ่นบุกเบิกที่ 'ไอทีวี' เราเห็นผลงานดีน่าสนใจ
...
"แต่โปรไฟล์หนึ่งที่ต้องยอมรับก็คือเขาเคยทำหนังสือพิมพ์มาก่อน ฉะนั้น เขาจะมีความเข้าใจเหมือนรากเหง้าที่เราเป็นมา ถ้าไปเอาคนทีวีเพียวๆ เขาจะไม่เข้าใจหนังสือพิมพ์ ไม่เข้าใจธรรมชาติของคนหนังสือพิมพ์หรือรากเหง้าของเรา"
Q : ช่วงแรกๆ ทีมงานแรกๆ ส่วนใหญ่มาจากที่ไหนบ้าง?
ส่วนใหญ่เป็นทีมจากสปริงนิวส์ของพี่ซัน ซึ่งตอนนั้นมาจนกระทั่งวันนี้เราทุกคนก็พยายามปรับกันอยู่เพื่อที่จะสร้างสไตล์ของไทยรัฐทีวีขึ้นมาเอง แล้วก็พยายามจะผนวกหรือเอา thinking ideas มาจากหนังสือพิมพ์ไทยรัฐด้วย นำมาปรับจูนให้เหมาะสมในแต่ละช่องทาง ฉะนั้น หากเท้าความไปว่าอย่างที่คุณก็รู้ว่าข่าวทั้งหมดทั้งออนไลน์ และหนังสือพิมพ์ข่าวในถังก้อนเดียวกันทั้งหมด อย่างหนังสือพิมพ์ก็เอาไปรีไรต์อีกอย่าง ออนไลน์ก็ต้องเอาไปรีไรต์ให้เป็นในส่วนของออนไลน์ให้กระชับอะไรก็ว่าไป ข่าวก้อนเดียวกันเราก็เอาไปใช้เอาไปปรุงแต่งให้มันเหมาะสมกับช่องทาง
ฉะนั้น ถึงแม้ว่าคนจะมาจากหลากหลายที่หลายทาง เขาอาจจะมีสไตล์ที่ติดมากับตัว แต่เราก็ต้องมาปรับจูนกับทุกคนหรือแนวทางของเราที่วางไว้ การที่จะเปลี่ยนคนมันเปลี่ยนยากแต่ละคนบางคนก็มีการคุ้นชินจะมาเปลี่ยนมันก็ต้องใช้เวลามันก็ไม่มีอะไรที่มันจะเปลี่ยนได้แค่ชั่วข้ามคืนแต่ว่าเราก็พยายามที่จะสร้างสไตล์ให้เป็นเอกลักษณ์เป็นสไตล์ไทยรัฐทีวี
...
เอาจริงๆ ผมเคยคิดถึงที่มาว่าแต่ก่อนคุณมาจากไหนคือวันนี้คุณมาเตะให้ทีมไทยรัฐแล้วคุณคือนักเตะของไทยรัฐ ก็เหมือนการซื้อนักเตะลิเวอร์พูลแต่เคยเป็นตัวเก่าของเชลซี วันนี้เขามาเตะให้ลิเวอร์พูลคุณก็คือลิเวอร์พูล ไม่ต้องไปคิดถึงอดีตมาก ถ้าไปคิดอย่างนั้นมันก็เป็นการแบ่งพรรคแบ่งพวก มันไม่ใช่ วันนี้เราคือทีมไทยรัฐทีวี จุดเริ่มต้นเป็นไงไม่รู้ แต่การที่จะสร้างวัฒนธรรมองค์กรที่เป็นหนึ่งเดียวมันต้องใช้เวลา
Q: และวันนี้ทีมไทยรัฐทีวีมาถึงจุดไหนจุดที่กลมกลืน กลมกล่อม หรือเป็นเนื้อเดียวกันหรือยัง?
ก็พยายามปลูกฝังจิตใต้สำนึกในระดับนี้เลยว่าทุกคนทำเพื่อไทยรัฐทีวีเลย ทุกคนทำเพื่อองค์กรของเราที่เราจะก้าวไปด้วยกันอย่าง เมื่อก่อนออนไลน์ สำนักข่าวนี้เยอะ อีกยุคก็ที่นี่เยอะ แต่ว่าทุกวันนี้สุดท้ายก็คือไทยรัฐออนไลน์เราก็คือทีมเดียวกันลืมไปแล้วว่าคุณเคยเตะอยู่สโมสรไหน แต่วันนี้คุณเตะอยู่ที่นี่ถ้าเราได้แชมป์ เราก็ได้แชมป์ในนามไทยรัฐทีวีด้วยกัน
Q : ส่วนใหญ่คนหน้าจอไทยรัฐทีวีใช้คนรุ่นใหม่ทั้งหมด?
