‘ครูน้องชาย’ก็เข้าสอบ กพฐ.จ่อตั้งกก.สืบสวน ‘จาตุรนต์’ลุยสนามคุม! ผวาซ้ำรอยทุจริตปีก่อน
สอบครูผู้ช่วยประจำปี 57 ทั่วประเทศวันแรก ฉลุย ยอดสมัครทะลุแสนขณะที่มีอัตราว่างเพียง 1,888 ตำแหน่ง สัดส่วนการแข่งขันสูง 1:55 แต่พบผิดสังเกตผอ.โรงเรียน-ครู จากบุรีรัมย์ หนำซ้ำเป็นพี่น้องกันมาเข้าสอบด้วย โดยเลขาฯ กพฐ.ส่งผู้บริหาร พร้อมตำรวจบุกสนามสอบจับตาสกัดกระบวนการทุจริต ชี้เบรกเข้าสอบไม่ได้เพราะกฎหมายไม่ได้ห้าม แต่เตรียมตั้งกรรมการสืบข้อเท็จจริงให้ดูที่เจตนา หากพบตุกติกสั่งฟันวินัยร้ายแรงทันทีแถมพ่วงอาญาอีกกระทง
ตามที่สำนักงานคณะกรรมการการศึกษาขั้นพื้นฐาน (สพฐ.) ร่วมกับสำนักงานคณะกรรมการข้าราชการครูและบุคลากรทางการศึกษา (ก.ค.ศ.) เปิดสอบแข่งขันเพื่อบรรจุและแต่งตั้งบุคคลเข้ารับราชการเป็นข้าราชการครูและบุคลากรทางการศึกษา ตำแหน่งครูผู้ช่วยทั่วไป ครั้งที่ 1 ประจำปี 2557 ใน 89 เขตพื้นที่การศึกษาและ 1 สำนักบริหารงานการศึกษาพิเศษ มีอัตราว่างที่บรรจุได้ 1,888 อัตรา โดยกำหนดสอบภาค ก ซึ่งเป็นความรู้ความสามารถทั่วไป ในวันที่ 19 เม.ย. และภาค ข ความรู้ ความสามารถเฉพาะตำแหน่ง ในวันที่ 20 เม.ย. นั้น
เมื่อเวลา 08.00 น. วันที่ 19 เม.ย.ซึ่งเป็นวันแรกของการสอบบรรจุครูพร้อมกันทั่วประเทศ ใน 90 สนามสอบ นายจาตุรนต์ ฉายแสง รมว.ศึกษาธิการ นายอภิชาติ จีระวุฒิ เลขาธิการคณะกรรมการการศึกษาขั้นพื้นฐาน (กพฐ.) นางศิริพร กิจเกื้อกูล เลขาธิการ ก.ค.ศ.เดินทางไปตรวจเยี่ยมสนามสอบที่โรงเรียนหอวัง ซึ่งเป็นหน่วยสอบของสำนักงานเขตพื้นที่การศึกษามัธยมศึกษา (สพม.) เขต 2 กรุงเทพมหานคร โดยนายจาตุรนต์กล่าวว่า การสอบบรรจุครูผู้ช่วยในครั้งนี้ได้กระจายอำนาจให้เขตพื้นที่การศึกษาดำเนินการสอบเอง แทนการจัดสอบโดยส่วนกลางเหมือนที่ผ่านมา หากเกิดปัญหาขึ้นก็จะเป็นเฉพาะรายเขตพื้นที่ไม่กระทบในวงกว้าง อย่างไรก็ตาม สพฐ.ตื่นตัวและมีการสรุปบทเรียนการทุจริตสอบครูผู้ช่วยที่เกิดขึ้นเพื่อหาทางป้องกัน จึงเชื่อว่าการสอบครั้งนี้น่าจะบรรลุผลสามารถคัดคนดีมีความรู้มาเป็นครู และจากตัวเลขผู้สมัครเห็นว่ามีคนสมัครสอบจำนวนมาก แม้จะบรรจุไปแล้วก็ยังเหลืออีกเป็นแสนคน ในขณะเดียวกันพบว่ามีการผลิตครูเกินความต้องการปีละ 30,000 คน ดังนั้น หลังประกาศผลสอบเสร็จสิ้นจะให้ สพฐ.วิเคราะห์ข้อมูล เพื่อวางแผนการผลิตครูให้สอดคล้องกับความต้องการ
...
