เชียงใหม่เดินหน้าแผนแม่บทการพัฒนาเมืองน่าอยู่ ในพื้นที่ 24 อำเภอ นำร่องก่อน 4 อำเภอ เน้นคนเป็นศูนย์กลาง ใช้ปรัชญาเศรษฐกิจพอเพียง และเป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อม พร้อมนำการบริหารของประเทศภูฏานเป็นต้นแบบ...
เมื่อวันที่ 23 ก.ย. นายธานินทร์ สุภาแสน ผู้ว่าราชการจังหวัดเชียงใหม่ เปิดเผยว่า ได้จัดทำโครงการแผนแม่บทการพัฒนาเชียงใหม่ ซึ่งได้ดำเนินการตั้งแต่เดือนเม.ย.-ก.ย. 2556 โดยมีมหาวิทยาลัยนเรศวรเป็นที่ปรึกษา เพื่อพัฒนาชุมชนตามกระบวนการพัฒนาชุมชนเชิงนิเวศ (Eco Village) ในพื้นที่เขตเทศบาลตำบลออนใต้ อ.สันกำแพง ให้เป็นพื้นที่ต้นแบบนำร่องของ จ.เชียงใหม่ และจัดทำแนวทางการดำเนินการ เพื่อจัดตั้งตำบลน่าอยู่ หรือชุมชนต้นแบบเชิงนิเวศของจังหวัดในทุกอำเภอ ซึ่งที่ผ่านมาเมื่อวันที่ 20 ก.ย. ได้จัดประชุมหน่วยงานที่เกี่ยวข้องเพื่อสรุปผลการดำเนินโครงการดังกล่าว เพื่อนำไปประชาสัมพันธ์ให้ประชาชนได้รับทราบ
นอกจากนี้ จะขยายผลโครงการไปยังพื้นที่อื่นในอีก 24 อำเภอที่เหลือ อำเภอละ 1 ตำบล ซึ่งทีมงานที่ปรึกษาได้มีการคัดเลือกพื้นที่เป้าหมายไว้แล้วทั้ง 24 อำเภอ เพื่อศึกษาปัญหา และพัฒนาแผนเพื่อแก้ไขปัญหาประชาชนอย่างเร่งด่วน โดยมีคนเป็นศูนย์กลางการพัฒนาและปรับใช้ปรัชญาเศรษฐกิจพอเพียงและสร้างความเป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อม โดยจะดำเนินการพื้นที่เป้าหมายเร่งด่วนก่อน ใน 4 อำเภอ ประกอบด้วย ต.ช่างเคิ่ง อ.แม่แจ่ม ซึ่งปัจจุบันประสบปัญหาการจัดการทรัพยากรธรรมชาติ ป่า ดิน น้ำ อากาศ โดยมีการส่งเสริมให้ชาวบ้านตระหนักถึงความปลอดภัยในการทำเกษตรกรรม “โครงการพืชอาหารปลอดภัย” แต่ขาดความต่อเนื่อง เนื่องจากขาดงบประมาณ ต.ม่อนจอง อ.อมก๋อย ซึ่งประสบปัญหาพื้นที่ชุมชนทั้งหมดอยู่ในเขตอุทยานแห่งชาติ ต.แม่สาบ อ.สะเมิง ซึ่งมีหมู่บ้านต้นแบบอนุรักษ์ป่า ศูนย์เรียนรู้เศรษฐกิจพอเพียง ได้รับรางวัลระดับประเทศ และต.บ้านจันทร์ อ.กัลยาณิวัฒนา ที่มีสภาพพื้นที่เป็นเนินเขาสลับซับซ้อน
ทั้งนี้ เห็นว่าการบริหารจัดการของประเทศภูฏาน ซึี่งเป็นประเทศขนาดเล็กมีประชากรประมาณ 700,000 คน มีรายได้จากการท่องเที่ยวถึงปีละ 6,000 ล้านบาท มีพืชเศรษฐกิจ คือ ข้าว ถั่ว และงา มีการนำระบบการบริหารจัดการบ้านเมืองที่ดีมาใช้บริหารงาน มีสิ่งแวดล้อมที่สวยงาม และดำเนินชีวิตตามแบบเศรษฐกิจพอเพียง จึงอยากให้นำมาศึกษาเชิงเปรียบเทียบ และนำมาปรับใช้กับการดำเนินงานโครงการพัฒนาเชียงใหม่เมืองน่าอยู่
...