หากเทียบกับอดีต ปฏิเสธไม่ได้ว่า ประเด็นเรื่อง "รักร่วมเพศ" ถือเป็น "สิ่งต้องห้าม" ในสังคมกีฬา ดังจะเห็นได้จากประสบการณ์อันเจ็บปวดของ เหล่าฮีโร่ไม่กี่คน ที่กล้าออกมายอมรับว่า เป็นชาวเกย์-เลสเบี้ยน
ที่ฮือฮาเป็นข่าวดังไปทั่วโลกก็คือ "จัสติน ฟาชานู" นักบอลผิวสีจากอังกฤษ ที่ต้องจบชีวิตตัวเองด้วยวัยเพียง 37 ปี เพราะกดดันจากกระแสต่อต้านของสังคมในยุคนั้น
แม้ในช่วงสิบปีหลัง ทัศนคติของคนทั่วไปต่อกลุ่มหลากหลายทางเพศ เปลี่ยนแปลงไปในเชิงบวกมากขึ้น หลังจากนักกีฬาชื่อดังหลายคน กล้าออกมาเปิดเผยเป็นชาวรักร่วมเพศอย่างไม่ขาดสาย เช่น "ทอม เดลีย์" นักกระโดดน้ำหนุ่มหล่อชาวสหราชอาณาจักร และล่าสุด "โธมัส ฮิตเซิลซ์แพร์เกอร์" อดีตนักบอลชาติเยอรมนี เป็นต้น ซึ่งทั้งคู่ต่างก็ได้รับการให้กำลังใจ มากกว่าความเกลียดชังอย่างเช่นแต่ก่อน
แต่กระแสโลกเช่นนี้ สังคมกีฬาของไทย พร้อม "ยอมรับ" และ "เข้าใจ" แล้วหรือยัง? วันนี้ "ทีมข่าวกีฬาไทยรัฐออนไลน์" จึงขอพาไปเจาะลึก ความคิดเห็นจากปากเจ้าตัวเกี่ยวกับประเด็นนี้กัน...
"น้องตุ้ม" ปริญญา เจริญผล นักมวยไทยสาวประเภทสองชื่อดัง
อดีตนักมวยไทย "นะยะ" ได้ชื่อว่าเป็นนักกีฬาชาวไทยคนแรกที่กล้าออกมายอมรับตัวตนที่แท้จริงต่อสาธารณะ จนชีวิตถูกนำไปสร้างเป็นภาพยนตร์ "บิวตี้ฟูล บ็อกเซอร์" สร้างความฮือฮาไปทั่ววงการเมื่อหลายสิบปีก่อน โดย "น้องตุ้ม" มองว่า สังคมไทยทุกวันนี้ เปิดรับเรื่องเพศที่ 3 กว้างมากขึ้น แต่ยังไม่ยอมรับเต็มปาก
...
เปิดกว้าง....แต่ไม่ยอมรับ
เธอเล่าย้อนอดีตว่า "ตุ้ม เป็นนักกีฬามวยไทยคนแรกที่ตัวเป็นชายใจเป็นหญิง ตอนที่ยังไม่แปลงเพศ ร่างกายเรายังเป็นผู้ชาย มีกล้ามเนื้อ แต่จิตใจเราอ่อนโยนเป็นผู้หญิง ตอนแรกไม่กล้าแสดงออก แต่เมื่อตัวเราเป็นอย่างนี้แล้ว จะปิดยังไงก็ไม่อยู่ คนในค่ายก็เริ่มรู้ แต่ว่าเราไม่เคยทำตัวเป็นปัญหา เราอาจจะฝึกหนักกว่าหลายคนเสียอีก เขาก็ค่อยๆ เห็นและไม่ว่าอะไร"
"แต่เวลาตุ้มขึ้นชก เราก็เคยเจอคู่ต่อสู้ที่เป็นผู้ชายดูถูกเหยียดหยามเหมือนกัน ตุ้มโดนมาเยอะ ทั้งคำพูดและการกระทำ แต่เราก็ใช้สิ่งนี้เป็นแรงฮึดให้เราฝึกซ้อมหนัก เวลาขึ้นชกก็ใส่เต็มที่จนตุ้มเป็นฝ่ายเอาชนะพวกเขาได้ ซึ่งนี่ก็พิสูจน์ให้เห็นว่า ไม่ว่าเราจะเป็นอะไร ถ้าเราเตรียมตัวมาดี มีระเบียบวินัย เราก็สู้กับนักกีฬาชายแท้ๆ ได้"