ถ้าพูดถึงผู้ประกาศก็จะเรียกว่าหน้าใหม่หมดเลยก็ว่าได้ แต่อาจจะเป็นช่วงหลังๆ ที่เอาคนมีประสบการณ์มาจอยอย่างคุณมิลค์ เขมสรณ์ หนูขาว ผู้ประกาศข่าวจากช่อง 5 อย่างที่รู้ๆ กัน อุตสาหกรรมตอนนี้ทำให้มีช่องทีวีดิจิตอลและอื่นๆ เยอะมาก แต่บุคลากรที่มีประสบการณ์ยังเท่าเดิม ถามว่าเด็กที่จบใหม่ใครจะไปฝากความหวังได้ทั้งหมด เราต้องมีคนที่มีประสบการณ์คอยคุมแล้วเราก็เอาเด็กใหม่มาคอยเสริมได้ แต่ก็ต้องมีคนมีประสบการณ์คอยเป็นพี่เลี้ยงเป็นไกด์ ผู้ประกาศลอตแรกที่เราคัดมา ความจริงทุกคนอาจเคยมีประสบการณ์ผ่านหน้าจอมา แต่ก็อาจจะไม่ใช่ช่องใหญ่หรือเป็นที่รู้จักของคนในวงกว้าง แต่ว่าบางคนก็อาจมีประสบการณ์หลายอย่างอย่างมิ้นท์ (อรชพร ชลาดล) ก็เคยอ่านข่าวกีฬาช่อง 7 หรือ บางคนก็เคยอ่านข่าวช่องสยามกีฬา แต่ก็อาจจะไม่ได้เป็นที่รู้จักของคนในหมู่กว้าง
ที่สุดเราก็คัดลอตแรกมา 11-12 คนและก็มาเข้าคอร์สอบรมเทรนนิ่งให้เพื่อปลูกฝังและจัดสไตล์ให้เขาเป็นคนไทยรัฐและลืมอะไรเก่าๆ เรามาเริ่มต้นกันใหม่ พูดง่ายๆ ว่าเซตศูนย์กันใหม่ ซึ่งเราได้โค้ชอย่างพี่หนิง สายสวรรค์ ขยันยิ่ง แล้วพยายามใส่ความเป็นไทยรัฐเข้าไป ก่อนหน้าทางผู้บริหารกับทางพี่หนิงก็จะคุยกันก่อนว่าอยากให้ผู้ประกาศของไทยรัฐออกมายังไง 'สไตล์บุ๊กไกด์ไลน์' จะเป็นยังไงเราก็มาคุยๆ กันอยากได้แบบนี้ๆ เราก็จะช่วยให้ไกด์พาเขาเป็น อย่างมาชุดแรกก็โดนจับนั่งฝึกเป็นนักข่าวก่อนแล้วแต่ตามโต๊ะที่ตัวเองถนัด ซึ่งเราก็จัดคนลงไปและก็ได้เรียนรู้วิธีการทำงานตั้งแต่จุดเริ่มต้น ความเป็นนักข่าวจริงๆ
'เราไม่ต้องการคนที่มานั่งอ่านๆ เราต้องการผู้ประกาศที่เข้าใจประเด็นต่างๆ เข้าใจเนื้อข่าวอย่างถ่องแท้ คนไทยรัฐจะต้องมีกึ๋น อ่านข่าวแต่ไม่รู้ที่มาที่ไปของข่าว เรื่องราวนั้นๆ ไม่ได้' ดังนั้น คนไทยรัฐต้องเป็นคนที่ติดตามข่าวสาร คือต้องเป็นคนข่าว
Q : คนเป็นห่วงก็ถามว่าคนหน้าจอใหม่เกือบทั้งหมด แล้วจะเอาอะไรไปสู้กับซุปเปอร์สตาร์ช่องต่างๆ?
สโลแกนของช่องคือ 'คิดต่างอย่างเข้าใจ' มันเริ่มมาจากความเข้าใจก่อน ความเข้าใจ มันเริ่มมาจากไทยรัฐหนังสือพิมพ์ไทยรัฐอยู่คู่กับคนไทยมากว่า 60 ปี เราเชื่อมั่นว่าเรามีความเข้าใจผู้บริโภคผู้เสพข่าวสารประชาชนคนไทยว่าต้องการจะเสพอะไร อยากรู้อะไรเราก็จะเลือกนำเสนอข่าวนั้นๆ หรือข่าวที่มีผลกระทบต่อประชาชนในหมู่มาก แล้วเราก็มาตั้งคำถามว่า วงการทีวีจะต้องเป็นแบบเดิมๆ เสมอไปเหรอ เราก็เลยเอามารวมกันว่ามีความคิดต่างอย่างเข้าใจ เข้าใจในผู้บริโภคต้องการจะคิดต่างต้องการจะนำเสนออะไรใหม่ๆ ให้กับผู้ชมถึงแม้ว่าเราอาจจะไม่มีซุปเปอร์สตาร์ของเราเองแต่เราก็เชื่อมั่นในแนวทางที่เราจะไป เราก็ทำหน้าที่ของเราให้ดีที่สุด
"ผมเชื่อว่ามันไม่ใช่ซุปเปอร์สตาร์อย่างเดียวที่จะทำให้คนดู มันก็ยังมีเนื้อหาอื่นๆ อีก"
จริงๆ ย้อนไป ก่อนหน้านั้น เราจ้างบริษัททำรีเสิร์ชเกี่ยวกับแบรนด์ 'ไทยรัฐ' แบรนด์ไทยรัฐถูกโยงสิ่งแรกเมื่อคนได้ยินคำว่า 'ไทยรัฐ' สมองมันถูกโยงไปถึงหนังสือพิมพ์ และถูกโยงไปถึงคำว่า 'ข่าว' มาเป็นอันดับแรก ฉะนั้นตอนที่ประมูลทีวีดิจิตอล "คนที่ประมูลก็คงคิดว่าเราทำช่องข่าวแน่ๆ แต่เราคิดว่าถ้าเราทำประเภทข่าวเราไม่แตกต่างเราจะถูกจัดอยู่ในหมวดข่าวมันไม่เป็น Top player ถ้าคุณดูดีๆ เราจะเป็นเหมือนสายข่าวคนเดียวที่มีความเชี่ยวชาญในด้านข่าวที่อยู่ในช่อง HD นี่แหละแตกต่าง ที่เหลือใน HD เป็นวาไรตี้กันหมดเลยเหมือนอยู่คนละลีก พอมาเราก็ซัดเลย นี่คือจุดหนึ่งนี่เราตัดสินใจ"
Q : ตั้งเป้าไหมครับว่าลีกนี้ ไทยรัฐทีวีจะเป็นอันดับที่เท่าไหร่?
