"จตุพร" ลั่น ไม่หวั่นคุก หากศาลอาญาถอนประกัน ปัดตอบเข้าเดินทางไป 18 เม.ย.หรือไม่-รอฟังแถลงการณ์ ยันแม้อยู่ในคุก สั่งระดมพลเคลื่อนไหวได้...

วันที่ 16 เม.ย. นายจตุพร พรหมพันธุ์ ประธาน นปช. ระบุว่า แกนนำ นปช.ทุกคนจะไม่ไปไหนทั้งหมดในช่วงนี้ ทุกคนต้องเตรียมแผนการต่อสู้ครั้งสุดท้าย แบบโอเพ่นเดย์ คือ ทุกคนสามารถทำอะไรได้ทำ เพื่อแสดงสัญลักษณ์ต่อต้านกระบวนการยุติธรรมล้มเหลว จนทำให้บ้านเมืองไม่มีขื่อไม่มีแป

ทั้งนี้ แกนนำ นปช.จะร่วมกันแถลงท่าทีชัดเจนต่อกรณีศาลอาญา รัชดาภิเษก ที่ออกหมายเรียกตนและนายณัฐวุฒิ ใสยเกื้อ รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงพาณิชย์ ไปไต่สวนที่ศาลในวันที่ 18 เม.ย.นี้ เพื่อพิจารณาถอนประกัน ข้อหากระทำการปราศรัยยั่วยุในการชุมนุม นปช. เมื่อวันที่ 23 ก.พ. จงใจละเมิดคดีก่อการร้าย และแนวทางการต่อสู้กับระบบอำมาตยาธิปไตย วันพรุ่งนี้ 17 เม.ย. ที่ห้างอิมพีเรียล ลาดพร้าว เวลา 13.00 น. และจะมีการหารือกับแกนนำ นชป.แต่ละจังหวัด เพื่อนัดแนะวัน เวลาที่จะเดินทางเข้ามาชุมนุมระดมพลัง โดยจะมีมวลชนมากกว่าทุกครั้ง

นายจตุพร กล่าวต่อว่า ส่วนวันที่ 18 เม.ย.นี้ ตนกับณัฐวุฒิจะไปศาลหรือไม่ยังตอบไม่ได้ ให้รอฟังรายละเอียด จะออกเป็นแถลงการณ์ในนาม นปช.ทั่วประเทศ ซึ่งยืนยันในฐานะประธาน นปช. แม้จะอยู่ในคุกก็สามารถสั่งการเคลื่อนไหวระดมมวลชนจากในคุกได้ ไม่มีอะไรมาขวางกั้นการต่อต้านระบบอำมาตยาธิปไตย ทำทุกวิถีทางครอบงำคนไทย เราได้เตรียมแผนการไว้หมดแล้ว หากแผนหนึ่งไม่ได้ มีแผนอื่นๆ รองรับ เพราะวิกฤติครั้งนี้ยิ่งใหญ่

ประธาน นปช. กล่าวต่อไปว่า ขบวนการโค่นล้มระบอบประชาธิปไตย อย่าคิดว่าจะชนะประชาชนไปได้ เพราะที่ผ่านมา แม้แกนนำ นปช.อยู่ในคุกทั้งหมด เรายังขับเคลื่อนต่อได้จนถึงวันนี้ สำหรับข้อเสนอของคณะรัฐบุคคล ให้ พล.อ.เปรม ติณสูลานนท์ ประธานองคมนตรีและรัฐบุรุษ เป็นผู้ทูลเกล้าฯ ขอให้พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวทรงมีพระบรมราชวินิจฉัย เพื่อแก้ไขวิกฤติบ้านเมือง โดย พล.อ.เปรม เป็นผู้รับสนองพระบรมราชโองการ เห็นชัดเจนว่าเป็นการมิบังควร คณะรัฐบุคคลทำการจาบจ้วงสถาบัน ผิดกฎหมายรัฐธรรมนูญ รวมทั้ง พล.อ.เปรม เป็นถึงประธานองคมนตรี ในรัฐธรรมนูญก็ระบุชัด ห้ามฝักใฝ่การเมือง เรื่องเหล่านี้ พล.อ.เปรม น่าจะรู้ดีทำถูก หรือทำผิด

...

