ถึงช่วงเทศกาลตรุษจีนลูกหลานก็จะจัดเต็มซื้อของไหว้ต่างๆ เพื่อส่งไปให้ถึงบรรพบุรุษรวมไปถึงของไหว้ที่เป็นกระดาษเงินกระดาษทอง จนถึงปัจจุบันกลายรูปเปลี่ยนร่างเป็นไอแพด ไอโฟน มอเตอร์ไซต์ ชุดเฟอร์นิเจอร์ ฯลฯ เคยสงสัยไหมว่ามันวิวัฒนาการเป็นอย่างไร ไทยรัฐออนไลน์ประมวลให้ชมกัน...
'ไม่ได้เรียกกงเต๊ก...'
ใช่, ไม่ได้เรียกแบบนั้น อาจารย์ จิตรา ก่อนันทเกียรติ ผู้รอบรู้เรื่องวัฒนธรรมจีน บอกว่า ชุดกระดาษเงินกระดาษทองที่ชาวไทยเชื้อสายจีนนิยมซื้อไหว้บรรพบุรุษในวันตรุษจีน ไม่ได้เรียกกง เต๊กแบบที่ใครๆ เรียกกัน เนื่องเพราะกงเต๊กนั้นใช้สำหรับทำพิธีกงเต๊ก เป็นพิธีการทำบุญอุทิศส่วนกุศลให้แก่ผู้ล่วงลับ ถือเป็นประเพณีอันเก่าแก่สืบทอดมาแต่โบราณของชาวจีน อันแสดงให้เห็นว่าชาวจีนนั้นเป็นชนชาติหนึ่งในโลกที่มีความกตัญญูกตเวทีสูงมาก เมื่อผู้มีพระคุณเสียชีวิตลงในขณะที่ตนเองรู้สึกว่ายังไม่ได้ปฏิบัติตนตอบแทนพระคุณให้เพียงพอ จึงจัดนิมนต์พระสงฆ์มาประกอบพิธีกงเต๊ก เป็นการทำบุญอุทิศส่วนกุศลให้แก่ผู้ล่วงลับ
...
วิวัฒนาการ ชุดกระดาษเงินกระดาษทอง ถึงสตีฟจ็อบส์...!
ขณะที่ อาจารย์คฑา ชินบัญชร ซินแสชื่อดัง กล่าวถึงวิวัฒนาการกระดาษเงินกระดาษทองว่า สมัยก่อนนิยมใช้กันเป็นกระดาษชุดเสื้อผ้าธรรมดาๆ ที่ยังไม่ได้เป็นแฟชั่นมากมายเหมือนในสมัยนี้ และก็เป็นพวกกระดาษเงินกระดาษทอง เป็นหงิ่งเตี๋ย หรือจะเป็นลูกเงินจีน คล้ายๆ เรือ หรือจะเป็นจำพวกทองก้อน แต่อันนั้นคือเผาเงินเผาทองส่งไปให้บรรพบุรุษ แต่ปัจจุบันมีการพัฒนาเป็นพวกของไหว้ที่เป็นกระดาษ จะเป็นเสื้อผ้า รถ รองเท้า เป็นตัวแทนของสิ่งที่เหมือนกับว่าเราอยากจะเอาให้บรรพบุรุษหรือว่าคนตาย
...
"เขามีความเชื่อกันว่า เมื่อเผาของพวกนี้ไปให้แล้วก็จะไปถึงบรรพบุรุษ แต่จริงๆ แล้วเป็นความสุขใจของคนเผา เป็นการแสดงออกทางหนึ่งของลูกหลานที่ยังมีชีวิต เป็นการแสดงความกตัญญูต่อพ่อแม่และบรรพบุรุษผู้ตายที่เขาระลึกนึกถึง ซึ่งจริงๆ จะไปถึงหรือไม่นั้นไม่มีใครรู้ แต่มันเป็นความสุขใจของคนทำมากกว่า"
เมื่อถามว่าผิดธรรมเนียมปฏิบัติไหม...? หมอดูชื่อดังบอกว่า อาจารย์ก็มองว่ามันไม่ได้ผิด เพราะอย่างน้อยคนเผาก็ได้เรื่องความอุตสาหะกับความพากเพียร ซึ่งได้มีการไปหาสิ่งที่บรรพบุรุษชอบมาได้ อยากกินอะไร อยากใส่เสื้อผ้าสวยๆ ก็ไปหามา ซึ่งสิ่งที่ทำนี้ไม่ได้เป็นสิ่งที่ผิด เป็นการแสดงออกเชิงสัญลักษณ์ที่จับต้องได้ แต่ถ้าคิดในอีกรูปแบบหนึ่งก็คือสิ้นเปลืองเงินทอง วิธีการง่ายๆ ก็คือทำแบบพอเหมาะพอสม และการแสดงออกที่ดีที่สุดก็คือการแสดงออกเมื่อท่านยังมีชีวิตอยู่ นี่คือหัวใจเลย
...