เราไม่เคยคิดว่าเราจะเป็นอันดับที่เท่าไร 'เป้าหมายเราแข่งกับตัวเองก่อนเลยอันดับแรก เพราะเราทำรีเสิร์ชมาอย่างที่บอก 'ไทยรัฐ' คือข่าว ฉะนั้นความท้าทายหลักของเราอย่างหนึ่งคือไทยรัฐต่อไปนี้ไม่ใช่แค่ข่าว ไม่ใช่แค่หนังสือพิมพ์ไทยรัฐเป็นสื่อที่ครอบคลุมทุกช่องทาง' เรามีหนังสือพิมพ์ มีไทยรัฐออนไลน์ที่แข็งแรง และเราก็จะมีทีวีไทยรัฐที่ไม่ใช่มีแต่ข่าว ทีวีไทยรัฐจะมีความบันเทิงให้คุณผู้ชมด้วย ทีวีไทยรัฐเราอยู่ในหมวดประเภทวาไรตี้ ซึ่งเราอาจจะมีข่าวสาระ 25% อีก 75% เป็นบันเทิงก็ได้ แต่เราก็ตั้งใจที่จะทำข่าวและสาระ 50% อีก 50% ก็เป็นบันเทิง
มีคนถามว่า อ้าว...แล้วแบบนี้ ทำไมจะต้องไปประมูลช่อง HD ให้แพง ถ้าเกิดจะทำข่าว 50% ทำไมไม่ประมูล หมวดข่าวไป ผมถึงบอกว่าเราจะไม่ได้เป็นสถานีข่าวแบบ HD เราก็จะทำข่าวแบบ HD มันก็มีความน่าตื่นเต้นมากขึ้น มีความน่าดึงดูด น่าสนใจให้กับผู้ชมมากขึ้น แล้วก็มันก็จะมีความยืดหยุ่นในการปรับตัว เช่น บางทีที่บอกว่า 50-50 ระหว่างข่าวกับวาไรตี้ แต่จริงๆ เราเห็นแล้วอาจจะเหลือประมาณ 55% เป็นวาไรตี้ 45% เป็นข่าว ตามสถานการณ์ได้ หรืออาจจะเป็นข่าวไปถึง 60% เลยก็ได้ หรืออาจจะเป็นบันเทิง 60% แต่ที่แน่ๆ เราไม่ทำผิดแน่นอน แต่การเลือกแบบนี้มันสามารถยืดหยุ่นได้ เราเอาสถานการณ์เป็นตัววัด"
Q : เฟสแรกตั้งใจว่าสาระและบันเทิงอย่างละ 50-50 บวกลบนิดหน่อยก่อน และจะออกอากาศ 24 ชม.
ใช่ครับ, ทางกสทช. กำหนดว่า 25% ต้องเป็นข่าวและสาระ รายการที่มีสาระคือไม่จะเป็นต้องเป็นการรายงานข่าวจ๋า..ข่าวที่เป็นสารคดีก็นับเป็นข่าวที่มีสาระได้ ส่วนรายการเราจะออกแบบเป็น 3 รูปแบบ โดยคอนเซปต์ที่คิดเอาไว้ 1.ต้องเป็นรายการสาระที่ไม่น่าเบื่อ 2.รายการต้องสนุกที่ไม่ใช่แค่บันเทิง 3.รายการไลฟ์สไตล์ที่จะกระตุ้นความคิด เราก็จะมีแนวทางของเราแล้ว
Q : ย้ำอีกที สัดส่วนข่าวที่บอก 50% บวกลบนิดหน่อย ทีมไทยรัฐทีวีจะผลิตเอง?
