"เพื่อไทย" เล็ง ทูลเกล้าฯ วินิจฉัยอำนาจศาลรธน. สั่งนายกฯสิ้นสภาพได้หรือไม่ ชี้อาจระคายเคืองเบื้องพระยุคลบาทได้ ลั่นเหมือนกำลังปฏิวัติยึดอำนาจ


วันที่ 14 เม.ย. นายโภคิน พลกุล กรรมการยุทธศาสตร์ พรรคเพื่อไทยและอดีตประธานรัฐสภา กล่าวกับ "ไทยรัฐทีวี"ว่า กรณีที่พรรคเพื่อไทยเตรียมทูลเกล้าฯถวายฎีกาเพื่อให้ทรงวินิฉัยอำนาจศาลรัฐธรรมนูญว่าสั่งสิ้นสภาพนายกรัฐมนตรีได้หรือไม่นั้นเป็นแนวคิด ซึ่งจะต้องมีการหารือในพรรคอีกครั้งหนึ่ง

ทั้งนี้ ตนเคยเป็นรองประธานศาลปกครองมาก่อน คำวินิจฉัยทุกเรื่องที่ออกไปจะต้องถูกต้อง ครบถ้วนและไม่มีอคติ ที่ผ่านมาสงสัยว่าศาลรัฐธรรมนูญทำตามขั้นตอนของการวินิจฉัยตามกระบวนการหรือไม่ เพราะตุลาการแต่ละคนจะต้องไปทำคำวินิจฉัยส่วนตนมาพิจารณาอภิปรายกันเพื่อป้องกันการล็อบบี้

ก่อนที่จะลงมติและทำคำวินิจฉัยส่วนกลาง ซึ่งเห็นว่าการที่ศาลรัฐธรรมนูญให้โฆษกมาแถลงผลวินิจฉัย และสามารถที่จะอ่านคำวินิจฉัยส่วนกลางได้อีก 3 วันหลังจากนั้น ขณะที่คำวินิจฉัยส่วนตนต้องรออีก 3 เดือนถึงจะประกาศในราชกิจจานุเบกษา เมื่อเป็นเช่นนี้จะทำให้น่าเชื่อถือได้อย่างไร

"ศาลรัฐธรรมนูญเอาอำนาจของประชาชนไปใช้ และทำภายใต้พระปรมาภิไธย ดังนั้นอย่าทำอะไรที่ไม่ถูกต้องเพราะนอกจากจะไม่เคารพประชาชนแล้วยังสร้างความระคายเคืองเบื้องพระยุคลบาทได้ สำหรับการยื่นฎีกานั้น เป็นประเพณีที่ผู้ที่ได้รับความเดือดร้อนสามารถถวายฎีกาให้พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวทรงมีพระบรมราชวินิจฉัยได้" นายโภคิน กล่าว

นอกจากนี้ นายโภคิน ยังกล่าวถึงสถานการณ์การเมืองหลังเทศกาลสงกรานต์ว่า หาก กปปส.ยังคงจุดยืนจุดเดิมที่ไม่เชื่อว่าการจัดการเลือกตั้งเป็นหาทางแก้ปัญหาบ้านเมืองก็จะอยู่ในภาวะอย่างนี้ต่อไป จนกว่าทุกฝ่ายจะเชื่อในการเลือกตั้ง

...

ทั้งนี้ คำวินิจฉัยของศาลรัฐธรรมนูญ ปี 2549 ได้ระบุไว้อย่างชัดเจนว่า บ้านเมืองมีปัญหานำไปสู่ความรุนแรง หนทางที่จะแก้ปัญหาได้คือการยุบสภา คืนอำนาจให้ประชาชน ซึ่งเป็นทางเดียวที่จะทำให้ประชาชนสามารถแสดงเจตนารมณ์ตามเจตนาของตัวเองได้ นอกจากนี้ทุกประเทศทั่วโลกต่างทิ้งปืนเพื่อหยิบบัตรเลือกตั้ง แต่ประเทศไทยทิ้งบัตรเลือกตั้งเพื่อหยิบปืน 

นายโภคิน กล่าวต่อว่า ขณะที่องค์กรอิสระนั้นเป็นที่วิจารณ์ว่าไม่เป็นธรรมต่อตัวนายกรัฐมนตรีและรัฐบาล ซึ่งจะทำให้ประชาชนไม่เชื่อถือองค์กรอิสระอีกต่อไปและจะนำไปสู่การต่อต้านของคนในสังคมและจะทำให้เกิดความแตกแยกมากขึ้น ดังนั้นขอให้องค์กรอิสระให้ความเป็นธรรมอย่างแท้จริง ไม่ใช่เลือกปฏิบัติ

ทั้งนี้ หากคำวินิจฉัยขององค์กรอิสระไม่เป็นคุณกับนายกรัฐมนตรีและมีผลต้องให้นายกรัฐมนตรีหยุดปฏิบัติหน้าที่ ก็จะทำให้เกิดข้อถกเถียงทางกฎหมายว่านายกรัฐมนตรีจะหยุดปฏิบัติหน้าที่ได้อย่างไร ในเมื่อนายกรัฐมนตรีทำหน้าที่รักษาการอยู่ ทางออกก็คือจะต้องให้รองนายกรัฐมนตรีลำดับถัดไปปฏิบัติหน้าที่แทน เพราะประเทศขาดรัฐบาลไม่ได้

"คำตัดสินของศาลจะต้องให้ประเทศเดินหน้าต่อไปได้ ในส่วนของพรรคเพื่อไทยเห็นว่าศาลรัฐธรรมนูญละเมิดรัฐธรรมนูญไปมาก เหมือนกับศาลรัฐธรรมนูญกำลังปฏิวัติยึดอำนาจเสียเอง" นายโภคิน กล่าว