ระวังอย่างเผาผิด...!
ขณะที่ พระอธิการเย็นจุง เจ้าอาวาสวัดจีนประชาสโมสรชื่อดัง กล่าวว่า กระดาษเงินกระดาษทองแบ่งเป็น 2 ประเภท 1.สำหรับไหว้เจ้า 2.ไหว้บรรพบุรุษ ซึ่งไม่ควรที่จะนำมาไหว้หรือเผาสลับกัน
"กระดาษที่นำมาไหว้เจ้านั้นควรเป็นควรเป็นชุดไหว้แบบครบเครื่องอย่างเช่น'กิมเต้า' คือถังเงินถังทอง เปรียบเสมือนถังเงินถังทองใช้ไหว้เจ้าเพื่อขอเงินขอทองขอโชคลาภ ใช้ไหว้ตี่จู่เอี๊ย ไฉ่ซิ้งเอี๊ย ไท้ส่วยเอี๊ย พระแม่กวนอิม ทีตี่แป่บ้อ แป๊ะกง ปึงเถ่ากง ปึงเถ่าม่า เซี๋ยอ๊วงกง(เจ้าพ่อหลักเมือง)แบบจีนแต้จิ๋ว หรือ 'กิมฮวย' เป็นการไหว้เพื่อขอพรจากเทพทุกพระองค์ ในเรื่องยศถาบรรดาศักดิ์จะไหว้คู่กับอั่งติ๋ว ถือว่าเป็นการไหว้เจ้าที่ตี่จู่เอี๋ย กุ๋ยจื๊อบ่อ เทียนโห่วเซี่ยบ้อ กิมกวงเล่าอ๊วงบ้อ ซำเปาฮุกโจ้ว (ซำเสี่ยจู่ฮุก)เทียนตี่แป่บ้อ ฮั่วท้อเซียนซือ ไฉ่ซิ้งเอี๊ย ไท้ส่วยเอี๊ย ส่วนมากการไหว้ด้วยกิมฮวยจะมีการปักบนส้ม และถวายแด่องค์เจ้า เพื่อถือเป็นขององค์เจ้า เป็นต้น"
...
ส่วนกระดาษที่ใช้ไหว้บรรพบุรุษนั้น เจ้าอาวาสวัดจีน (วัดเล่งฮกยี่) กล่าวว่า จะมีลักษณะจะมีความทันสมัย และหวือหวาตามสมัยนิยมกว่า ซึ่งแล้วแต่ใครจะประยุกต์ ซึ่งปัจจุบันได้รับความนิยมอย่างมาก ด้วยรูปแบบของใช้ที่หลากหลายขึ้น
"ไม่ว่าจะเป็นจำพวก แท็บเล็ต ไอแพด แอร์ สมาร์ทโฟน แอปเปิล Samsong (ซึ่งสินค้าที่ออกมาอาจจะปรับเปลี่ยนชื่อและสัญลักษณ์แบรนด์บ้างเล็กน้อย เพราะปัญหาด้านลิขสิทธิ์) กระเป๋าแบรนด์หรูเช่น แชลแนล แอร์เมส รองเท้าแบรนด์ดังหลุยส์วิตตอง บ้าน คอนโดหรูหลายชั้น รถสปอร์ต เสื้อผ้าหน้าร้อน หน้าหนาว เครื่องสำอาง ของใช้ส่วนตัวเก๋ไก๋ เช่น ยาสีฟัน แป้ง น้ำยาบ้วนปาก คอมพิวเตอร์ ตู้เอทีเอ็ม บัตรเครดิต เรียกว่าจะซื้อของไหว้บรรพบุรุษทีก็มีให้เลือกกันเยอะแยะจนบรรพบุรุษอินเทรนด์กันไปตามๆกัน ถามว่าผิดธรรม เนียมไหม ก็ไม่ผิด เพราะรูปแบบกระดาษที่ประยุกต์ตามสมัยนั้นถูกส่งไปด้วยเจตนาที่ดีก็ถือว่าไม่ผิดแต่อย่างใด" เจ้าอาวาสวัดจีนประชาสโมสร (วัดเล่งฮกยี่) กล่าวสรุปในที่สุด