"ตุ้ม มีวันนี้ได้ เพราะได้รับโอกาสจากหลายๆ ท่าน แต่ก็ไม่ได้หมายความว่า สังคมไทย จะยอมรับตัวตนของเราจริงๆ ทุกวันนี้ อาจไม่ได้ดูถูกรุนแรงเหมือนแต่ก่อน จากประสบการณ์ที่ผ่านมา แต่หลายคนก็ยังมีความรู้สึกตะขิดตะขวงใจว่า เราแตกต่างจากคนปกติ เห็นได้ชัดในเรื่องประเด็นของกฎหมายที่เมืองไทย ยังไม่รับรองสิทธิ์ของพวกเรา"
"มด" อรรถพล สอนดี นักกีฬาวอลเลย์บอลชาย สโมสร เชียงราย วีซี และ 1 ในสมาชิกทีมสตรีเหล็ก "Poison Guys" ชุดแชมป์โลก กีฬาชาวเกย์ "World Outgames 2013"
ขณะที่ 1 ในสมาชิกทีมวอลเลย์บอลชาย "เชียงราย วีซี" หรือ สตรีเหล็ก 2 เปิดเผยว่า มีนักกีฬาเพศที่ 3 หลายคนมีความสามารถ จนขั้นถูกเรียกติดทีมชาติไทย แต่ในฐานะตัวแทนประเทศชาติ พวกเขาต้องพยายามควบคุมตัวเอง ไม่ให้แสดงออกมาเกินไปในสนามแข่งขัน
ทีมชาติ ห้ามแสดงออก
...
"โดยส่วนตัว เปิดตัวว่าตัวเองเป็นกะเทยมาตั้งแต่ต้นแล้ว ซึ่งสมัยก่อน นักกีฬาที่เป็นหลายคนก็ไม่ค่อยจะเปิดตัวมากนัก ด้วยอะไรหลายๆอย่าง ครอบครัว สังคม หน้าที่การงาน แต่เดี๋ยวนี้ ก็มีมากขึ้น โดยเฉพาะในกีฬาวอลเลย์บอล ซึ่งเรามองว่า เป็นกีฬาที่เปิดเวทีให้กับสาวประเภทสองได้อย่างเต็มที่"
"อย่างไรก็ตาม ถ้าในระดับทีมชาติ นักกีฬาก็อาจจะต้องให้เกียรติทีมชาติ ไม่แสดงออกมากนักว่าตัวเองเป็นเกย์ เป็นกะเทย อย่างตัวเองก็มีเพื่อน 2 คน อยู่ในทีมวอลเลย์บอลชาย ชุดแชมป์ซีเกมส์ ที่ผ่านมา แต่เขาก็ต้องนิ่งๆ ไว้ ซึ่งโค้ชก็รับรู้เรื่องนี้ แต่ด้วยฝีมือของเขา ก็ยากจะปฏิเสธไม่เรียกเขาติดทีมชาติ"
"นก" ลิขิต นามเสน อดีตนักวอลเลย์บอลหญิงทีมชาติไทย
ทางด้าน "สาวหล่อ" รุ่นแรกๆ ที่กล้าเปิดเผยตัวตนที่แท้จริงของตัวเอง สำหรับ อดีตนักตบลูกยางสาวไทย แชมป์ซีเกมส์ หลายสมัย ในยุคเดียวกับนักตบดัง อย่าง ปริม อินทวงศ์ เมื่อหลายสิบปีก่อน ซึ่งทุกวันนี้ เธอยอมรับว่า ใช้ชีวิตในแบบของตัวเองอย่างมีความสุข กับ "แฟนสาว" คนรู้ใจ หลังจากเลิกเล่น
...