รายการข่าวเราเลือกที่เราจะผลิตเองทั้งหมด เราเลือกที่จะสร้างกอง บก.ขึ้นมา แล้วผลิตข่าวตัวเองทั้งหมดเพื่อควบคุมคุณภาพหรือแนวทางของข่าวให้เป็นแนวทางไกด์ไลน์ที่เราวางไว้ อย่างที่บอกไทยรัฐก็ลิงก์กับคำว่า 'ข่าว' มาก่อน เราก็จะพยายามตั้งใจทำข่าวเองทั้งหมด แต่ว่าในส่วนของวาไรตี้บันเทิงคือเราอาจจะไม่มีความเชี่ยวชาญมาก จึงต้องไปร่วมมือพันธมิตร ผู้ผลิตชั้นนำของประเทศไทย อาทิ โพลีพลัส อะเดย์ กันตนา เจเอสแอล ทีวีบูรพา ลักษ์ 666 เป็นต้น
Q : รายการต่างๆ ยกตัวอย่างมา ไทยรัฐทีวีขายเวลาให้ หรือ บริษัทเหล่านี้รับจ้างเราผลิต?
เราจ้างผลิตในช่วงแรกคือ บอกตรงๆ ผู้ผลิตในช่วงนี้ก็ระวังตัว ทุกคนก็ยังไม่รู้ว่าทีวีดิจิตอลจะเป็นอย่างไร
Q: ในทรรศนะคุณ คอนเทนต์ หรือ เทคนิคอลังการอะไรคือจุดขายของไทยรัฐทีวี?
ผมว่ามันต้องไปผสมผสานไปด้วยกันคือ 'ถ้ามีเทคนิคดีแต่คอนเทนต์ห่วยก็ไม่ได้ คอนเทนต์ดีแต่เทคนิคห่วยมันก็ไม่น่าดู' ซึ่งมันก็เป็นความท้าทายที่เราจะผสมผสานสองอย่างให้สมูธไปด้วยกันให้ดีที่สุด
Q : วันนี้สมูธ ลงตัวแบบที่ตั้งใจแล้วหรือยังครับ?
ถือว่าใช้ได้ในระดับหนึ่ง แต่เราตั้งใจว่าจะทำให้ดีกว่านี้แล้วมันต้องไปให้สุดกว่านี้ ซึ่งนี่เราก็พอใจในระดับหนึ่งได้มาตรฐานที่คนอื่นมีอยู่ แต่เราอยากทำให้มันสุดกว่านี้
Q : คุณเคยสัมภาษณ์ 6 ปีไทยรัฐทีวีจะคืนทุน?
ใช่ 7 ปี ปีแรกเราคาดหวังรายได้ที่ 500 ล้านบาท และก็คืนทุนประมาณภายใน 7 ปี
Q : ลงทุนทั้งโปรเจกต์นี้เท่าไหร่ครับ?
ทั้งโปรเจกต์ รวมทั้งไลเซ่นส์ กสทช. อยู่ที่ 6,000 ล้านบาทครับ ยังไม่รวมตึกทีวีที่จะสร้างในอนาคตครับ
Q : เป็นเงินระดมทุนของครอบครัว?
เรียกว่าเงินของไทยรัฐดีกว่า มีการกู้ธนาคารด้วยครึ่งต่อครึ่ง เพราะเวลาทำธุรกิจเราก็ต้องทำเรื่องกู้ แต่กู้ไม่ใช่เราไม่มีเงินนะครับ เพราะความจริงจะไปกู้เขาเท่าไร เราก็ต้องมีเงินเก็บพอสมควรด้วย
Q: หลังจากวันเปิดตัวไทยรัฐทีวีเมื่อวันที่ 24 จะมีอะไรเกิดขึ้น?
คิดว่าเราตัดสินใจว่าช่วงที่เขาถ่ายละครกัน เราเอารายการข่าวนิวส์โชว์ของเราสู้ ซึ่งเป็นรายการข่าวที่เราภูมิใจจะนำเสนอ เอามาชนกันในช่วงเวลาไพร์มไทม์เป็นผังที่คนมองว่าเสี่ยงอย่างนี้เลยเหรอ เอาอย่างนี้เลยเหรอ วัดอย่างนี้เลยเหรอ เอาเลยเราสู้
Q : เป็นการตัดสินใจของคุณวัชร?
