จากแบบเรียนภาษาไทยสู่ละครเวทีน้ำดี "มานีและชูใจ" ที่พร้อมพาทุกคนย้อนความทรงจำในวัยเด็ก ตลอดจนสะท้อนสถานการณ์บ้านเมืองในอดีตและปัจจุบัน "ทีมข่าวบันเทิง ไทยรัฐออนไลน์" รวบรวมเรื่องราวบางส่วนของละครเวทีเรื่องนี้ ก่อนจะได้ชมกันในเดือน มี.ค.นี้มาฝากกัน...
จากหนังสือเรียนวิชาภาษาไทยที่หลายคนคุ้นเคย วันนี้ "มานีและชูใจ" กลับมาอีกครั้งในรูปแบบละครเวทีน้ำดีสร้างสรรค์สังคมในชื่อ "มานีและชูใจ Come here and Show heart" โดยความร่วมมือของบริษัท เลยดูดี สตูดิโอ จำกัด และโรงละครอักษรา คิงเพาเวอร์ ที่พร้อมพาไปพบกับ มานี ชูใจ และเพื่อนๆ ที่ทุกคนคุ้นเคย ซึ่งกำหนดเดิมนั้นจะมีการแสดงรอบกาล่า ในวันที่ 22 ม.ค. 2557 และรอบปกติในวันศุกร์ที่ 24 ม.ค.2557 เวลา 19.30 น. วันเสาร์-อาทิตย์ที่ 25-26 ม.ค. 2557 เวลา 14.30 น. และ 19.30 น. วันศุกร์ที่ 31 ม.ค. 2557 เวลา 19.30 น. และวันเสาร์-อาทิตย์ที่ 1-2 กุมภาพันธ์ 2557 เวลา 14.30 น. และ 19.30 น. แต่เนื่องด้วยสถานการณ์บ้านเมืองที่ยังไม่สงบในขณะนี้ จึงจำเป็นต้องเลื่อนทำการแสดงไปเป็นเดือน มี.ค. 2557 แทน

...


"มานีและชูใจ" เป็นชุดแบบเรียนภาษาไทยระดับประถมศึกษาปีที่ 1-6 มีทั้งหมด 12 เล่ม ซึ่งใช้ในการเรียนการสอนภาษาไทยในปี พ.ศ. 2521-2537 ถ่ายทอดเรื่องราวของ มานี ชูใจ และเพื่อนๆ ผ่านเหตุการณ์ต่างๆ ที่แสดงบุคลิกนิสัยและคุณธรรมของตัวละคร พร้อมภาพประกอบ และในตอนท้ายบทจะมีแบบฝึกหัดความรู้ภาษาไทยด้วย โดย "มานีและชูใจ" ถูกสร้างเป็นละครเวทีครั้งแรกโดยนิสิตสถาปัตย์จุฬาฯ รุ่น 63 ในปี 2540 และกลับมาสร้างอีกครั้งในปี 2557 นี้


ละครเวที "มานีและชูใจ" ถ่ายทอดเรื่องราวของ มานี (นุ่น-ศิรพันธ์ วัฒนจินดา) ที่ปัจจุบันกลับมาเป็นครูประจำที่โรงเรียน และเป็นหัวเรี่ยวหัวแรงในการจัดงานเลี้ยงรุ่นขึ้น หลังจากที่แยกย้ายกันไปนาน 10 กว่าปี ชูใจ (เอ๋-มณีรัตน์ คำอ้วน) ดาราดาวร้ายเจ้าของฉายา "ถ้าจะเอาทุเรียนตบหน้าขอให้มาทั้งลูก" ก็กลับมางานเลี้ยงรุ่นครั้งนี้ด้วย เพชร (เป้-ทวีฤทธิ์ จุลละทรัพย์) จ่าตำรวจที่ตั้งใจจะรักษาความสงบอยู่ที่หมู่บ้านแห่งนี้ และ ปิติ (วิทย์-พชรพล จั่นเที่ยง) นักธุรกิจหนุ่ม ซึ่งไม่เคยคิดจะหวนกลับมาบ้านเกิดแห่งนี้เลย ถ้าเขาไม่ประสบความสำเร็จ แต่ครั้งนี้ เขาเลือกกลับมางานเลี้ยงด้วยเหตุผลอะไรบางอย่าง
...