อยากให้มองที่ความสามารถ
"สมัยก่อน นักกีฬาที่มีรสนิยมชอบเพศเดียวกัน ไม่ค่อยจะเยอะ แต่สมัยนี้ ก็มีมากขึ้น รุ่นน้องในทีมวอลเลย์หลายๆ คนที่โตตามกันมาก็มีเยอะ มีทั้งเปิดเผย และไม่ได้เปิดเผย หรือยังไม่แน่ใจก็มี แต่ละคนก็มีเหตุผลแตกต่างกันไป ไม่ใช่เรื่องผิด ส่วนตัวพี่ไม่มีอะไรปิดบังตั้งแต่สมัยเล่นวอลเลย์แล้ว ใครมาแซวว่าเป็นสาวหล่อ มีแฟนผู้หญิง ก็ไม่ได้ปฏิเสธ ทุกคนก็รับได้หมด"
"พี่คิดว่า ถ้าเรามีความสามารถ ไม่ว่าเราจะเป็นอะไร ทุกคนก็ยอมรับในตัวเราได้ เพราะเราไม่สร้างความเดือดร้อนให้ใคร กลับกัน เราเล่นกีฬา กลับสร้างชื่อเสียง คว้ารางวัลต่างๆ ให้กับประเทศชาติมากมาย พี่มองว่า สังคมไทย รวมถึง ในแวดวงกีฬา พร้อมยอมรับในจุดนี้ แต่เราก็ต้องปฏิบัติตัวให้ถูกกาละเทศะด้วย"
...
แค่เรื่องของรสนิยม
"ไม่เฉพาะกีฬา พี่ว่า ทุกสังคมก็มักจะมีคนที่ชอบเพศเดียวกันอยู่หมด จากประสบการณ์ที่พี่อยู่ในกีฬา พี่มองว่า การที่เราได้อยู่กันเป็นทีม ทำกิจกรรมด้วยกันตลอด มันย่อมทำให้เรารู้สึกผูกพัน ซึ่งบางที ณ จุดนั้น หลายคนก็ไม่ได้จริงจัง เพราะว่าไม่มีเวลามาคิด แต่ถ้าวันไหน เลิกเล่นขึ้นมา คงตัดสินใจได้ว่าจะเลือกเดินทางไหน อย่างบางคนแอบปิ๊งเพื่อนกันในทีม แต่พอเลิก ไปแต่งงานมีลูกแล้วก็มี อย่างพี่เคยมีผู้ชายมาจีบ แต่ก็ไม่สน (หัวเราะ)"
"อย่างไรก็ตาม พี่อยากฝากน้องๆ ที่อาจจะเป็นเหมือนเรา หรือยังไม่แน่ใจ ก็อยากให้เป็นตัวของตัวเอง ไม่ใช่เพียงเป็นแค่สร้างกระแส ขนาดพี่หุ่นดูเป็นนักกีฬาเหมือนผู้ชาย แต่พี่ก็ยังคิดว่าตัวเองเป็นเพศหญิงตลอด เพียงแค่รสนิยมในเรื่องความรัก ชอบผู้หญิงด้วยกันแค่นั้น" พี่นก ฝากทิ้งท้าย
โพลชี้ คนไทย รับได้เพศที่ 3
ทางด้าน "นิด้าโพล" สถาบันบัณฑิตพัฒนบริหารศาสตร์ (นิด้า) เปิดเผยผลสำรวจความคิดเห็นของประชาชน เรื่อง "สังคมไทยคิดอย่างไรกับเพศที่ 3" ทำการสำรวจระหว่างวันที่ 15-16 พ.ค.56 จากประชาชนทั่วประเทศ ทุกภูมิภาคของไทย พบว่า ประชาชนส่วนใหญ่ ร้อยละ 88.49 สามารถยอมรับได้ หากมีเพื่อน หรือเพื่อนร่วมงานในองค์กรเป็นเพศที่ 3 เพราะไม่ได้สร้างความเดือดร้อนให้ใคร ขอแค่เป็นคนดี บางคนเก่ง และมีความรู้ความสามารถ สังคมไทยเปิดกว้างและยอมรับมากขึ้น มีเพียงร้อยละ 8.79 เท่านั้น ที่ไม่สามารถยอมรับได้ เพราะเป็นการฝืนธรรมชาติ ส่งผลต่อภาพลักษณ์ขององค์กร