คุณนิคเป็นคนคิด เราก็คุยกันหลายๆ ทาง ร่วมตัดสินใจกันหลายๆ คน คือหลายหัวมันดีกว่าหัวเดียว นิวส์โชว์ชนกับละคร นอกจากนี้ยังมีซุปเปอร์โปรแกรมซึ่งเป็นการรวบรวมผู้ผลิตชั้นนำแนวหน้าที่ดังๆ ใหญ่ๆ ของเมืองไทยและก็ให้เขาทำรายการเป็นรายการวาไรตี้หลากหลายรูปแบบ เช่น รายการหอยเจอลี่ ของเสนาหอย รายการ Nake And The City ทอล์กโชว์สไตล์น้าเน็กแบบที่ไม่เคยเห็นที่ไหน เกมทอล์คทะลุดาวของโพลีพลัส เป็นต้น เป็นสล็อตของวาไรตี้ก่อน
แต่สิ่งที่เราภูมิใจเสนออีกหนึ่งก็คือรายการสารคดีเชิงข่าว เราก็จะหยิบคลังข้อมูลข่าวที่น่าสนใจ คดีต่างๆ เหตุการณ์ต่างๆ ที่ไทยรัฐจับเอามาเป็นภาพเคลื่อนไหวนำมาเล่าเรื่องแบบใหม่ๆ เช่น เหตุการณ์ผับซานติก้าไฟไหม้มีคนตายมากมาย เราก็จะหาวิธีการเรียนรู้เอาตัวรอดจากเหตุการณ์นี้อย่างไร หรือถ้าคุณตกอยู่ในสถานการณ์สึนามิ โป๊ะล่ม เครื่องบินตกคุณจะทำอย่างไร เอาตัวรอดอย่างไร เราจะเอาข่าวที่มันเคยเป็นข่าวหน้าหนึ่ง และข่าวที่เตือนภัยสังคมมาเล่าเรื่องในแบบเราดูแล้วสนุกได้ประโยชน์
นอกจากนี้เกมโชว์โซเชียลคืออีกเป้าหมายที่เราต้องการนำไดเรกชั่นของไทยรัฐทีวีของคนรุ่นใหม่ ซึ่งไอเดียนี้เป็นต้องการผนวกออนไลน์กับทีวี หนังสือพิมพ์ไปด้วยกัน คือต่อจากนั้นเราก็จะทำแอพฯ ดูทีวีย้อนหลัง ให้ตรงกับความต้องการของคนไทย เวลาไม่ได้ดูละครไปดูยูทูบ ไปดูย้อนหลังได้ เราจะทำขึ้นมา ซึ่งเกมโชว์โซเชียลเราก็พยายามที่เราจะผลักดันให้ไปถึงก็คือเทรนด์ second screen (จอที่ 2) เช่น เวลาดูบอลลิเวอร์พูลยิงเข้า คนดูก็ทวีตเยาะเย้ยกัน หรือดูละครก็อยากจะเฟซบุ๊กหรือทวีตระบายอารมณ์เราก็พยายามจะทำตอบโจทย์ตรงนี้
Q : มีเสียงวิพากษ์วิจารณ์ว่าไทยรัฐทีวีเป็นช่องไฮโซ และไม่เกาะเกี่ยวกับรากหญ้าเหมือนหนังสือพิมพ์ ?
คิดว่าไม่ เพราะว่าเนื้อหาสาระที่นำเสนออะไรแบบนี้เรามีรายการหนึ่งที่เราลงไปช่วยคน อันนี้เป็นการต่อยอดหนังสือพิมพ์ชื่อ 'รถปลดทุกข์' ที่จะแล่นไปหาถึงพื้นที่เกิดเหตุ ซึ่งหนังสือพิมพ์ไทยรัฐก็จะมีห้องร้องทุกข์อยู่ก็จะมีคนมาขอความช่วยเหลือเยอะแยะ เราก็เอารายการนี้มาต่อยอดจากเรื่องร้องเรียนต่างๆ ที่ประชาชนเดือดร้อน ตามชนบทเราก็พยายามเข้าไปและแก้ปัญหา เช่น บ้านหนึ่งที่อยุธยาไม่มีไฟฟ้าใช้และก็ร้องเรียนเรื่องไปที่ตรงนู้นตรงนี้ก็ไม่มีใครแก้ให้ สุดท้ายเราก็ไปแก้ปัญหาให้
Q : พูดถูกไหมครับ รูปแบบ อาจดูดี แต่คอนเทนต์ยังยึดโยงกับคนลำบาก?
ใช่ มันเป็นสิ่งที่น่าดูทำให้ดูแล้วสบายหูสบายตา 'เราพยายามเอาสิ่งใหม่ๆ ให้คนไทยได้ดูแบบสบายหูสบายตา แต่เราทำสิ่งที่ดูและแบบใหม่ๆ และคนรากหญ้าจะต้องดูพลาสติกห่วยๆ เหรอ ก็ให้เขาดูของสวยๆ งามๆ ในราคาฟรีได้' ทำสิ่งดีๆ และฟรีให้คนรากหญ้าดูด้วย
Q: ในอนาคตไทยรัฐทีวีจะมีละครไหม?
มีแน่นอน แต่ยังพูดอะไรไม่ได้มากครับ เพราะมันเป็นเฟส 2 ผมย้ำอีกทีว่า เราไม่ใช่ช่องไฮโซ แม้จะเห็นลงทุนมาและทำทุกอย่างให้สวยงามเราทำสิ่งสวยงามให้คนรากหญ้าดูฟรีๆ เพื่อเปิดโลกทัศน์ใหม่อะไรใหม่ๆ ในการดูทีวี
Q : ต้องถามอีกว่า 'คิดต่างอย่างเข้าใจ' มาจากไหน?