งานเลี้ยงรุ่นก็คงจะเลิกราไปตามปกติ ถ้าทั้งหมดไม่บังเอิญเข้าสถูป แล้วเดินทาง ย้อนเวลากลับไปเจอตัวของพวกเขาในวัยเด็ก การผจญภัยเพื่อช่วยเหลือพวกเขาในวัยเด็กจากแก๊งพ่อค้ายา (เอ็ม-อภินันท์ ประเสริฐวัฒนกุล) จึงเกิดขึ้นโดยที่เขาไม่รู้เลยว่าการเดินทางมาอดีตในครั้งนี้นั้นจะเปลี่ยนแปลงความคิดเขาและอนาคตของพวกเขาไปตลอดกาล... และในครั้งนี้ "ทีมข่าวบันเทิง ไทยรัฐออนไลน์" รวบรวมเรื่องราวบางส่วนของละครเวทีเรื่องนี้จากผู้ที่เกี่ยวข้อง ก่อนที่จะได้ชมกันจริงๆ ในเดือน มี.ค.นี้มาฝากกัน


...
อาจารย์รัชนี ศรีไพวรรณ ผู้เขียนแบบเรียนภาษาไทย "มานีและชูใจ" เผยว่า รู้สึกดีใจที่มานีและชูใจกลับมาในรูปแบบละครเวทีอีกครั้ง และประทับใจที่หลายคนยังจำหนังสือเรียนมานีและชูใจได้ และได้รับอานิสงส์มากมายจากหนังสือเรียนเหล่านี้ พร้อมทั้งบอกว่า อยากให้ทุกคนนำแบบอย่างความดีของทุกตัวละคร ไปใช้ในชีวิตประจำวันด้วย


"ครูอยากให้ยึดมั่นในสิ่งดีๆ ที่ได้จากหนังสือเรียนไว้ ครูเคยเห็นคนที่มีลูกเขาก็ยังเก็บหนังสือเรียนนี้ไว้อยู่เลย คนที่เคยเรียนอายุมากที่สุดรู้สึกจะอายุ 40 กว่าปีค่ะ แล้วคนที่ซื้อเนี่ยเขาซื้อกันแพงๆ ราคา 1,500 บาทก็มี เห็นขายกันในอินเทอร์เน็ต ครูเคยเห็นแล้วตกใจ แต่ตอนนี้ในอินเทอร์เน็ตก็มี ไม่ต้องไปซื้อแล้ว (ยิ้ม) ดีใจที่ตอนเขียนจบชุดแรกแล้วเขาประเมินผลออกมาว่าเด็กได้ความรู้ตามที่เขาต้องการ เราภูมิใจตั้งแต่ตอนนั้นแล้ว มันดีใจ มีความสุขค่ะ ครูจะบอกว่าอานิสงส์จากมานะมานีเนี่ยทำให้ครูได้รับประโยชน์มากเลย ครูไปหาหมอ หมอเคยเห็นรูปครูในทีวีแล้วถามว่าใช่รึเปล่า พอบอกว่าใช่ เขาดีกับครูมากเลย ครูได้รับอะไรมากมายเลยค่ะ (ยิ้ม) ดีใจมาก ถ้าเขาไม่รัก ไม่เห็นว่าหนังสือมีค่าสำหรับเขา เขาคงไม่คิดถึงขนาดนี้
...