ด้านนางศิริพรกล่าวว่า การสอบในครั้งนี้เปิดสอบ 40 สาขาวิชา ในอัตราว่างบรรจุ 1,888 อัตรา ซึ่งมีผู้มาสมัครสอบทั้งสิ้น 104,545 คน ทำให้สัดส่วนการแข่งขันสูงถึง 1 : 55 เขตที่มีผู้สมัครสอบมากที่สุดคือ สพม.เขต 6 จ.ฉะเชิงเทราและสมุทรปราการ 5,617 คน รองลงมา สำนักงานเขตพื้นที่การศึกษาประถมศึกษา (สพป.) บึงกาฬ 4,759 คน สพป. ปัตตานี เขต 2 จำนวน 3,653 คน สพป. นครราชสีมา เขต 6 จำนวน 3,633 คน สพม.32 จ.บุรีรัมย์ 2,975 คน สพป.นราธิวาส เขต 1 จำนวน 2,934 คน ส่วนสาขาวิชาที่มีผู้สมัคร 5 อันดับแรกได้แก่ คอมพิวเตอร์ ปฐมวัย/อนุบาลศึกษา สังคมศึกษา ภาษาอังกฤษ และวิทยาศาสตร์
ขณะที่นายอภิชาติกล่าวว่า เนื่องจากการสอบบรรจุครูผู้ช่วยที่ผ่านมามีการทุจริตสร้างความเสื่อมเสียให้กับวงการครู สพฐ.จึงสั่งให้คุมเข้มการสอบครั้งนี้เป็นพิเศษ โดยมีการติดตั้งเครื่องสแกน กล้องวงจรปิด และในเขตพื้นที่ที่มีผู้สมัครสอบเกินกว่า 2,000 คนขึ้นไปมีการติดตั้งเครื่องตัดสัญญาณโทรศัพท์ เพื่อป้องกันการทุจริต นอกจากนี้ทราบว่าในการสอบครั้งนี้มีครูตั้งตนเป็นศาสดาเปิดสอนติว และเก็บเงินหลายพันถึงหมื่นบาท จึงสั่งให้เขตพื้นที่เรียกครูเหล่านี้มาคุย เพราะทราบว่าหลายพื้นที่มีการให้ความหวังกับผู้เข้าสอบ และมีการเรียกเก็บเงินล่วงหน้าเป็นตัวเลขถึง 6 หลัก โดยบอกว่าถ้าสอบไม่ได้ยินดีคืนเงินให้ ซึ่งเป็นพฤติกรรมตกเบ็ดอย่างชัดเจน จึงขอให้ผู้ที่ตกเป็นเหยื่อไปเรียกเงินคืน และหากพบเห็นพฤติกรรมดังกล่าวให้แจ้งมา สพฐ.จะเอาจริงกับการขจัดเหลือบในวงการครู
เลขาธิการ กพฐ. กล่าวอีกว่า นอกจากนี้ ยังได้รับรายงานว่าการสอบครั้งนี้มีเรื่องที่ผิดสังเกต คือมีผู้อำนวยการโรงเรียน ซึ่งมีวิทยฐานะชำนาญการพิเศษ หรือเทียบเท่าระดับ 8 มาสมัครสอบ โดยมีชื่อสมัครสอบซ้ำ 2 เขตในภาคกลางใกล้กับ กทม. นอกจากนี้ยังมีผู้ที่เป็นครูอยู่แล้วอีก 2 รายมาสอบด้วย ซึ่งได้สั่งให้กรรมการคุมสอบจับตาดูกล้องวงจรปิดอย่างใกล้ชิด พร้อมส่งผู้บริหาร สพฐ. และตำรวจไปตรวจสอบอย่างละเอียดว่ามาเข้าสอบแทนใครหรือไม่ หากพบว่ามีพฤติกรรมที่ส่อไปในทางทุจริตก็จะสั่งตั้งคณะกรรมการสอบสวนทางวินัยอย่างร้ายแรงทันที และยังมีความผิดทางอาญาด้วย แต่ถ้าเป็นการสอบไปเฉยๆ ไม่มีอะไรตุกติกก็คงต้องตั้งกรรมการสืบข้อเท็จจริง ว่ามีเหตุผลและความจำเป็นอะไรที่มาสมัครสอบในครั้งนี้ ส่วนเหตุผลที่ไม่สั่งระงับการเข้าสอบตั้งแต่แรก เนื่องจากกฎหมายไม่มีข้อห้ามเอาไว้ เรื่องนี้คงต้องดูที่เจตนา
จากนั้น ในช่วงเย็น นายอภิชาติ ให้สัมภาษณ์สรุปภาพรวมการสอบเป็นไปด้วยความเรียบร้อย มีผู้ขาดสอบทั่วประเทศ ประมาณ 10,000 คน คิดเป็นร้อยละ 10 ซึ่งสาเหตุที่ขาดสอบเนื่องจากส่วนใหญ่สมัครสอบหลายที่ ส่วนกรณีที่มี ผอ.โรงเรียนเข้าสอบ ในเบื้องต้นได้รับการยืนยันว่ามาเข้าสอบแต่ยังไม่มีรายงานว่ามีพฤติกรรมส่อไปในทางทุจริตหรือไม่ อย่างไรก็ตาม คงต้องรอดูว่าจะมาสอบ ภาค ข หรือไม่ โดยทางเขตพื้นที่ฯ คงจะสรุปและรายงานมาให้ตนทราบอีกครั้ง ในวันที่ 20 เม.ย.นี้
ส่วน ผอ.โรงเรียนที่เข้าสอบด้วยนั้น หลังจากที่นายอภิชาติส่งทีมตรวจสอบชื่อว่า นายพิทักษ์ ศุภเลิศ ผอ.โรงเรียนบ้านหนองไทร ต.ลุมปุ๊ก อ.เมืองบุรีรัมย์ สังกัด สพป.บุรีรัมย์ เขต 1 แต่เข้ามาสอบที่สนามสอบ สพป.สมุทรสาคร และเป็นที่น่าสังเกตว่าในสนามสอบดังกล่าวมีคนต่างพื้นที่ โดยเฉพาะจากบุรีรัมย์มาสมัครสอบพร้อมกับนายพิทักษ์ถึง 9 คน นอกจากนี้ ครู 2 ราย ที่มาสอบด้วยนั้น หนึ่งในสองที่เข้าสอบคือ นายชุมพล ศุภเลิศ ครูโรงเรียนเมืองแฝกพิทยาคม สพป.บุรีรัมย์ เขต 1 ซึ่งเป็นน้องชายของนายพิทักษ์ เข้าสอบที่สนามสอบนนทบุรี