ก็มาจากที่ไทยรัฐอยู่กับคนไทยมากว่านาน ไทยรัฐมีความเข้าใจกับผู้บริโภคต้องการผู้ที่ต้องการเสพสื่อข่าวสารว่ามันจะต้องการรับรู้ข่าวสารอะไรรับรู้อะไร และก็พยายามคิดต่างตั้งคำถามอะไรใหม่ๆ ให้กับวงการโทรทัศน์ไทยว่าทำไมมันต้องเป็นอะไรแบบเดิมๆ เราพยายามมาสร้างสิ่งใหม่ๆ ให้เป็นทางเลือกให้กับคนไทย ถ้ากลับไปคำที่คิดต่างไทยรัฐจะเหมือนอธิบายเรื่องยากให้เป็นเรื่องง่าย อย่างเช่นหน้าเศรษฐกิจของหนังสือพิมพ์ไทยรัฐ มันไม่ใช่หนังสือพิมพ์เศรษฐกิจที่มีตัวเลขศัพท์เทคนิคกันแบบยับ ชาวบ้านก็อ่านไม่รู้เรื่อง แต่เราก็เอามาแปลสารให้ย่อยให้เขาเข้าใจมันก็เลยนำพามาสู่เทคโนโลยีกับกราฟิกเพราะเราจะใช้กราฟิกอธิบายให้เห็นภาพให้ชัดขึ้น
Q: วันข้างหน้ามีสิทธิ์เปลี่ยนไหมสโลแกนนี้?
ตอนนี้เราก็จะพยายามทำตามแนวทางที่เราตั้งใจว่าให้มันเป็นไปตามสโลแกนนี้ ปลูกฝังให้ทุกคนเวลาคิดงานให้มันมีความคิดต่างคือคุณต้องตั้งคำถามต้องใส่ใจจะสั่งมากสั่งน้อยนั่นคืออีกเรื่องหนึ่ง คิดต่างไม่เท่าไรหรอกยอมรับแต่ให้ใส่ความคิดลงไปใส่ความพยายามลงไป เราก็จะเห็นคนดูก็จะเห็นว่ามีความพยายามอยู่ในนั้น
Q : โลโก้ไทยรัฐทีวีหมายถึงอะไรครับ?
เรามีบริษัทที่เขาทำแบรนด์ดิ้งให้กับเรา และก็ปรึกษากันมันมาจากการที่เขาเซอร์เวย์ว่าไทยรัฐคืออะไรมันหาคือได้แก่นของแบรนด์ไทยรัฐก็คือกระบอกเสียงให้ประชาชนเป็นอะไรต่าง เป็นพลังของการเข้าถึง ไทยรัฐทีวีคือการเริ่มมาจาก 'ปริซึม' เหมือนเสียงและแสงที่ส่องมาแล้วกระจายเป็นเจ็ดสีอะไรแบบนี้ รูปลักษณ์ออกมาก็เหมือนตู้ทีวีเราก็เอามาดัดให้มันทันสมัยมากขึ้น เพราะว่าตอนนี้มันค่อนข้างเก่าไม่ร่วมสมัยเท่าไร โลโก้ไทยรัฐนี้ก็จะอยู่กับเราตลอดไป
Q: หนังสือพิมพ์ไทยรัฐจะมีส่วนช่วยไทยรัฐทีวีหรือเปล่าครับ?
มีครับ คือภายใต้ไทยรัฐเราต้องช่วยเหลือกันเราต้องผสมผสานกันให้ได้เราไม่คิดว่าสื่อไหนจะมาฆ่าสื่อไหนเราสร้างสื่อใหม่ขึ้นมาให้มันครบเราถึงมีสโลแกนว่า เช้าอ่านไทยรัฐ เย็นดูไทยรัฐทีวี แต่มันตกไปนิดหนึ่ง "เช้าอ่านไทยรัฐ กลางวันอ่านไทยรัฐออนไลน์ เย็นดูไทยรัฐทีวี และอยู่ข้างนอกก็อ่านไทยรัฐโมบายล์ แต่เนื่องจากมันยาวไปก็ต้องตัดออกเพื่อความเหมาะสม
Q : หลายคนสงสัยว่า รูปแบบของไทยรัฐทีวีจะเน้นข่าวการเมืองไหม?
ไม่ใช่, แนวทางการนำเสนอข่าวไทยรัฐทีวีก็ยังเป็นเหมือนหนังสือพิมพ์ไทยรัฐหรือเว็บไซต์ไทยรัฐที่ครอบคลุมทุกหมวดข่าว ที่ประชาชนให้ความสนใจหรือเป็นข่าวที่มีผลกระทบต่อสังคม มันก็มีครบทุกอย่าง ทั้งดารา เศรษฐกิจ สังคม การเมือง อาชญากรรม
Q : ปัจจัยที่ทำให้ไทยรัฐทีวีประสบผลสำเร็จอย่างที่ตั้งความหวังไว้คืออะไร ?