แต่ถ้าหากมีสมาชิกหรือคนในครอบครัวเป็นเพศที่ 3 นั้น ประชาชนส่วนใหญ่ ร้อยละ 77.56 ยอมรับได้ เพราะคนเราไม่สามารถเลือกเกิดได้ ในเมื่อเกิดมาแล้วก็ต้องทำใจยอมรับเพศ ไม่ได้บ่งบอกว่าใครเป็นคนดีหรือไม่ดี ขอแค่เป็นคนดีก็พอ รองลงมาร้อยละ 17.25 ไม่สามารถยอมรับได้ เพราะผิดกฎธรรมชาติ ยังต้องการผู้สืบทอดสกุล และมีพฤติกรรมบางอย่างที่สะดุดตาผู้คนทำให้ทำใจยอมรับไม่ได้
ล้วงลึก เข้าใจ "ชาวสีรุ้ง"
- จากหลักฐานทางประวัติศาสตร์ว่ากันว่า มีชาวรักร่วมเพศเกิดขึ้นครั้งแรกตั้งแต่บรรพกาล ยุคอียิปต์โบราณ หรือยุคก่อนคริสตกาล 2400 ปี ซึ่งสันนิษฐานว่าเป็นคู่รักชายรักชาย ระหว่าง Niankhkhnum กับ Khnumhotep คนรับใช้ในราชสำนัก
- คำว่า "เกย์" (Gay) ในภาษาอังกฤษ หมายถึง ร่าเริง สนุกสนาน และในสังคมต่างประเทศ นำมาใช้เรียกคนที่รักเพศเดียวกัน ทั้งผู้หญิงและผู้ชาย แต่สำหรับ สังคมไทย ส่วนใหญ่หมายถึง กลุ่มชายรักชาย ส่วนกลุ่มหญิงรักหญิงจะใช้คำว่า เลสเบี้ยน
- เราสามารถแย่งแยก เพศได้เป็น 3 หมวดใหญ่ ได้แก่ กลุ่มคนรักเพศต่างกัน (ชาย-หญิง), กลุ่มคนรักเพศเดียวกัน (เกย์-เลสเบี้ยน) และกลุ่ม ทรานเจนเดอร์ หรือ ชายเป็นหญิง หญิงเป็นชาย (กะเทย, ตุ๊ด, ทอม, คนแปลงเพศ)
- ปัจจุบันมีเพียง 20 ประเทศทั่วโลกเท่านั้น ที่มีกฎหมายแต่งงานและรับรองสิทธิ์สำหรับกลุ่มหลายหลายทางเพศ ซึ่ง ประเทศไทย ยังไม่มีกฎหมายนี้
- มีการจัดการแข่งขันกีฬาสำหรับชาวเกย์ 2 รายการใหญ่ๆ ระดับโลก ได้แก่ "Gay Games" และ World Outgames" ซึ่งถูกจัดขึ้นทุกๆ 4 ปี
- บิล ทิลเดน (ค.ศ.1893-1953) ตำนานนักเทนนิสชายมือ 1 โลก และแชมป์แกรนด์ สแลม 10 รายการ ได้ชื่อว่าเป็นนักกีฬาที่มีชื่อเสียงคนแรกของโลกที่เปิดเผยต่อสาธารณชนว่าตัวเองมีพฤติกรรมเป็นชาวรักร่วมเพศ
- ตัวอย่างนักกีฬาชาวรักร่วมเพศชื่อดังระดับโลก ได้แก่ บิลลี จีน คิง กับ มาร์ตินา นาฟราติโลวา 2 ตำนานนักเทนนิสหญิงชาวอเมริกัน, เกร็ก ลูกานิส อดีตยอดนักกระโดดน้ำแชมป์โลก, เหรียญทองโอลิมปิกหลายสมัยชาวอเมริกัน, อเมลี โมเรสโม อดีตนักเทนนิสหญิงมือ 1 ของโลกชาวฝรั่งเศส, สเตซี ซิโกรา อดีตนักวอลเลย์หญิงทีมชาติสหรัฐฯ, แกเรธ โทมัส อดีตนักรักบี้ทีมชาติเวลส์, เจสัน คอลลินส์ นักบาสเกตบอลชาวอเมริกัน, ทอม เดลีย์ นักกระโดดน้ำหนุ่มหล่อชาวสหราชอาณาจักร และ โทมัส ฮิตซ์เซิลส์แพร์เกอร์ อดีตนักฟุตบอลทีมชาติเยอรมนี เป็นต้น.
-ทีมข่าวกีฬาไทยรัฐออนไลน์-
Twitter : Thairath_sport