คำกล่าวในทำนองว่า “ไม่ยึด ติดกับตำแหน่ง” หรือ “พร้อมที่จะเสียสละ” กลับมาเป็นพาดหัวข่าวหนังสือพิมพ์อีกครั้ง เมื่อ น.ส.ยิ่งลักษณ์ ชินวัตร รักษาการนายกรัฐมนตรี ให้สัมภาษณ์ว่าไม่ยึดติดตำแหน่ง อยากเห็นบ้านเมืองสงบ ทุกคนรักษากติกา และสร้างความเชื่อมั่นให้ประเทศ ขอให้เป็นความต้องการของประชาชนส่วนใหญ่ ประเทศ สงบได้เรายินดี

ก่อนหน้านี้วันเดียว อดีตนายก รัฐมนตรีทักษิณ ชินวัตร พูดผ่านทางที่ปรึกษา ฝ่ายกฎหมายผู้ใกล้ชิด พร้อมจะให้ตระกูลชินวัตร “เสียสละ” ยุติบทบาททางการเมือง เพื่อให้ประเทศเดินหน้า แต่ฝ่ายตรงกันข้ามต้องเคารพกติกาและกฎหมาย และมีเสียงวิจารณ์จาก น.ส.มัลลิกา บุญมีตระกูล รอง โฆษกพรรคประชาธิปัตย์ ว่าพูดมาตั้งแต่ปี 2551 ร่วม 7 ครั้งแล้ว

แต่ไม่ทำจริงสักที จึงกลายเป็น วาทกรรมที่ว่างเปล่า ขาดความเชื่อถือ เป็นเพียงการสร้างภาพให้ดูดี เป็นผู้นำที่เสียสละ ไม่ติดยึดอำนาจ แต่มี “แต่...” เงื่อนไขต่างๆ เช่นจะต้องได้รับความยุติธรรม นายกรัฐมนตรีพูดบ่อยครั้งว่า ไม่ยึดติดตำแหน่ง “แต่” อ้างว่าถูกรัฐธรรมนูญบังคับให้อยู่ต่อไปจนกว่าจะมีรัฐบาลใหม่

เงื่อนไขการวางมือทางการเมือง ที่ชอบอ้างเป็นประจำคือไม่ได้รับ “ความยุติธรรม” ตามหลักการประชาธิปไตย อะไรยุติธรรมจะต้องให้ศาลเป็นผู้ชี้ขาด แต่กลับไม่ยอมรับคำพิพากษาศาลฎีกา ที่ตัดสินคดีการซื้อที่ดินย่านรัชดาภิเษก และคดียึดทรัพย์ ทั้งๆที่เป็นศาลยุติธรรมสูงสุด ไม่ใช่ศาลที่มาจากคณะรัฐประหาร อย่างที่ชอบกล่าวอ้าง

ส่วนคำว่า “เสียสละ” ผบ.ทบ.เพิ่ง จะขอร้องให้ทุกฝ่าย “เสียสละ” เมื่อไม่นานมานี่เอง และมีคำถามตามมาว่า “ใครจะเสียสละ?” แต่ยังไม่มีคำตอบจากนักการเมือง ผู้อ้างว่ารักชาติ และอาสาเข้ามารับใช้ประชาชน ไม่ต้องเสียสละอันยิ่งใหญ่ แค่ลาออกเพื่อแสดงความรับผิดชอบต่อความเสียหาย นักการเมืองไทยก็ไม่เคยทำ

...

ผลของสวนดุสิตโพลที่สำรวจความเห็นคนไทยทั่วประเทศ เมื่อไม่กี่วันที่ผ่านมา กลุ่มตัวอย่าง 80% เห็นว่าความวุ่นวายทางการเมืองถึงขั้นวิกฤติ ขอร้องให้คู่ขัดแย้งเจรจา และให้ถอยคนละก้าว เมื่อถามว่าทำไมวิกฤติการเมืองคราวนี้จึงยุติยากนัก? คนส่วนใหญ่ตอบว่า เพราะไม่มีใครยอมใคร เห็นแก่ตัว เห็นแก่อำนาจและพวกพ้อง

จากประวัติศาสตร์การเมืองไทยที่ผ่านมา หาผู้ที่เสียสละเพื่อประเทศจริงๆ ได้ยาก นักการเมืองชอบอ้างตัวเป็นนักปฏิรูปสารพัด ปฏิรูปทั้งประเทศ การเมือง ข้าราชการ หรือสังคม แต่ไม่ยอมปฏิรูปตัวเอง เพื่อให้เป็นผู้ที่ยึดถือประโยชน์ของประเทศเป็นใหญ่ ส่วนประโยชน์ตนและพรรคพวกเป็นรอง จนต้องมีต่างชาติมาสั่งสอนให้ยึดประเทศชาติเป็นหลักใหญ่.