คือต้องยอมรับว่ามันคือสิ่งใหม่ของเรา ถ้าเราจะผิดพลาดหรือไม่ประสบความสำเร็จ คือ เราจับทางคนดูไม่ได้ เพราะสุดท้ายหัวใจของการทำทีวี การทำสื่อทุกประเภท สื่อทุกอย่างมันอยู่ที่ว่าเรามี คนดู คนอ่าน มากน้อยเท่าไร หนังสือพิมพ์จับจุดคนอ่านถูก ออนไลน์ก็จับจุดคนอ่านบนอินเทอร์เน็ตถูก
ถ้าไทยรัฐทีวีจะผิดพลาดก็เพราะว่าเราจับจุดคนดูไม่ได้ เราจับใจคนดูไม่ได้เราก็จะมีคนดูน้อย เรตติ้งเราก็จะต่ำ พอเรตติ้งต่ำ โฆษณาก็ไม่เข้า แต่เราก็จะซวย (หัวเราะ) เพราะฉะนั้นเราต้องจับใจคนดูให้อยู่ ก็อย่างที่หนังสือพิมพ์ทำกับที่ออนไลน์ทำ หนังสือพิมพ์ก็รู้ว่าจับกลุ่มนี้ ออนไลน์ก็จะรู้ว่าเราจับกลุ่มนี้
Q:ไทยรัฐทีวีจับคนดูกลุ่มไหน ?
ความจริงแล้วเราอยากให้ทีวีประสบความสำเร็จเหมือนหนังสือพิมพ์ โดยการที่อ่านได้ทุกชนชั้น ตั้งแต่ภารโรงจนถึงนายกรัฐมนตรี ก็อยากให้ไทยรัฐทีวีเหมือนกัน แต่ช่วงแรกเราจะโฟกัสไปที่คนอายุ 25-45 ปี เป็นคนวัยทำงาน หลังจากนั้นค่อยขยายไป
Q : อีกกี่ปีจะติด 1 ใน 5 ของช่องที่คนต้องดู ?
หวังว่า คือ มันจะมีช่องที่เป็นท็อปไฟว์ ไม่เกิน 5 ช่องที่คนจำได้ แต่เราก็หวังว่าเราจะอยู่ในกลุ่มตรงนี้ เราต้องให้เวลาตัวเองที่เราจะเข้าไปอยู่ตรงนี้ ก็น่าจะภายใน 3 ปี แต่ความจริงก็ยังมีเวลาอีกเพราะมันเป็นเกมยาวอย่างที่บอก ถ้าติดลมบนช้ามันก็มาช้า
Q : ขอถามเรื่องไทยรัฐออนไลน์เกิดอะไรขึ้นทำไมเปลี่ยนโฉมใหม่ เป็นความตั้งใจให้สอดคล้องกับไทยรัฐทีวี ?
ใช่ครับ 4-5 ปี เราเปลี่ยนโฉมเว็บไซต์หนึ่งครั้ง ผมว่ามันเป็นวัฏจักรที่ดี คือทุกอย่างควรมีการปรับเปลี่ยนให้มันทันสมัยขึ้นให้มันตอบโจทย์ได้ ซึ่งอีกหน่อยใช้ไปก็คงคุ้นชินและเป็นธรรมชาติ ความจริงบางทีก็ไม่ได้อะไร ข่าวอื่นๆ มันก็หน้าอยู่ตรงนี้ แต่คนไม่ชินที่อยู่และการเข้าใช้แค่นั้นเอง
Q : สิ่งที่ใหม่ก็คือเทคโนโลยีแต่การจัดหน้าตา และการดีไซน์?
ดีไซน์เราจะพยายามคิด ดีไซเนอร์บริษัทเดิมที่ดีไซน์เว็บไซต์ไทยรัฐตั้งแต่เริ่มต้น โดยภาพจะใหญ่ขึ้น คนดูเต็มอิ่มกับภาพมากขึ้น และก็การเปลี่ยนอะไรอย่างนี้ เป็น responsive design เป็นการปรับอะไรให้เหมาะสมมากขึ้นตามอุปกรณ์ที่ใช้เข้าไปชม เพราะปัจจุบันหน้าจอโทรศัพท์ออกมาหลากหลายมาก นอกจากนี้ยังมี ไอแพดใหญ่ ไอแพดมินิ ซัมซุง กาแล็คซี่ และอะไรมากมาย เป็นเทคโนโลยีใหม่ เรียกว่าเปิดในไอแพด มือถือ หรือคอมพิวเตอร์ก็สวย
ที่สำคัญ เราเล็งเห็นปัญหาจากเว็บเก่า เนื่องจากเรามีข่าวใหม่เยอะมาก ซึ่งถ้าไม่ได้ดูแป๊บเดียวข่าวนี้ก็ไหลไปอยู่หน้าไหนไม่รู้ การเปิดช่อง MUST READ หรือ บก.แนะนำนอกจากหน้า 1 แล้วเราก็ยังทำไว้ทุกหน้า เอาไว้ให้ค้างข่าวที่น่าสนใจให้คนอ่านหาได้ง่ายขึ้น นอกจาก บก.แนะนำแล้วการจัดหมู่ของข่าวยังเป็นระเบียบมากขึ้น เพื่อการค้นหาในอนาคต และการรองรับมัลติมีเดียที่จะเกิดขึ้นจากทีวี ซึ่งจะมีหน้ามัลติมีเดียที่ยังไม่เกิด ตอนนี้ยอดตกไปนิดหน่อย แต่คิดว่าเพราะคนยังไม่คุ้นชินเหมือนกับตอนที่เปลี่ยนเว็บคราวที่แล้วเลย ยอดไม่ได้ตกซะจนต้องกังวลอะไร เพราะเชื่อว่ายังไงก็กลับมา ยังไงมันเป็นความคุ้นชิน หมวดก็อยู่ข้างบนเหมือนเดิม
