ผู้อ่านไทยรัฐ จำนวนมากอยากทราบว่า “ผักกระฉูด” เป็นอย่างไร เพราะเห็นมัดเป็นกำวางขายเป็นผักสดคู่กับผักกระเฉด และผู้ขาย บอกว่ารับประทานได้เหมือนกับผักกระเฉดทุกอย่าง แต่ยังไม่กล้าซื้อรับประทาน ซึ่งความจริงแล้ว “ผักกระฉูด” เป็นผักอยู่ในวงศ์เดียวกับผักกระเฉดคือ LEGUMINO-SAE มีชื่อวิทยาศาสตร์เฉพาะคือ NEPTUNIA JAVANICA MIQ ส่วนผักกระเฉดชื่อวิทยาศาสตร์ว่า NEPTUNIA OLERACEA LOUR ลักษณะทางพฤกษศาสตร์เหมือนกัน ต่างกันที่ผักกระเฉดมีทุ่นสีขาวนุ่มหุ้มลำต้นเรียกว่า “นม” แต่ลำต้นของ “ผักกระฉูด” ไม่มีและไม่ต้องลอกออกก่อนรับประทานให้เสียเวลา
ผักกระฉูด เป็นไม้ทอดเลื้อยยาวได้ 1 เมตร ใบเป็นใบประกอบ ใบย่อย 7-30 คู่ เป็นรูปขอบขนาน ปลายมนโคนตัด สีเขียวสด ดอก ออกเป็นช่อตามซอกใบใกล้ปลายยอด ดอกเป็นดอกสมบูรณ์เพศ ดอกอ่อนสีเขียว เมื่อแก่เป็นสีเหลืองปนส้มเล็กน้อย “ผล” เป็นฝักแบนมีหลายเมล็ด ขยาย
พันธุ์ด้วยเมล็ดและปักชำต้น พบขึ้นทั่วไป ในภูมิภาคอินโดจีน อินโดนีเซีย พม่า ประเทศติมอร์ ในประเทศไทยพบทุกภาค โดยจะขึ้นตาม ที่โล่งแจ้ง แห้งแล้ง หรือ ที่ชื้นแฉะ มีชื่อเรียกอีกคือ ผักกระเฉดโคก และ ผักกระเฉดบก
ประโยชน์ทางอาหาร ยอดอ่อน กินเป็นผักสด หรือนำไปประกอบเป็นอาหารได้เหมือนกับผักกระเฉดทุกอย่าง เช่น กินเป็นผักสดหรือต้ม ลวก จิ้มน้ำพริกทุกชนิด แกงส้มกุ้ง ปลา เป็นต้น แต่การใช้ประโยชน์ทางอาหารนิยมเด็ดเอาเฉพาะยอดอ่อนยาวประมาณ 1 นิ้วฟุตเท่านั้นจึงจะกรอบอร่อย หากเด็ดยาวเกินกว่านั้นจะเหนียว ไม่นิยมรับประทาน
อย่างไรก็ตาม ปัจจุบัน “ผักกระฉูด” จัดเป็นวัชพืชที่กำจัดยาก หากให้เลื้อยคลุมพืชชนิดอื่นจะตายหมด จึงมีผู้ปลูกให้ขึ้นเฉพาะที่เพื่อเก็บยอดขายไม่กี่แห่งเท่านั้นครับ.
“นายเกษตร”
...