ทุกครั้งที่มีคนบ่นว่าเจ็บหน้าอก หลายคนจะนึกถึงโรคหัวใจ แต่น้อยคนนักที่จะนึกต่อได้ว่าเกิดสถานการณ์วิกฤติเข้าแล้ว และต้องนำผู้ป่วยส่งโรงพยาบาลให้เร็วที่สุด อันที่จริง สาเหตุของอาการเจ็บหน้าอกอาจเป็นไปได้หลายประการ แต่ความเป็นไปได้ที่ร้ายแรงที่สุด คือ ภาวะกล้ามเนื้อหัวใจตายเฉียบพลัน (Heart Attack) หรือที่เรียกกันว่า หัวใจวาย นั่นเอง
ภาวะกล้ามเนื้อหัวใจตายเฉียบพลันเป็นสาเหตุการเสียชีวิตที่สำคัญของประชากรทั่วโลก สำหรับประเทศไทย โรคกล้ามเนื้อหัวใจตายเฉียบพลันเป็น 1 ใน 3 สาเหตุของการเสียชีวิตสูงสุดใกล้เคียงกับการเสียชีวิตด้วยอุบัติเหตุ และโรคมะเร็ง
แม้อัตราการเสียชีวิตจากโรคหลอดเลือดหัวใจตีบ ซึ่งนำไปสู่ภาวะกล้ามเนื้อหัวใจตายเฉียบพลันจะสูง แต่ไม่ได้หมายความว่าเมื่อเกิดอาการแล้ว ผู้ป่วยจะต้องเสียชีวิตเสมอไป สิ่งที่จะ “ชี้เป็นชี้ตาย” ในสถานการณ์วิกฤตินี้คือผู้ป่วยถึงมือแพทย์ได้เร็วเพียงใด
โดยมากผู้ป่วยและคนรอบข้างมักไม่ทราบว่าควรทำอย่างไร และอาการเจ็บหน้าอกนั้นร้ายแรงถึงชีวิตเสมอไปหรือไม่ ดังนั้น เพื่อให้เกิดความรู้ความเข้าใจเรื่องภาวะกล้ามเนื้อหัวใจตายเฉียบพลันและสัญญาณเตือนต่างๆ
นพ.ปัญเกียรติ โตพิพัฒน์ อายุรแพทย์โรคหัวใจและการสวนหลอดเลือด ผู้อำนวยการศูนย์หัวใจ โรงพยาบาลเวชธานี ได้ให้ความรู้ถึงโรคนี้ว่า หัวใจขาดเลือด หัวใจล้มเหลว หรือหัวใจวาย หากเกิดแบบเฉียบพลัน เรียกว่า “Heart Attack” เป็นกลุ่มอาการที่เกิดจากการมีเลือดไปเลี้ยงหัวใจไม่เพียงพอต่อความต้องการของหัวใจในขณะนั้น ทำให้หัวใจปรับความดันไม่ทันจึงสูบฉีดเลือดไปเลี้ยงอวัยวะต่างๆ ของร่างกายไม่เพียงพอ ส่งผลให้หัวใจเต้นผิดจังหวะ ซึ่งอาจมีการเต้นพลิ้วของหัวใจห้องล่าง 300-400 ครั้ง/นาที ผู้ป่วยอาจหายใจติดขัดและหมดสติ ถ้าไม่ได้รับการรักษาภายใน 4-5 นาที หัวใจจะหยุดเต้น สมองอาจตายกลายเป็นอัมพฤกษ์อัมพาต หรือเสียชีวิตอย่างรวดเร็ว
รู้จักกับภาวะกล้ามเนื้อหัวใจตายเฉียบพลัน
ภาวะกล้ามเนื้อหัวใจตายเฉียบพลัน เป็นภาวะที่เกิดขึ้นอย่างปัจจุบันทันด่วน และมีสาเหตุมาจากความผิดปกติของหลอดเลือดแดงซึ่งไปเลี้ยงกล้ามเนื้อหัวใจ “ภาวะกล้ามเนื้อหัวใจตายเฉียบพลันมักจะเกิดขึ้นเมื่อหลอดเลือดแดงโคโรนารี (Coronary Artery) เกิดการอุดตันอย่างฉับพลันจนไม่สามารถส่งผ่านเลือดไปยังกล้ามเนื้อหัวใจได้ กล้ามเนื้อหัวใจบางส่วนจะเริ่มตาย หากไม่รีบเปิดทางเดินของหลอดเลือด กล้ามเนื้อหัวใจจะถูกทำลายมากขึ้น และหัวใจก็จะหยุดทำงานในที่สุด”