ขณะที่กรณีนายกฯ มาตรา 7 นายจตุพร กล่าวว่า ในหลวงตรัสไว้ชัดเมื่อปี 2549 ว่า ไม่เป็นประชาธิปไตย และตรัสชัดเจนว่ามั่ว ซึ่งนายอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ เป็นถึงอดีตนายกรัฐมนตรี ควรย้อนกลับไปดูบ้าง ยังมาบอกว่าในสมัย พ.ต.ท.ทักษิณ ชินวัตร เป็นนายกรัฐมนตรี ยังมีการทูลเกล้าฯ ขอพระบรมราชวินิจฉัยกรณี คุณหญิงจารุวรรณ เมณฑกา อดีตผู้ว่าการสำนักงานการตรวจเงินแผ่นดิน (สตง.) ไม่ยอมรับแพ้โหวต ไม่ได้เป็นอันดับ 1 จึงไม่เป็นผู้ว่าการ สตง. และไปถวายฎีกา พ.ต.ท.ทักษิณ จึงทูลเกล้าฯ ขอพระบรมราชวินิจฉัย คุณหญิงจารุวรรณได้กลับมาเป็นผู้ว่าการ สตง.

เช่นเดียวกับ นายชัยเกษม นิติสิริ รมว.ยุติธรรม จะเสนอขอพระบรมราชวินิจฉัยเช่นกัน ในกรณีที่นายกรัฐมนตรีและ ครม.สิ้นสภาพไปด้วย ต้องทูลถามว่า ขอพระบรมราชวินิจฉัย เพราะในรัฐธรรมนูญ กำหนดว่า คณะรัฐมนตรีต้องรักษาการจนกว่าจะมีรัฐบาลชุดใหม่ เป็นหน้าที่ของพรรคเพื่อไทยดำเนินการ เพราะเป็นปัญหาที่ไม่มีฝ่ายใดตัดสินได้ดีเท่ากับพระเจ้าอยู่หัว ตรงนี้แตกต่างจากนายกฯ มาตรา 7 ที่พรรคเพื่อไทยต้องชี้แจงต่อสังคมให้ชัด

ส่วนสมัย นายสมชาย วงศ์สวัสดิ์ อดีตนายกรัฐมนตรี ถูกศาลรัฐธรรมนูญตัดสินยุบพรรคพลังประชาชน และกรรมการบริหารพรรคถูกเว้นวรรคทางการเมือง ก็ให้ นายชวรัตน์ ชาญวีรกูล อดีตรัฐมนตรีว่าการกระทรวงมหาดไทย ขึ้นไปเป็นรักษาการนายกรัฐมนตรีแทน จนกว่าจะมีรัฐบาลที่มาจากการเลือกตั้ง

นอกจากนี้ คดีโยกย้าย นายถวิล เปลี่ยนศรี เลขาธิการสภาความมั่นคงแห่งชาติ (สมช.) ไม่เป็นธรรม เกิดขึ้นในรัฐบาล "ยิ่งลักษณ์ 1" ขณะนี้เป็นรัฐบาลยิ่งลักษณ์ 5 แล้ว ศาลรัฐธรรมนูญต้องตามไปถอดถอน ครม.ปู 1 และหาก ป.ป.ช.ตัดสินคดีจำนำข้าว จะมีเพียงนายกรัฐมนตรีคนเดียวถูกชี้มูล คณะรัฐมนตรีสามารถรักษาการต่อได้ จะไม่มีทางเกิดสุญญากาศทางการเมือง หรือเกิดทางตัน อย่างที่ฝ่ายผู้มีอำนาจอยากให้เป็น.