12 มีนาคม 2547 วันที่ ทนาย สมชาย นีละไพจิตร หายตัวไปอย่างลึกลับ ซ่อนเงื่อน มาจนถึงวันนี้ ย่างเข้าปีที่ 10 แล้ว แต่เจ้าหน้าที่ยังไม่พบหลักฐานที่จะโยงไปได้ว่า ทนายคนดังยังมีชีวิตอยู่ หรือหมดลมหายใจไปแล้ว กล่าวได้ว่าไร้ซึ่งสัญญาณความคืบหน้าในการสอบสวนใดๆ...

ตอกย้ำความไร้ประสิทธิภาพของกระบวนการยุติธรรมไทย !?

เรื่องราวความเคลื่อนไหวในวันสุดท้ายก่อนหายตัวไปของทนายสมชาย จากข้อเท็จจริงของพยาน ยืนยันว่า ครั้งสุดท้ายที่เห็นทนาย คือ เมื่อเวลา 20.30 น. ของวันที่ 12 มีนาคม 2547 ซึ่งทนายนายสมชายได้เดินทางไปยังโรงแรมในย่านลาดพร้าว เพื่อรอพบเพื่อน แต่เมื่อเพื่อนไม่มาตามเวลาที่กำหนด นายสมชายจึงตัดสินใจขับรถไปนอนพักค้างคืนที่บ้านเพื่อนอีกคน ที่นัดหมายล่วงหน้าไว้แล้ว แต่ทว่า ระหว่างทางได้มีกลุ่มชายฉกรรจ์จำนวน 5-6 คน ขับรถยนต์สะกดรอยติดตามมาในระยะกระชั้นชิด

ก่อนเร่งเครื่องพุ่งชนท้ายรถทนายเต็มแรง !!

อย่างไม่เอะใจ นายสมชาย ได้หยุดรถเพื่อลงมาพูดคุยกับคู่กรณี แต่กลุ่มชายฉกรรจ์กลับเข้าทำร้ายร่างกายโดยการชกท้อง และพยายามผลักตัวของนายสมชายให้เข้าไปในรถยนต์ของพวกตน ขณะที่ หนึ่งในคนร้าย แยกตัวไปขับรถของนายสมชายทันที

แม้จะมีเสียงตะโกนให้ปล่อยตัวจากทนายและดิ้นรนต่อสู้เพียงใด แต่สุดท้ายเขาก็ถูกนำตัวเข้าไปในรถของคนร้าย ที่ไม่มีใครรู้ว่ามุ่งหน้าไปที่ไหน

นับจากนั้นมา ก็ไม่มีใครพบเห็นเขาอีกเลย

หากพูดถึงทนายความที่ชื่อ สมชาย นีละไพจิตร ใครๆ ต่างรู้ว่า เขาเป็นทนายที่ทำงานจริงจัง รักความเป็นธรรม เป็นผู้อุทิศตัวเพื่อช่วยเหลือเหยื่อผู้ยากไร้ มักเสนอตัวเข้าว่าความให้ผู้ที่ถูกกระทำอย่างไม่เป็นธรรม เขาคือเบื้องหลังของคดีสำคัญหลายคดี โดยเฉพาะคดีทางภาคใต้ ที่ประชาชนถูกกล่าวหาว่า พัวพันกับการก่อการร้าย ทนายคนนี้สามารถทำความจริงให้ปรากฏจนจำเลยพ้นจากข้อหา อีกทั้งในหลายคดีเขายังเปิดโปงพฤติกรรมของตำรวจ โดยคดีดังคือการออกมาเปิดโปงเจ้าพนักงานที่ทรมานผู้ต้องหาปล้นปืน-เผาโรงเรียน 5 นาย เพื่อให้ยอมรับสารภาพ

...

และนี่อาจเป็นสาเหตุที่เขาถูกทำให้หายไป !?

กล่าวถึง เรื่องราวสุดฉาวโฉ่ ที่มาที่ไปของการถูกอุ้มตัว เริ่มจาก ทนายสมชาย รับว่าความให้ 5 ผู้ต้องหา คดีปล้นปืนจากกองพันพัฒนาที่ 4 ซึ่งผู้ต้องหาทั้งหมดร้องเรียนว่า ถูกนายตำรวจชุดจับกุมซ้อมจนได้รับบาดเจ็บสาหัส ด้วยวิธีทารุณต่างๆ จนกระทั่งต้องยอมรับความผิด

ทนายที่รักความยุติธรรมยิ่งชีวิตจึงยอมไม่ได้ ทำเรื่องร้องเรียนขอความเป็นธรรมต่อศาล พร้อมๆ กันนั้นก็ทำหนังสือร้องเรียนพฤติกรรมของตำรวจชุดจับกุม ต่อประธานคณะกรรมการสิทธิมนุษยชน อัยการสูงสุด ผบ.ตร. รวมถึงรัฐมนตรีว่าการกระทรวงมหาดไทย

การกระทำนี้ ถือเป็นการตีแผ่ด้านมืดของตำรวจ ยังผลให้เจ้าพนักงานสอบสวนคดีนี้และผู้เกี่ยวข้องบางคน แสดงความไม่พอใจ เนื่องจากถูกหักหน้ากลางศาลต่อหน้าสาธารณชน มูลเหตุนี้เอง จึงอาจเป็นที่มาของคำสั่งอุ้มนายสมชายอย่างเร่งด่วน และหายไปจากสังคมแบบไม่มีวันกลับ

แล้วการสืบสาวตามหาทนายจึงบังเกิดขึ้น !?