“ในขั้นเริ่มแรกผู้ป่วยจะไม่มีอาการอะไรแสดงออกมา แต่เมื่อเวลาผ่านไป หลอดเลือดหัวใจตีบลงมากขึ้น ผู้ป่วยอาจเริ่มมีอาการเจ็บหน้าอก โดยเฉพาะเมื่อออกแรง ออกกำลังกาย หรือทำอะไรรีบๆ ทั้งนี้ เป็นผลมาจากการที่หัวใจต้องทำงานหนักขึ้นเพื่อลำเลียงเลือดไปยังส่วนต่างๆ ให้เพียงพอนั่นเอง”
อาการบอกเหตุของผู้ป่วยกล้ามเนื้อหัวใจตายที่สามารถสังเกตได้ มีดังนี้
- เจ็บแน่นหน้าอกเหมือนมีอะไรหนักๆ มากดทับ
- จุกแน่นหรือแสบบริเวณลิ้นปี่
- หายใจสั้น หอบ
- อาจมีอาการเจ็บร้าวที่บริเวณแขน คอ ไหล่ และกราม
- เหงื่อออกท่วมตัว
- คลื่นไส้ หน้ามืด ใจสั่น
“อาการเจ็บแน่นหน้าอกถือว่าเป็นอาการนำของภาวะกล้ามเนื้อหัวใจตายเฉียบพลัน ซึ่งโดยมากมักจะเกิดร่วมกับอาการอื่นๆ เช่น เหงื่อออก หายใจหอบ ปวดร้าวไปที่แขนข้างเดียว หรือทั้งสองข้างไปจนถึงคอ และกราม” ส่วนใหญ่อาการเหล่านี้จะเป็นอยู่ประมาณ 20 ถึง 30 นาที แต่ถ้าหากมีอาการอยู่ตลอดต้องถือว่าเป็นสัญญาณวิกฤติของอาการกล้ามเนื้อหัวใจตายเฉียบพลัน ตอนนี้ผู้ป่วยต้องรีบไปพบแพทย์ หรือเรียกรถฉุกเฉินไปโรงพยาบาลทันที
สาเหตุที่ต้องส่งผู้ป่วยให้ถึงแพทย์โดยเร็วนั้น มีวัตถุประสงค์เพื่อฟื้นฟู ทำการรักษาให้เลือดไหลกลับไปเลี้ยงกล้ามเนื้อหัวใจโดยเร็วที่สุด “เมื่อกล้ามเนื้อหัวใจขาดเลือด กล้ามเนื้อส่วนหนึ่งจะเริ่มตาย และเมื่อกล้ามเนื้อหัวใจตายแล้วก็ไม่สามารถฟื้นฟูหรือสร้างใหม่ได้ ดังนั้น ถ้าสามารถปกป้องกล้ามเนื้อหัวใจมิให้ถูกทำลายได้มาก โอกาสรอดชีวิตก็มีสูง”
สาเหตุใหญ่ที่ผู้ป่วยตัดสินใจมาโรงพยาบาลช้า มักเกิดจากความไม่แน่ใจว่าใช่อาการเตือนหรือไม่ หรือคิดว่าเป็นโรคอื่น “การนำผู้ป่วยมาส่งแพทย์ทันทีมีแต่ได้ประโยชน์ เพราะแม้ผู้ป่วยไม่ได้อยู่ในภาวะวิกฤติจากการที่กล้ามเนื้อหัวใจขาดเลือด แพทย์ก็จะสามารถวินิจฉัยได้ว่าอาการต่างๆ ที่เกิดขึ้นนั้นมีสาเหตุมาจากอะไร
นพ.ปัญเกียรติ ให้ข้อมูลเพิ่มเติมอีกว่า ปัจจุบันมีการตรวจวินิจฉัยโรคกล้ามเนื้อหัวใจขาดเลือดที่ให้ผลค่อนข้างแม่นยำ แพทย์อาจจะแนะนำการตรวจได้หลายวิธี ขึ้นกับความเหมาะสมของแต่ละบุคคล เช่น ตรวจคลื่นไฟฟ้าหัวใจ (EKG), การตรวจคลื่นไฟฟ้าหัวใจขณะออกกำลัง เช่น การเดินสายพาน, การตรวจภาพหัวใจด้วยคลื่นเสียงความถี่สูง (echocardiogram), การตรวจหัวใจด้วยเครื่องเอกซเรย์คอมพิวเตอร์ความเร็วสูง (multislice CT scan), การตรวจภาพคลื่นแม่เหล็กไฟฟ้าหัวใจ (cardiac MRI) ในกรณีที่มีอาการมากแพทย์อาจจะตรวจเลือดว่ามีกล้ามเนื้อหัวใจขาดเลือดหรือไม่ หรืออาจจะทำการตรวจสวนหัวใจ (coronary angiography – CAG) เพื่อการวินิจฉัยที่แน่นอน
ถ้าหากผลการตรวจพบว่ามีภาวะหลอดเลือดหัวใจตีบ แพทย์จะแนะนำการรักษา ซึ่งอาจจะแตกต่างไปในแต่ละบุคคลขึ้นกับความรุนแรงของโรคที่ตรวจพบ, สุขภาพผู้ป่วย แพทย์อาจจะแนะนำให้กินยา เช่น ยาป้องกันเกล็ดเลือดจับตัว ยาลดไขมันในเลือด ยาขยายหลอดเลือด ยาลดการบีบตัวของหัวใจ เพื่อลดการทำงานของหัวใจ และลดการใช้ออกซิเจน เป็นต้น หรือแพทย์อาจจะแนะนำให้รับการรักษาขยายหลอดเลือดหัวใจโดยการถ่างขยายด้วยลูกโป่ง หรือบอลลูนขนาดเล็ก (Percutaneous coronary intervention – PCI) หรือแม้แต่การแนะนำการรักษาโดยการผ่าตัดต่อทางเบี่ยงเส้นเลือดหรือบายพาสหลอดเลือดหัวใจ (Coronary artery bypass surgery – CABG) ในกรณีที่จำเป็น
หลักการสำคัญในการรักษาผู้ป่วย Heart Attack คือ ความรวดเร็วในการได้รับการรักษา ยิ่งผู้ป่วยได้รับการรักษาเร็วเท่าใด ก็ยิ่งมีโอกาสรอดชีวิตสูงขึ้นเท่านั้น เนื่องจากผู้ป่วย Heart Attack มีโอกาสเสียชีวิตได้มากกว่า 50% ถ้าได้รับการรักษาที่ถูกต้องรวดเร็วสามารถลดอัตราการเสียชีวิตได้มากกว่า 50% ดังนั้นการใช้รถ Mobile CCU จะช่วยทำให้การปฏิบัติการกู้ชีพมีประสิทธิภาพเพิ่มขึ้น เนื่องจากในรถ Mobile CCU จะมีแพทย์โรคหัวใจและเครื่องมือพิเศษที่จำเป็นต่อการช่วยชีวิตผู้ป่วยโรคหัวใจไปกับรถด้วย และมีการประสานงานระหว่างรถ Mobile CCU กับทีมแพทย์ที่โรงพยาบาล เพื่อเตรียมเครื่องมืออุปกรณ์พร้อมให้การรักษาขั้นสูงทันทีเมื่อผู้ป่วยมาถึงโรงพยาบาล
ภัยอันตรายจากโรคหัวใจนั้นน่ากลัว แต่ความรู้และวิทยาการในปัจจุบันก็สามารถช่วยเหลือผู้ที่มีปัญหาโรคหัวใจได้อย่างมาก เมื่อรู้ถึงอันตรายและสาเหตุแล้วก็อย่านิ่งนอนใจนะครับ พยายามดูแลสุขภาพตนเอง เพื่อป้องกันการเกิดโรคหัวใจ แต่ถ้าหากเป็นโรคหัวใจแล้วก็ควรรับการรักษาโดยเร็ว เพื่อป้องกันไม่ให้เกิดความเสียหายต่อหัวใจและสุขภาพจนสายเกินไปนะครับ และขอให้ทุกท่านมีสุขภาพร่างกายและสุขภาพจิตที่สมบูรณ์ครับ
สอบถามเพิ่มเติมที่ ศูนย์หัวใจ
โทร. 0-2734-0000 ต่อ 5300, 5301
...