มาถึงวันนี้ครูดีใจมากที่ได้เห็นในรูปแบบละครเวทีอีกครั้ง เป็นความคิดสร้างสรรค์ของคนที่เรียนมาแล้วว่าจะให้เพื่อนเขาเป็นยังไงต่อไป เอ๋ (ผู้กำกับ) เขาสร้างสรรค์จากสิ่งที่เราทำไว้ แต่ครูไม่เคยไปแตะต้องอะไรใครเลย ใครจะสร้างสรรค์อะไรก็ให้เขาทำไป ครูไม่เคยก้าวก่ายใครเลย ครูก็บอกเอ๋ว่าไม่ต้องถามครู ครูไม่คิดอะไร แต่เอ๋เนี่ยเวลาเจอครูเนี่ยเขาดีใจมากเลย ก็รู้สึกว่าเด็กคนนี้น่าเอ็นดู ยิ่งเขาจะมาทำละครเวที เราก็สนับสนุนเต็มที่ ก็ตื่นเต้นนะคะที่จะได้เห็น ถามว่ารักตัวละครไหนที่สุด ครูสร้างมาครูก็รักทุกคนค่ะ เห็นชอบถามเยอะแยะว่าอาจารย์คิดเองเหรอชื่อ มานี ครูไม่เคยนั่งทางในเอาชื่อมานะ (ยิ้ม) มันมาตามขั้นตอนการเขียนภาษาไทยค่ะว่าเด็กควรจะเรียนคำอะไรก่อน-หลัง ก็ฝากขอบคุณทุกคนที่ยังมีเพื่อนๆ ต้องเรียกว่าเพื่อนๆ นะ เพราะคุณทราย (อินทิรา เจริญปุระ) บอกว่าเขาไม่เคยคิดว่า มานะ มานี เป็นหนังสือเรียนหรอก คิดว่าเป็นเพื่อน ครูดีใจมากเลยที่เขายังเก็บเพื่อนเขาไว้อยู่ค่ะ"


ด้านผู้กำกับละครเวที เอ๋-ศุภกร เหรียญสุวรรณ บอกว่า ความยากของละครเวทีเรื่องนี้ คือ ตัวละครในแบบเรียนค่อนข้างมีความเพอร์เฟกต์ แต่ต้องดึงความไม่เพอร์เฟกต์ออกมา และสร้างคาแรกเตอร์ตัวละครให้คล้ายกับในแบบเรียน แต่สามารถใช้ในละครเวทีได้ และต้องเป็นคาแรกเตอร์ที่คนดูรู้สึกได้ว่ามีเพื่อนในกลุ่มตนที่มีคาแรกเตอร์แบบนี้


"ละครเรื่องนี้เป็นละครที่ทุกคนตั้งใจมาก เราดีใจที่ทุกคนให้ใจกับละครเรื่องนี้มาก ทุกคนมีแบบเรียนมานีกับชูใจอยู่ในใจแล้ว และทีมงานทุกคนเอ็นจอยที่จะทำละครเรื่องนี้หมด มันเป็นละครที่รวมความฝันความสุขของทุกคนที่อยากจะทำละครเวทีเรื่องนี้ มันค่อนข้างยาก เพราะตอนสมัยเรียนคาแรกเตอร์ตัวละครมันค่อนข้างเพอร์เฟกต์น่ะ แต่เราต้องดึงความแตกต่างของคาแรกเตอร์ทุกตัวละครให้มันไม่เหมือนกันและให้เป็นธรรมชาติที่สุด เพราะคนเราไม่มีใครเพอร์เฟกต์
ดังนั้น เราต้องดึงความไม่เพอร์เฟกต์ของตัวละครออกมาและสร้างคาแรกเตอร์ตัวละครตัวนี้ ให้คล้ายคลึงกับสิ่งที่เราเรียนในแบบเรียน แต่สามารถนำมาใช้ในการทำละครเวทีให้ทรงประสิทธิภาพได้ ทันสมัยขึ้นด้วย เป็นคาแรกเตอร์ที่เพื่อนๆ รับรู้ได้ว่ามีคนในกลุ่มเพื่อนที่มีคาแรกเตอร์แบบนี้ ทำให้สามารถเชื่อมโยงกับคนทุกคนที่มาดูละครได้ ส่วนเนื้อหาเราไม่ได้หยิบจากแบบเรียนมา เราคิดขึ้นเองว่าโตขึ้นเขาจะเป็นอย่างไร แล้วเขาก็ได้ย้อนเวลากลับไปเจอตัวเองในตอนเด็ก ทำให้เขาได้คิดว่าในวัยเด็กเป็นแบบนี้เหรอ แล้วเขาเข้าไปช่วยเหลือตัวเองตอนเด็ก และระหว่างนั้นเขาจะได้เรียนรู้สิ่งต่างๆ จากตอนเด็กว่าโตขึ้นเป็นยังไง ทำไมตอนเด็กเป็นแบบนี้ เป็นเหมือนการย้อนเวลาให้เราคิดถึงสมัยเด็กๆ ให้เราทบทวนตัวเองว่าเราเคยเป็นแบบนี้เหรอ เพื่อจะได้เป็นผู้ใหญ่ที่โตขึ้น"
ในส่วนเนื้อหาละครเวทีบางส่วนที่มีการพาดพิงการเมืองนั้น เอ๋-ศุภกร บอกว่า เป็นมุกตลกเสียดสี ซึ่งเป็นศาสตร์ชนิดหนึ่งที่อยู่ในละครเวที เพื่อทำให้ทุกอย่างมีสีสันขึ้น และเป็นเพียงการเล่าเรื่องเกี่ยวกับบ้านเมืองในอดีตและปัจจุบันเท่านั้น ไม่ได้เจาะจงว่าใคร พร้อมทั้งยืนยันว่า ละครเวทีเรื่องนี้มีเนื้อหาครบรสแน่นอน


"ในเรื่องเนื้อหาบางส่วนที่มีเรื่องการเมืองเข้ามา คือ ด้วยความที่ผมโตมาจากละครสถาปัตย์ แล้วเรารู้สึกว่าการอิงเรื่องเกี่ยวกับบ้านเมือง เป็นสิ่งที่คิดว่าคนดูดูแล้วจะรู้สึกว่าอิน สนุกดี มันเป็นมุกตลกเสียดสีที่เป็นศาสตร์ชนิดนึงที่มีอยู่ในละครเวที และทำให้มีสีสันขึ้น ฉะนั้น ก็น่าจะใส่เข้าไปในละครเวทีเรื่องนี้ และโดยตัวเราเองเป็นคนเขียนบท เราก็อยากมีแมสเสจที่อยากจะบอก ในละครเวทีเรื่องนี้จะบอกว่าเมื่อปี 2538 จะเป็นช่วงที่บ้านเมืองเรารุ่งโรจน์ และหวังว่าจะเป็นเสือตัวที่ 5 ของเอเชีย ตลาดหุ้นพุ่งสูงถึง 1,485 จุด แต่พอดี 2539-40 เป็นช่วงฟองสบู่แตก หลังจากนั้นประเทศเราก็ลงมาตลอด
ฉะนั้น ตัวละครปี 2538 ก็จะถามตัวละครปี 2557 ว่าเป็นยังไง เขาก็คาดหวังว่ามันจะดีมากเลย ไหนเล่าให้ฟังหน่อยสิ แต่ตัวละครปี 2557 ก็จะบอกว่ามันไม่ได้เป็นอย่างนั้น เราก็ไม่ได้ทำอะไรมาก ก็แค่เล่าว่าปี 2557 มันเกิดอะไรขึ้นเท่านั้นเอง ถามว่ากลัวไหมว่าจะมีคนบางส่วนที่ไม่พอใจ ผมก็พยายามทำให้เซฟมากนะ เพราะว่าถ้าเอาจริงๆ ผมไม่ได้พูดถึงใครเลยนะ ใครจะว่ายังไงก็แล้วแต่เขา แต่ผมรู้สึกว่าในละครเวที หรือหนัง เวลาที่เขาทำมันก็มีการเสียดสี แต่การเสียดสีเนี่ยมันมีศิลปะในการเสียดสี ฉะนั้นคนทีสนุก หรือมีนิสัยการเสียดสี ก็จะเข้าใจว่าการเสียดสีมันเป็นศิลปะ เราต้องทำยังไงให้คนรู้สึกว่าคิดไปต่อแล้วเออ...