หลายภาคส่วนระดมแนวคิด จัดการเรียนรู้ทักษะชีวิต ทักษะสุขภาพ เพื่อการดำรงชีวิตและโลกของงาน หวังให้เยาวชนมีสุขภาวะที่ดี จิตใจดี เข้าใจตนเอง อยู่กับผู้อื่นได้...
คณะสาธารณสุขศาสตร์ มหาวิทยาลัยมหิดล ร่วมกับสำนักสนับสนุนสุขภาวะเด็ก เยาวชนและครอบครัว สสส.จัดประชุมวิพากษ์แนวคิด หลักการจัดการเรียนรู้ทักษะชีวิต ทักษะสุขภาพ เพื่อการดำรงชีวิตและโลกของงาน ภายใต้โครงการพัฒนาคู่มือการจัดการเรียนรู้ ทักษะชีวิต และโลกการทำงาน ที่เน้นการมีสุขภาวะที่ดีของนักเรียน เพื่อเน้นให้เห็นความสำคัญของการเรียนวิชาสุขศึกษา พลศึกษา และคหกรรม ในสังคมโลกปัจจุบันและอนาคต ที่ควรกำหนดเป้าหมายของหลักสูตรและในการจัดการเรียนการสอนให้ชัดเจน เพื่อให้ผู้เรียนมีสุขภาวะที่ดี จิตใจดี เข้าใจตนเอง อยู่กับผู้อื่นได้ ดูแลสิ่งแวดล้อม มีอาชีพที่ดี เรียนรู้สุขภาพตลอดชีวิต อันจะนำไปสู่การเป็นพลเมืองที่ดีของสังคม ณ โรงแรมหลุยส์ แทเวิร์น กรุงเทพฯ
ผศ.ดร.ชะนวนทอง ธนสุกาญจน์ หัวหน้าโครงการพัฒนาคู่มือการจัดการเรียนรู้ฯ กล่าวว่า การพัฒนาคู่มือการจัดการเรียนรู้ทักษะชีวิต ทักษะสุขภาพในการดำรงชีวิตและโลกของงาน ที่เน้นการมีสุขภาวะที่ดีของนักเรียน มีโจทย์ว่า "ปฏิรูปหลักสูตร" ครูต้องสอนน้อยลงเรียนรู้ให้มาก ฟังเด็กมากขึ้น สอนให้เด็กคิดเป็น เพราะการปฏิรูปหลักสูตรครั้งนี้ "เด็ก" ต้องได้ประโยชน์สูงสุด แต่ปัญหาคือครูไทยกับการปรับเปลี่ยนวิธีการสอน จึงต้องมีสิ่งสนับสนุนให้ครูที่ถือว่าเป็นปัจจัยแห่งความสำเร็จ คือ 1. การยกร่างหลักสูตรที่ชัดเจน ประชาพิจารณ์กับครู นักการศึกษา และประชาสัมพันธ์การมีส่วนร่วมอย่างกว้างขวาง 2. มีคู่มือครูอธิบายอย่างละเอียดทุกขั้นตอน 3. มีพี่เลี้ยง (Mentors) คอยให้คำแนะนำและร่วมลงมือปฏิบัติการอย่างใกล้ชิดต่อเนื่อง เพื่อให้เห็นผลการปฏิรูปที่สามารถเปลี่ยนแปลงได้จริง โดยได้นำกรณีศึกษาจากประเทศนิวซีแลนด์ ที่เน้นหลักสูตรเรื่องความรู้ ทักษะ แรงจูงใจของบุคคลในการตัดสินใจเลือกวิถีชีวิต จัดการความสัมพันธ์กับผู้อื่น จัดการสิ่งแวดล้อมเพื่อให้เกิดสุขภาพดีอย่างมีความเชื่อมั่น และมีมุมมองทางบวกต่อชีวิตและสังคม ซึ่งแนวทางจัดการเรียนรู้ได้บูรณาการใน 3 วิชา คือวิชาสุขศึกษา พลศึกษา และคหกรรม ที่มีเป้าหมายให้เด็กอยู่อย่างแข็งแรงใช้ชีวิตมีความสุข