หลังการหายตัวไปของประธานชมรมนักกฎหมายมุสลิมผู้นี้ มีการตั้งคณะทำงานเพื่อสืบหาร่องรอยจากหลายส่วน ทั้งกองบัญชาการสอบสวนกลาง และชุดติดตามสืบสวนของกองบัญชาการตำรวจนครบาล รวมถึงกรมสอบสวนคดีพิเศษ ได้ส่งทีมพิเศษหาหลักฐานมัดผู้อยู่เบื้องหลัง แต่หลายปีที่ผ่านมา การตามแกะรอยคนบงการ กลับไม่มีความคืบหน้าเท่าที่ควร

จับได้เพียง "ลูกน้องปลายแถว" เท่านั้น

ใช้เวลาสืบสวนไม่นาน เจ้าหน้าที่พบว่า กลุ่มคนที่ลักพาตัวทนายไป ประกอบด้วย 1. พ.ต.ต.เงิน ทองสุก 2. พ.ต.ท.สินชัย นิ่มปุณญกำพงษ์ 3. จ.ส.ต.ชัยเวง พาด้วง 4. ส.ต.อ.รันดร สิทธิเขต และ 5. พ.ต.ท.ชัดชัย เลี่ยมสงวน โดยศาลอาญาตัดสินให้ พ.ต.ต.เงิน ทองสุก รับโทษ 3 ปี ในข้อหาขืนใจ ทำให้สูญเสียอิสรภาพ ส่วนพวกอีก 4 นาย ศาลยกฟ้อง เนื่องจากไม่มีหลักฐานที่เพียงพอ อีกทั้งยังได้กลับเข้ารับราชการในสังกัดเดิม สร้างความเคลือบแคลงการทำงานของ สตช.เป็นอย่างยิ่ง

แต่แล้วเหตุการณ์ไม่คาดฝันก็เกิดขึ้นอีกครั้ง

หลังต้องคดีและอยู่ระหว่างการอุทธรณ์ พ.ต.ต.เงิน ทองสุก ถูกให้ออกจากราชการ และมาช่วยญาติ ทำงานรับเหมาก่อสร้าง ที่เขื่อนแควน้อย จ.พิษณุโลก และได้จมน้ำหายไปอย่างไร้ร่องรอย แม้เจ้าหน้าที่จะพยายามค้นหาเท่าใด ก็ไม่พบศพของนายตำรวจผู้นี้

กลายเป็นผู้สูญหายอีกหนึ่งราย !!

ถึงแม้การขยายผลสอบสวนหาหลักฐานมัดผู้อยู่เบื้องหลังจะยังไม่คืบหน้า แต่การสืบสวนกลับพบร่องรอยบางอย่าง ที่บ่งชี้ว่ามีนายตำรวจระดับสูงหลายคนเข้าไปมีส่วนพัวพัน จึงอาจกล่าวได้ว่า คดีการหายตัวไปของนายสมชาย นีละไพจิตร ไม่ได้รับการเอาใจใส่จากรัฐบาลสมัยนั้นมาตั้งแต่ต้น และรัฐบาลก็เพิกเฉยต่อกรณีดังกล่าวตลอดมา

"ดีเอสไอรับคดีมา 10 ปีแล้ว ความรับผิดชอบอยู่ตรงไหน ไม่ใช่เก็บสำนวนคดีไว้เฉยๆ แล้ววันหนึ่งก็ออกมาบอกว่า หาหลักฐานไม่ได้ และบอกว่ารัฐจ่ายเงินให้แล้วก็จบไม่ใช่ เพราะครอบครัวต้องการความยุติธรรม"

นางอังคณา นีละไพจิตร ภรรยาที่ต่อสู้เพื่อทวงหาความยุติธรรมให้สามีมาโดยตลอดกล่าวไว้ เมื่อวันที่ 19 ธ.ค.2556 และวันนี้ 10 ปีที่ผ่านพ้นไป หนทางแห่งการรอคอยยังคงริบหรี่

สิ่งที่เกิดขึ้นสะท้อนให้เห็นว่า กระบวนการยุติธรรมของไทย ซึ่งควรจะมีความเป็นกลางและโปร่งใส แต่เมื่อกระบวนการอันศักดิ์สิทธิ์นี้ไปดำเนินการเพื่อเอื้อประโยชน์ต่อเจ้าพนักงาน หรือยอมให้ถูกแทรกแซง และนับวันยิ่งเผยโฉมหน้าผู้อยู่เบื้องหลังชัดเจนขึ้น คนธรรมดาที่ไม่มีอำนาจจะยังหวังพึ่งกระบวนการนี้ได้อย่างไร

คงได้แต่ทำใจ และค่อยๆ หมดความเชื่อมั่นในที่สุด...