จริง แต่เราไม่ได้จะว่าใคร แต่มันเกิดขึ้นแล้วเท่านั้นเอง ซึ่งมันไม่ได้เกิดจากตัวคนเดียวหรอก เราก็รู้ว่ามาจากหลายๆ คนที่ทำให้เป็นแบบนั้น ฉะนั้น ไม่ได้เจาะจงใคร เราแค่เล่าข้อเท็จจริงให้ฟัง ละครเวทีเรื่องนี้ครบรส มีทั้งสนุก ตื่นเต้น แอ็กชั่น ตลก ดราม่า ปรัชญา ชีวิต แต่จะเป็นยังไงก็อยากให้มาดูกันเยอะๆ ครับ"
ส่วนนักแสดงสาวเจ้าบทบาท นุ่น-ศิรพันธ์ วัฒนจินดา ผู้รับบท "มานี" เด็กสาวเรียนเก่ง ฉลาด ว่องไว รักการเรียน เมื่อโตขึ้นก็เลือกอาชีพเป็นคุณครู ก็บอกว่า บทนี้ค่อนข้างไกลตัว แต่โชคดีที่มีคุณแม่เป็นคุณครู เลยมีต้นแบบใกล้ตัวให้ได้เห็นมาตลอด 30 กว่าปี ส่วนเนื้อหาบางส่วนที่พาดพิงการเมืองนั้น ตนมองว่าเป็นงานแสดงที่ต้องถ่ายทอด และไม่ได้ไปทำร้ายใคร แต่มันเป็นการถ่ายทอดเรื่องราวความเป็นไปของสังคมเสียมากกว่า

"เรื่องนี้รับบทเป็นมานี เป็นคุณครูค่ะ คาแรกเตอร์มานีตอนเด็กจะเรียนเก่ง ฉลาด แอบมีแก่นเซี้ยวบ้างเพราะเป็นคนว่องไว เป็นหัวหน้าห้อง รักการเรียน เป็นเด็กดีของครูค่ะ พอไปเรียนต่อก็ได้เกียรตินิยมและกลับมาเป็นคุณครูที่หมู่บ้านของตัวเอง คาแรกเตอร์ก็ค่อนข้างห่างไกล แต่โชคดีที่ได้คุณแม่เป็นคุณครูอยู่แล้ว ก็เลยซึมซับคาแรกเตอร์ของคุณครู คุณแม่จะเป็นคุณครูตั้งแต่ในบ้าน ก็โชคดีที่มีต้นแบบค่ะ แต่คาแรกเตอร์ไกลตัว เพราะเป็นคนพูดจาไม่ค่อยรู้เรื่องมาก พอมาเล่นเรื่องนี้น้องชายจะแซว เพราะต้องฟิตติ้งใส่ชุดคุณครูแล้วส่งไปให้ดู เขาก็แซวว่านี่แม่นี่ (ยิ้ม) เรื่องนี้ยากตรงนี้เป็นคนที่คนที่ได้เรียนจะมีภาพมานี ชูใจ ปิติ เพชร ในใจ ดังนั้น การที่จะถ่ายทอดให้มันมีกลิ่นอายของมานีตั้งแต่เด็กและให้ซึบซับมาถึงตอนโตมันยาก ต้องทำการบ้านเยอะค่ะ นุ่นอยากให้คนดูดูแล้วเชื่อและรู้สึกย้อนวัยเยาว์ ไม่เสียอรรถรส และตรงตามที่เขาจินตนาการไว้ นุ่นว่าสิ่งที่เราแต่งเติมเข้าไปก็เพื่ออรรถรส แต่แฝงไปด้วยสาระ
ส่วนเรื่องเนื้อหาที่พาดพิงการเมืองนั้น นุ่นว่าแล้วแต่มุมมองมากกว่า เพราะตอนนุ่นอ่านบทก็รู้สึก คนรอบข้างก็เป็นห่วง แต่นุ่นว่าเราต้องอยู่บนโลกของความเป็นจริงค่ะว่ามันคือ งานแสดงที่เราต้องถ่ายทอด และเราไม่ได้ไปทำร้ายใคร ไม่ได้ทำให้ใครรู้สึกเสียเลือดเนื้อ หรือเจ็บช้ำน้ำใจ มันเป็นการถ่ายทอดเรื่องราวความเป็นไปของสังคม มันเป็นการจิกกัด ซึ่งอยู่ในเกณฑ์ที่รับได้ เพราะถ้ารับไม่ได้จริงๆ บอกตรงๆ ว่า นุ่นก็คงตะขิดตะขวงใจที่จะเล่น นุ่นว่าเราควรที่จะเรียนรู้ด้วยวิจารณญาณของตัวเองค่ะ