"การปฏิรูปหลักสูตรได้ขอความร่วมมือผู้เชี่ยวชาญด้านการศึกษาร่วมกันปรับเพื่อให้สอดคล้องกับวิถีชีวิตของกลุ่มสาระที่ 3 จาก 6 กลุ่มสาระ คือ เรื่องการดำรงชีวิตและโลกของงาน ดังนั้นโครงการนี้จึงต้องการพัฒนา การจัดการเรียนรู้ด้านสุขภาพครอบคลุมตั้งแต่การจัดประเด็นการเรียนรู้ วิธีการเรียนรู้ และจัดทำเป็นคู่มือครู ซึ่งจะเน้นให้ครูทำบทบาทเป็นผู้สร้างทักษะนักเรียน สร้างโอกาสการเรียนรู้ มากกว่าที่จะสอนเนื้อหา แต่การสอนต้องมีโจทย์ที่ชัด สร้างความเชื่อมั่น มีการแบ่งสัดส่วนที่ชัดขึ้น เพื่อให้นักเรียนเกิดทักษะส่งเสริมการพัฒนาด้านสุขภาพและภาวะโภชนาการให้เด็กอย่างเหมาะสมในแต่ละช่วงวัย โดยมีเป้าหมายให้เด็กเรียนจบมีงานทำ มีทักษะชีวิต ทักษะเบื้องต้นที่พร้อมในการเรียนรู้สังคมและการทำงาน" ผศ.ดร.ชะนวนทอง กล่าว
ด้าน นพ.ยงยุทธ วงศ์ภิรมย์ศานติ์ หัวหน้ากลุ่มที่ปรึกษากรมสุขภาพจิต กระทรวงสาธารณสุข กล่าวว่า การปรับหลักสูตรได้ประโยชน์ แต่ต้องเน้นสาระและต้องอธิบายให้ได้ว่ามีเป้าหมายอย่างไร สาระการเรียนรู้คืออะไร ซึ่งต้องทำให้รู้จักเรื่องสุขภาวะชีวิตของตนเองและผู้อื่นและเข้าใจเรื่องความสำคัญในการดำรงชีวิต ที่ต้องมีการสอนให้เผชิญปัญหาทางลบ เรียนรู้เพื่อนที่เข้ามาในชีวิต ฉะนั้นครอบครัวต้องสอนลูกในด้านบวก คือเน้นให้รู้จักคุณค่า มีความภาคภูมิใจ เห็นตัวตนของตัวเอง ซึ่งกระบวนการที่จะทำให้เกิดเรื่องเหล่านี้สร้างได้ไม่ยาก อยู่ที่พื้นฐานของครอบครัวที่เข้มแข็ง เพราะปัญหาสังคมที่เข้ามาในชีวิตส่วนใหญ่มาในรูปแบบโฆษณาแฝง ปัจจุบันสังคมไทยมีปัญหาเรื่องเด็กติดเกม ติดอินเทอร์เน็ต สูบบุหรี่ ฉะนั้นเมื่อเด็กมาจากครอบครัวที่ต่างกันเมื่อมาเจอกันก็ต้องการเรียนรู้ซึ่งกันและกัน แต่หากเด็กคนไหนมาจากครอบครัวที่เข้มแข็งสอนให้รู้จักเรียนรู้ผิดถูก มีทักษะชีวิตเด็กเหล่านี้ก็จะได้เปรียบเด็กที่ไม่มีพื้นฐานทักษะชีวิต ดังนั้น อย่าลืมว่าโรงเรียนไม่ได้สอนให้มีแค่การเรียนรู้ ต้องสอนให้รู้จักการใช้ชีวิตด้วย แต่ก็ไม่สามารถนำทุกอย่างเข้าไปในหลักสูตรได้ จึงต้องจัดให้มีวิชาเลือก หรือจัดเป็นหลักสูตรพื้นฐานในวิชาเรียน
...
