เปิดยุทธการ "IO" ผ่านโซเชียลมีเดีย หว่านพืชหวังผลการข่าว ปลุกกระแสมวลชน ยึดครองอำนาจและประโยชน์ ไม่ใช่เพิ่งเกิด แต่มีมาแต่ยุคโบราณ!!!...

เฟซบุ๊ก อะพอลโล 11 และ สนามรังนกของจีน มีอะไรที่เหมือนกัน?

คำตอบคือ IO

IO หรือ Information Operation คือ ยุทธการทางข้อมูลข่าวสาร โดยการใช้โครงข่ายอินเทอร์เน็ตและอิเล็กทรอนิกส์, จิตวิทยามวลชน และภาพมายาทางทหาร เพื่อสร้างอิทธิพลในการตัดสินใจของฝ่ายตรงข้าม โดยการควบคุมข้อมูลข่าวสารที่ศัตรูได้รับ

เทคนิคเหล่านี้ถูกนำมาใช้ตั้งแต่ยุค กษัตริย์อเล็กซานเดอร์มหาราช ที่รักษาการควบคุมประเทศราช โดยการให้ปัญญาชนของประเทศที่ถูกยึดครองเหล่านั้น เข้าร่วมรัฐสภาของจักรวรรดิกรีกโบราณ หรือแม้แต่กษัตริย์ เจงกิสข่าน มหาราช ที่สั่งให้ทหารไปจุดไฟ 3 กอง แทนที่จะเป็นกองเดียว เพื่อข่มขวัญศัตรู

หรือแม้กระทั่งกรณีของยานอะพอลโล 11 ที่มีนักวิชาการจำนวนมาก ออกมาตั้งคำถามว่า ยานอะพอลโล 11 นั้น ได้ลงถูกพื้นผิวดวงจันทร์จริงหรือไม่ หรือเป็นเพียงภาพมายาที่รัฐบาลสหรัฐฯ สร้างขึ้น เพื่อข่มขวัญสหภาพโซเวียตในยุคสงครามเย็น เพราะจากภาพเคลื่อนไหวนั้น ไม่เป็นไปตามกฎฟิสิกส์

จากหลักฐานเหล่านี้จะเห็นว่า รัฐบาลทั่วโลกต่างให้ความสำคัญในการควบคุมข้อมูลข่าวสารเป็นอย่างมาก บางรายทำเกินขอบเขตที่สาธารณชนจะยอมรับได้ก็มี อย่างเช่นกรณีของ นายเอ็ดเวิร์ด สโนว์เดน ที่ออกมาแฉข้อมูลความพยายามของรัฐบาลสหรัฐฯ ในการดักฟังผู้นำทั่วโลก จนทำให้เกิดความขัดแย้งกับรัฐบาลเยอรมนี ซึ่งรวมถึงความสัมพันธ์ที่ถดถอยของอินโดนีเซียกับออสเตรเลีย ที่มาจากสาเหตุการแอบดักฟังโทรศัพท์เหมือนกัน

นอกจากนี้ ในเอกสารที่ นายเอ็ดเวิร์ด สโนว์เดน นำออกมาแฉนั้น ยังอธิบายถึงการที่องค์กรด้านความมั่นคงสหรัฐฯ สนับสนุนเงินทุนจำนวนมาก ให้กับบริษัทชั้นนำต่างๆ ที่ให้บริการบนอินเทอร์เน็ต ไม่ว่าจะเป็น Facebook, Twitter, Yahoo, Microsoft และ Apple เพื่อเข้าถึงข้อมูลผู้ใช้บริการทั่วโลก ซึ่งถ้ามองดูดีๆ นี่ถือเป็นภัยทางความมั่นคงของทุกประเทศทั่วโลก

การลุกฮือของประชาชนจนล้มล้างรัฐบาลได้สำเร็จ ของหลายประเทศในตะวันออกกลาง หรือที่รู้จักกันในชื่อ ‘อาหรับสปริง’ ส่วนหนึ่งมาจากอินเทอร์เน็ตที่ประชาชนใช้ในการสื่อสาร ซึ่งรัฐบาลไม่มีความสามารถ หรืออำนาจในการปิดการสื่อสารประเภทนี้ จนทำให้ถูกโค่มล้มไปในที่สุด

ขณะที่ไทย เว็บไซต์ Facebook ยังทราบข้อมูลเกี่ยวกับประชาชนชาวไทยมากกว่ารัฐบาล ซึ่งทราบแม้กระทั่งใครเป็นเพื่อนกับใครและกำลังจีบใครอยู่