ก็อยากฝากถึงคนที่เคยได้เรียนว่า อยากให้กลับมาหวนรำลึกถึงวัยเยาว์ค่ะว่า ครั้งหนึ่งเราเคยมีเพื่อนชื่อ มานี ชูใจ เพชร ปิติ ซึ่งโลดแล่นในความทรงจำของพวกเราค่ะ พวกเขากลับมาแล้วก็อยากให้มาดูมาสนุกกัน ส่วนคนที่ไม่เคยเรียนก็อยากให้มาซึมซับบรรยากาศว่าสมัยก่อนมีแบบเรียนนี้ อย่างน้อยทำให้นึกถึงความเป็นเพื่อน ความรู้สึกของเพื่อนตอนเด็กๆ ว่าเป็นยังไงค่ะ"
ปิดท้ายที่นักแสดงสาวอารมณ์ดี เอ๋-มณีรัตน์ คำอ้วน เผยถึงบท "ชูใจ" นักแสดงสาวลุคลั้นลา สดใส คิดอะไรพูดอย่างนั้น ว่า ค่อนข้างยาก เพราะไม่เคยเล่นละครเวทีคอมเมดี้มาก่อน ส่วนเรื่องเนื้อหาที่พาดพิงการเมืองนั้นตนไม่กังวล เพราะมองว่าเป็นสีสันมากกว่า และรู้สึกว่ามีบางอย่างที่เป็นความจริงแฝงอยู่ด้วย
"เรื่องนี้รับบทเป็นชูใจค่ะ คาแรกเตอร์ก็เป็นนักแสดง เรื่องนี้ทุ่มสุดชีวิตมาก ทำการบ้านหนักมากจริงๆ เราทำงานกันเป็นทีมจริงๆ ก็มานั่งคุยกันว่า คำนี้มันตีความหมายได้ยังไงบ้าง จังหวะเป็นยังไง ด้วยความที่ไม่เคยเล่นละครเวทีคอมเมดี้มาก่อนด้วยค่ะ เรื่องนี้คาแรกเตอร์จะดูลั้นลา สดใส ชอบสร้างความสัมพันธ์ค่ะ ชูใจจะไม่ได้อยู่กับคุณพ่อคุณแม่ตั้งแต่เด็ก จะอยู่กับคุณย่า และมีมานีที่เป็นคนเจ้าเหตุผลเป็นเพื่อน ก็จะมีความอบอุ่นอยู่แล้ว แต่เรื่องความอบอุ่นอีกแบบนึง คือ แค่อยากหาคนที่อยู่ข้างๆ แล้วรักเราจริงๆ ค่ะ ก็ต้องมาดูค่ะว่าทำไมชูใจถึงเป็นแบบนี้
ถามว่าบทนี้ดูสดใสใกล้เคียงเราไหม ก็ประมาณนึงค่ะ แต่ชูใจจะต่างตรงที่คิดอะไรก็พูดอย่างนั้นเลย แต่เอ๋จะประมวลผลก่อนจะพูด ชอบกล้าแสดงออกค่ะ จะมีความสุขกับงานที่ทำ มีความสุขกับการพรีเซ็นต์ ถามว่ายากตรงไหนก็ยากตรงที่จังหวะนี่ล่ะ เพราะชูใจเป็นบทที่ต้องใช้จังหวะเยอะมากและต้องใช้จังหวะที่คม มีความสดใส ต้องใช้พลังเยอะมาก ส่วนเนื้อหาเสียดสีการเมืองนั้น มันเป็นสีสันกรุบกริบมากกว่า ถามว่ามีกังวลไหมไม่ค่ะ รู้สึกว่ามันเป็นสีสัน หนูรู้สึกว่ามันมีบางอย่างที่เป็นความจริง ความจริงเป็นสิ่งไม่ตายเนอะ ก็ลองมาดูกันค่ะ มันเป็นสีสัน อย่าไปคิดมากเลย