ก่อนจะเขียนคอลัมน์ซอกแซกประจำ สัปดาห์นี้ หัวหน้าทีมซอกแซกต้องขออนุญาตขอบคุณหลายๆท่านที่กรุณาส่งของขวัญปีใหม่มากมายเหลือเกิน ทั้งๆที่เคยเขียนไว้หลายครั้งแล้วว่าอย่าส่งมาเลย

รักกันคิดถึงกันขอแค่ ส.ค.ส.แผ่นเดียวก็พอแล้ว ผมจะได้เอาไปห้อยไว้ที่ข้างฝาโต๊ะทำงานที่บ้าน นั่งดูนั่งชมด้วยความขอบคุณไปจนถึงเดือนเมษายนขึ้นปีใหม่ไทยๆ เรียบร้อยค่อยปลดลงใส่ กล่องเก็บไว้เป็นที่ระลึก

เมื่อหลายๆท่านยังกรุณาส่งนู่นนี่มาให้ก็คงต้องรับไว้ และก็ขอเรียนว่าอะไรที่แบ่งปันได้ ก็จะแบ่งปันให้แก่เพื่อนร่วมงานที่มีส่วนช่วยเหลืออยู่ข้างหลัง และก็ได้ดำเนินการไปเป็นส่วนใหญ่แล้ว

ขอเรียนอีกครั้งนะครับว่า  ถ้ายังรักกันอยู่ปีหน้าปีโน้นขอ ส.ค.ส.แค่แผ่นเดียวจะขอบคุณเป็นที่สุดเลยเชียว

แต่สำหรับปีนี้มีของขวัญอยู่ 2 ชิ้น ที่ผมต้องขออนุญาตนำมาเขียนต่อเพื่อที่จะเป็นตัวอย่างของการให้ของขวัญในบ้านเราต่อไปในอนาคต

เพราะจะเป็นการให้ที่ไม่ขัดแย้งต่อการรณรงค์ของกระทรวงสาธารณสุข และขณะเดียวกันก็จะเป็นการให้ที่มีส่วนช่วยเหลือพี่น้องชาวนา กระดูกสันหลังของประเทศชาติที่ตากแดดตากฝนอยู่ในท้องนาปลูกข้าวเลี้ยงพวกเรา นั่นก็คือของขวัญที่เป็น “ข้าวสารถุง” น่ะครับ

ผมได้รับมาจาก 3 ท่าน ต้องขอเอ่ยนามไว้ ณ ที่นี้ โดยชิ้นแรก ลงนามมาด้วยกัน 2 ชื่อ ได้แก่ คุณปรีชา เลาหพงศ์ชนะ กับ คุณสิทธิชัย โควสุรัตน์

ส่วนชิ้นที่ 2 ลงชื่อมาเรียบร้อยแต่ต้องขออภัยว่าผมเอา ส.ค.ส.ของท่านไปแขวนที่บ้านเสียแล้ววันนี้มานั่งเขียนที่โรงพิมพ์ เกรงว่าจะเขียนผิด ขออนุญาตแจ้งเป็นองค์กรของท่านแทนก็แล้วกัน ได้แก่ บริษัทข้าว ซี.พี. จำกัด ผู้ผลิตข้าว ตราฉัตร นั่นเอง

ที่ประทับใจมากจนต้องหยิบมาเขียนวันนี้ก็คือข้อมูลที่แนบมานั่นแหละครับ อย่างเช่นของคุณปรีชา เลาหพงศ์ชนะ กับ คุณสิทธิชัย โคว-สุรัตน์ แม้จะไม่ได้เขียนอะไรมากมาย นอกจากคำว่า “สวัสดีปีใหม่ 2557” แต่ข้อมูลที่อยู่ข้างถุง ผมอ่านแล้วปลื้มใจมาก

เป็นข้าวหอมมะลิ “ส.เขมราฐ” จากจังหวัดอุบลราชธานีครับ เขียนข้อความเอาไว้ว่า“ข้าวหอมมะลิ ส.เขมราฐ เป็นข้าวหอมมะลิที่คัดสรรจากพันธุ์ขาวดอกมะลิ 105 ที่มีชื่อเสียงที่สุดของประเทศไทย

จึงมีความหอม ความนุ่ม ที่คุณสัมผัสได้ถึงความแตกต่างจากข้าวหอมมะลิทั่วไป ยิ่งไปกว่านั้นด้วยความพิถีพิถันในทุกขั้นตอนการผลิตนับตั้งแต่การมอบพันธุ์ข้าวที่เลือกพิเศษให้เกษตรกรนำไปปลูกแล้ว ข้าวหอมมะลิ ส.เขมราฐ ยังจัดทีมงานตรวจสอบและดูแลทุกขั้นตอนการปลูกของเกษตรกรอย่างใกล้ชิด ไปจน ถึงการเก็บเกี่ยวสิ้นสุดลงในช่วงต้นฤดู

ข้าวหอมมะลิ ส.เขมราฐจึงเป็นข้าวที่มีความหอม ความนุ่มเป็นพิเศษ ฯลฯ”

แม้จะเป็นถ้อยคำโฆษณาแต่ก็เป็นคำโฆษณาที่น่ารัก เสียดายว่าเนื้อที่ผมมีน้อยก็เลยคัดลอกมาลงได้เพียงเท่านี้