อนาคตของไทยรัฐออนไลน์หลังจากนี้ อย่างที่ผมบอก เราให้ความสำคัญกับสื่อทุกช่องทางเท่าเทียมกันหมด ทิศทางออนไลน์เป็นยังไงก็อีกหน่อยพอมีทีวีมาเสริมออนไลน์ก็จะมีมัลติมีเดียเพิ่มให้ออนไลน์ด้วยมากขึ้น เช่น คลิปก็จะไปฝังในข่าวได้ ออนไลน์ก็ยังไม่ได้หยุดเฉพาะออนไลน์ เพราะนอกจากเว็บเองเราก็รุกไปทางโซเชียลมีเดียด้วย ไอจีก็ประสบความสำเร็จ เพราะการที่เราลงไอจีเราไม่ได้ทำแบบที่คนอื่นทำ เราตั้งใจดีไซน์ขึ้นมาใหม่ทำรูปขึ้นมาใหม่เล่นกับสถานการณ์วางตัวอักษรให้เป็นเพื่อไอจีโดยเฉพาะที่เราตั้งใจออนไลน์มันก็ควบคุมไปทุกอย่าง
จริงๆ สโลแกน เช้าอ่านไทยรัฐ เย็นดูไทยรัฐทีวีเต็มๆ รูปแบบว่า เช้าอ่านไทยรัฐ กลางวันอ่านไทยรัฐออนไลน์ เย็นดูไทยรัฐทีวี และอยู่ข้างนอกก็อ่านไทยรัฐโมบาย
Q : มีคนบอกว่าอุปนิสัยคุณวัชร เหมือนกับป๊ะกำพล วัชรพล ผู้ก่อตั้งหนังสือพิมพ์ไทยรัฐรู้สึกอย่างไร?'
คุณตาเป็นไอดอลของผม เราก็หวังว่าอย่างน้อยๆ เราทำดีแค่ครึ่งหนึ่งของท่านก็เจ๋งแล้วครับ แล้วสิ่งที่ผมอยากจะบอกก็คือ 'ไทยรัฐทีวีไม่เคยคิดว่าใครคือคู่แข่ง หรือศัตรูในวงการนี้ ปรัชญาอันหนึ่งของ ผอ.กำพล วัชรพล เราไม่คิดว่าใครคือคู่แข่ง เราไม่มีศัตรู เรามีแต่เพื่อนและพร้อมจะเป็นเพื่อนกับทุกคน เราไม่เคยคิดต้องล็อกช่อง ล็อกค่าย ผมว่าค่อนข้างโบราณ ก็เหมือนหนังสือพิมพ์ไทยรัฐที่มีแต่เพื่อนทั้งนั้น'
Q : ไทยรัฐทีวี จะเข้าตลาดหุ้นไหม...?
ไม่ครับ นี่คือสิ่งเดียวที่คุณแม่ (คุณยิ่งลักษณ์ วัชรพล) ผมขอเอาไว้ ไม่ว่าจะอย่างไรไทยรัฐจะไม่เข้าตลาดหุ้นครับ เพราะการเข้าตลาดหุ้นมันจะทำให้เราเสียตัวตน
Q : สุดท้าย อยากให้คุณวัชร ฝากอะไรถึงคนที่จะดูไทยรัฐทีวีหน่อยครับ?
ห้ามเปลี่ยนช่องครับ (หัวเราะ) ก็อยากฝากว่า ขอให้ไทยรัฐทีวีเข้าไปอยู่ในใจน้อยๆ ของทุกคน รักเราน้อยๆ แต่ขอให้รักกันนานๆ นะครับ เราก็หวังว่าไทยรัฐทีวีจะเป็นทางเลือกใหม่ให้คนที่อยากดูทีวีและชอบเสพสื่อทีวีจะเป็นทางเลือกที่ให้ทั้งข่าวสารและสาระบันเทิง ยินดีต้อนรับคำติชมทุกอย่าง และไทยรัฐทีวีจะไม่หยุดพัฒนาเพื่อให้ครองใจทุกคนให้มากที่สุด
นอกจากนี้สิ่งที่ผมอยากจะบอกก็คือไทยรัฐทีวี เกิดขึ้นได้ ไม่ใช่เพราะผมคนเดียว แต่เพราะเรามีทีมงานที่ดี แน่นอนว่า ผมไม่สามารถทำทุกอย่างได้ด้วยตัวผมคนเดียว ทั้งพี่ๆ น้องๆ และพนักงานทุกคนก็เป็นส่วนสำคัญในการทำให้สถานีไทยรัฐทีวีเกิดขึ้นมาได้ในที่สุด.