รัฐบาลจีน ซึ่งเป็นคู่แข่งสำคัญของสหรัฐฯ ต่างตระหนักถึงปัญหานี้ดี จึงไม่อนุญาตให้เว็บไซต์อย่าง Facebook, Twitter หรือแม้กระทั่ง Google ที่มีสัญชาติอเมริกัน ให้บริการกับประชาชนของตัวเอง แต่กลับให้บริษัทจีน ทำการเปิดเว็บไซต์ใหม่ที่ให้บริการใกล้เคียงกัน จึงทำให้รัฐบาลจีนยังสามารถควบคุมข้อมูลบนอินเทอร์เน็ตได้ ซึ่งก็เป็นดาบสองคม เพราะประชาชนชาวจีนอาจถูกลิดรอนสิทธิการแสดงออก เช่น กรณีของนายอ้าย เหวยเหวย ศิลปินเบอร์ 1 ของจีน ผู้ร่วมออกแบบปักกิ่งสเตเดี้ยม (Beijing National Stadium) หรือที่หลายๆ คนเรียกว่า "สนามรังนก" (Bird's Nest ที่เลื่องชื่อในการแข่งขันโอลิมปิก ยังถูกจับกุม หลังทำผลงานศิลปะลงในอินเทอร์เน็ตประชดประชันรัฐบาลจีน ในเรื่องประชาธิปไตยและสิทธิมนุษยชน

สงครามทางข้อมูลข่าวสารเหล่านี้ คงจะมีแต่ทวีพูลเพิ่มความเข้มข้นขึ้นในยุคไร้พรมแดน ซึ่งประเทศไทยเอง หลังจากที่ นายสุเทพ เทือกสุบรรณ เลขาธิการคณะกรรมการประชาชนเพื่อการเปลี่ยนแปลงประเทศไทยให้เป็นประชาธิปไตยที่สมบูรณ์อันมีพระมหากษัตริย์ทรงเป็นประมุข (กปปส.) ได้ประกาศว่า ในวันที่ 13 ม.ค. 2557 นี้ จะทำการปิดกรุงเทพฯ โดยปิดจุดใหญ่ทั่วกรุง 7 จุด พร้อมเชิญชวนมวลชนมาร่วมล้มระบอบทักษิณ และเรียกร้องให้มีการปฏิรูปก่อนการเลือกตั้ง ก็เต็มไปด้วยข่าวลือหนาหูเกี่ยวกับการ "รัฐประหาร" เพราะแม้แต่ พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา ผู้บัญชาการทหารบก ก็ออกมาให้สัมภาษณ์ แต่กลับไม่ชี้ชัดว่า จะไม่ก่อการยึดอำนาจรัฐประหารแต่อย่างใด จนยิ่งทำให้เกิดการปั่นกระแสข่าวนี้ผ่านโซเชียลมีเดียกันทุกแบบ โดยนำไปโยงกับการเคลื่อนกำลังทหารและอาวุธยุทโธปกรณ์มาเตรียมสวนสนามในวันกองทัพไทย และการพยายามขุดคุ้ยถึง “Master Mind” ตัวจริงที่อยู่เบื้องหลังมวลชน

การปฏิบัติการข่าวสาร (Information Operation: IO) แม้จะเป็นการปฏิบัติการที่ฝ่ายหน่วยงานความมั่นคง เช่น ทหารนำมาใช้ โดยมีจุดมุ่งหมายเพื่อจัดการข้อมูลข่าวสารทั้งของฝ่ายตนเอง และฝ่ายตรงข้าม ให้เป็นเครื่องมือสร้างความได้เปรียบฝ่ายตัวเองในการทำศึกสงคราม หรือการต่อสู้เพื่อเอาชนะฝ่ายข้าศึกศัตรู หรือฝ่ายตรงข้ามนั่นเอง

แต่สิ่งที่ปรากฏท่ามกลางสงครามสื่อสารมวลชนอยู่ในขณะนี้ คือ การปล่อยข่าวลับ แพร่ข่าวลวง การบิดเบือนข่าวสารอย่างหนัก ในช่วงหัวเลี้ยวหัวต่อทางการเมือง ก็น่าจะทำให้ทุกฝ่ายตระหนักถึงและให้ความสำคัญกับการใช้ปฏิบัติการ "IO" เพื่อชิงไหวชิงพริบ ชิงความได้เปรียบกันมากยิ่งขึ้นไปอีก.

...