ในช่วงท้ายสุดของถุง เขาเขียนว่า “ปลูกโดยกลุ่มสมาชิกชาวนาเกษตรอินทรีย์ ส.เขมราฐ จ.อุบลราชธานี ผลิตจากโรงสีข้าว ส.เขมราฐ บริษัท เอสเค.กรีน อโกร โปรดักส์ จำกัด เลขที่ 199 หมู่ 13 ถนนอุบล-ตระการ ต.หัวนา อ.เขมราฐ จังหวัดอุบลราชธานี โทร. 0-4521-9155-7”

ผมชอบท่อนนี้แหละครับเพราะอ่านแล้วก็เห็นภาพเลยว่าผลิตผลนี้มาจากท้องนาจังหวัดอุบลราชธานีร้อยเปอร์เซ็นต์

ส่วน ข้าวตราฉัตร ของบริษัทข้าว ซี.พี.นั้น ความจริงก็ไปปลูกที่ต่างจังหวัดเช่นกัน ให้ข้อมูลว่าปลูกที่อำเภอราศีไศล จังหวัดศรีสะเกษแห่งหนึ่งที่อำเภอม่วงสามสิบ จ.อุบลฯอีกแห่งหนึ่ง รวมทั้งยังมีที่อำนาจเจริญกับที่ยโสธรอีกด้วย

ที่ผมชอบข้อแรกก็คือ ข้าวตราฉัตรเขามุ่งขายต่างประเทศด้วย จึงแปลให้ทราบว่า “ฉัตร” นั้นคืออะไร

ผมอาจจะอ่านหนังสือภาษาอังกฤษมาบ้างพอสมควร แต่ก็มักเป็นตำราเศรษฐศาสตร์เสียเป็นส่วนใหญ่จึงไม่ทราบศัพท์ด้านอื่นๆมากนัก

พออ่านหน้าถุงข้าวสารเห็นคำว่า ข้าวตราฉัตร แล้ววงเล็บภาษาอังกฤษว่า Royal Umbrella ก็ร้องอ๋อ ชื่นชมว่าเขาแปลได้ตรงเป๊ะ เพราะ “ฉัตร” ก็คือ “ร่ม” ของเจ้านายหรือของพระราชวงศ์ต่างๆนั่นเอง

อย่างที่ 2 ที่ผมชอบมากและขอบคุณมากก็คือ เอกสารว่าด้วย “ข้าวหอมมะลิ” เล่มเล็กๆที่แนบมาด้วย

ทำให้ทราบว่า “วีรบุรุษ” คนหนึ่งของประเทศ ไทยที่ค้นพบ “พันธุ์ข้าวหอมมะลิไทย” ได้แก่ คุณสุนทร สีหะเนิน อดีตข้าราชการของกรมการข้าว กระทรวงเกษตรและสหกรณ์ ที่ต่อมาได้รับปริญญา เอกกิตติมศักดิ์จากมหาวิทยาลัยแม่โจ้ สถาบันที่ท่านเล่าเรียนจบชั้นเตรียมมหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ แต่มิได้เรียนต่อ เพราะได้ตัดสินใจเข้ารับราชการทันที

คุณปู่สุนทร หรือ ดร.สุนทร สีหะเนิน ปัจจุบันอายุ 90 ปีแล้ว เป็นผู้นำข้าวขาวดอกมะลิจากนาของ “หมอเล็ก” นาย ดาวราย ทับเจริญ แพทย์ประจำตำบลท่าทองหลาง อ.บางคล้า จ.ฉะเชิงเทรา ซึ่งเป็น ข้าวดอกมะลิขนานแท้ทั้งหอมทั้งขาวไปทดลองต่อ พร้อมกับส่งมอบให้แก่นักวิชาการข้าว ของกรมการข้าวนำไปเพาะพันธุ์เพิ่มขึ้นตั้งแต่ พ.ศ.2492

ด้วยความสามารถของกรมการข้าวในที่สุดก็พัฒนาจนกลายเป็น “ข้าวขาวดอกมะลิ 105” ต้นตำรับของข้าวหอมมะลิมาจนถึงบัดนี้

ต้องขอขอบคุณคุณปู่สุนทรและขอขอบคุณกรมการข้าวไว้ด้วยสำหรับการค้นพบและการพัฒนา อันยิ่งใหญ่ของท่านทั้งหลายจนทำให้ข้าวของไทยเป็น ข้าวที่ดีที่สุดของโลกชนะการประกวดมาหลายครั้ง

ไม่เพียงแต่ข้าวหอมมะลิเท่านั้น ยังรวมถึงข้าว ก.ข.ต่างๆที่เป็นฝีมือของทุกๆท่านในกรมนี้ ที่ทำงานปิดทองหลังพระมาโดยตลอด

ขอสรุปว่าปีใหม่ “ให้เหล้าเท่ากับแช่ง...” “ให้ขนมหวานก็ประหารผ่อนส่ง...” ดังนั้น “ให้ข้าวสารจึงดีที่ซู้ด” เพราะเป็นการช่วยชาวนา โดยตรงดีกว่าจำนำข้าวแน่นอน.

...


“ซูม”