ขณะที่นางสุกัญญา นามบรรจง ผู้เชี่ยวชาญ สพฐ. กล่าวว่า การปรับหลักสูตรของโครงการเป็นเรื่องดีที่เน้นกลุ่มสาระที่ 3 เพราะจุดเน้นหลักสูตรใหม่เป็นการบูรณาการสุขศึกษา พลศึกษา การงานอาชีพและเทคโนโลยี หรือ คหกรรม เพราะเรื่องสุขภาพเกี่ยวข้องกับโลกของงาน เนื่องจากเด็กปัจจุบันเรียนจบมหาวิทยาลัยออกมาตกงาน หรือไม่มีทักษะในการทำงานที่เพียงพอ ขาดทักษะชีวิตเนื่องจากไม่ได้ปลูกฝังมาตั้งแต่เด็ก ฉะนั้น หลักสูตรใหม่จึงต้องเน้นปลูกฝังในเด็กปฐมวัยเพราะถือเป็นจุดเริ่มต้นในการใช้ชีวิต เมื่อเติบโตขึ้นก็จะเป็นผู้ที่มีทักษะชีวิตดีเยี่ยม เพราะการมีสุขภาวะที่ดีต้องมีกายแข็งแรง จิตใจดี อยู่ในสังคมร่วมกับคนอื่นได้ ส่วนเรื่องการมีคุณธรรม การเป็นพลเมืองดีกับกลายเป็นเหมือนประสบการณ์การเรียนรู้ที่ทุกวิชาต้องสร้างให้เกิด ฉะนั้นกลุ่มสาระที่ 3 ต้องมี ไม่เช่นนั้นการเป็นพลเมืองดีในด้านสุขภาพไม่อยากให้ดูแลแค่ตัวเองแต่ให้ดูแลคนอื่นด้วย
"การจะสอนทักษะชีวิต ต้องมีเนื้อหาควบคู่ไปด้วย แต่ไม่ต้องเน้นสอนตามหลักสูตร เพียงแต่ให้คิดหากิจกรรมสอนสอดแทรกเพื่อให้สมดุล เพราะการดำรงชีวิตและโลกของงาน เมื่อมีทักษะเป็นเรื่องที่ดีเยี่ยม ฉะนั้นหลักสูตรควรจะมีคอนเซปต์ให้ครูผู้สอน แต่ให้ครูคิดหากิจกรรมประกอบการสอนเพื่อให้เด็กเห็นความสำคัญ ซึ่งทุกวิชาที่เด็กเรียนไม่ได้หายไป เพียงแต่ครูต้องเน้นสอนให้เด็กปฏิบัติ ส่วนวิชาแนะแนวเป็นกระบวนการที่จะเข้ามาให้เด็กค้นพบตัวเอง เน้นย้ำให้เด็กรู้จักตนเอง รู้จักคนอื่น อยู่ร่วมกับผู้อื่นได้อย่างมีความสุข โดยการปรับกระบวนการเรียนการสอนตามหลักสูตรเหลือ 6 กลุ่มสาระ คือ 1.ภาษาและวรรณกรรม 2.วิทยาศาสตร์ เทคโนโลยี คณิตศาสตร์ 3.การดำรงชีวิตและโลกของงาน 4.ทักษะสื่อ และการสื่อสาร 5.สังคมและความเป็นมนุษย์ 6.อาเซียน ภูมิภาค และโลก จาก 8 กลุ่มสาระ และการนำจุดเด่นของหลักสูตรประเทศต่างๆ รวมถึงการนำทักษะในศตวรรษที่ 21 ที่เน้นเรื่องกระบวนการบูรณาการการทำงานมาใส่ในหลักสูตรเป็นเรื่องที่ดีเยี่ยม" นางสุกัญญา กล่าว.