ผู้เชี่ยวชาญด้านกฎหมายคอมพิวเตอร์ ระบุ ปอท.ไม่มีสิทธิ์ล้วงลูกข้อมูลที่ แชตผ่านไลน์ ถือเป็นการสื่อสารส่วนบุคคล จะทำได้ต่อเมื่อศาลสั่ง หากฝ่าฝืน มีโทษทั้งจำทั้งปรับ ขณะที่เครือข่ายพลเมืองเน็ต ชี้ เข้าข่ายดักฟังและละเมิดสิทธิ์ส่วนบุคคล

เมื่อวันที่ 13 ส.ค. พล.ต.ต.พิสิษฐ์ เปาอินทร์ ผู้บังคับการกองบังคับการปราบปรามการกระทำความผิดเกี่ยวกับอาชญากรรมทางเทคโนโลยี หรือ ปอท. กล่าวว่า กรณีมีกระแสข่าวว่า ปอท. จะมีการตรวจสอบผู้ใช้บริการโซเชียลมีเดีย โดยยอมรับว่า ปอท. จะมีการดำเนินการดังกล่าวจริง แต่เป็นการตรวจสอบเฉพาะผู้ที่ใช้โซเชียลมีเดียในทางผิดกฎหมาย กระทบต่อความมั่นคง และศีลธรรมอันดี ซึ่งจะเน้นในทางอาชญากรรม 4 กลุ่มประเภท คือ 1.กลุ่มค้าอาวุธเถื่อน 2.กลุ่มค้ายาเสพติด 3. กลุ่มค้าประเวณี 4. กลุ่มค้าของปลอมและละเมิดลิขสิทธิ์ ซึ่งขณะนี้ ปอท.ได้รับการตอบรับจากบริษัทไลน์ คอปอเรชั่น  ผู้ผลิตโปรแกรมไลน์ ซึ่งตั้งอยู่ในประเทศญี่ปุ่นแล้ว ว่ายินดีให้ความร่วมมือในการตรวจสอบ ยืนยันว่ากรณีนี้ไม่ได้เป็นการละเมิดสิทธิส่วนบุคคล แต่ที่ผ่านมามีคดีที่มีผู้อาศัยช่องว่างการตรวจสอบของโซเชียลมีเดียเป็นช่องทางในการกระทำผิดจำนวนมาก

“ตอนนี้เราจัดเจ้าหน้าที่ชุดมอนิเตอร์โซเชียลมีเดียไว้ 6 นาย หากพบมีการส่งข้อความที่เข้าข่ายกระทำผิดใน 4 กลุ่มประเภทที่ ปอท. ตั้งไว้ เราก็จะส่งหนังสือไปทางบริษัทผู้ผลิตโปรแกรมไลน์ในญี่ปุ่น ซึ่งทางนั้นจะทำการตรวจสอบให้ว่าข้อความที่ส่งมีต้นทางจากบุคคลใด เพื่อ ปอท.จะสามารถใช้เป็นหลักฐานดำเนินคดีตาม พ.ร.บ.คอมพิวเตอร์  ซึ่งขณะนี้มีข้อความที่ถูกส่งต่อบนโซเชียลที่ ปอท. เฝ้าจับตาอยู่และเข้าข่ายความผิด พ.ร.บ.คอมพิวเตอร์แล้ว ร่วมเกือบ 100 ข้อความ” พล.ต.ต.พิสิษฐ์ กล่าว

ผู้บังคับการ ปอท. กล่าวต่อว่า ในส่วนของโซเชียลมีเดีย โปรแกรมอื่นๆ เช่น เฟซบุ๊ก ยูทูบ วอทแอฟ  ปอท.ก็ได้มีการเฝ้าจับตาและขอความร่วมมือไปยังผู้ผลิตโปรแกรมเช่นกัน แต่ไม่ได้รับความร่วมมือเท่าที่ควร เนื่องจากอาจเป็นเพราะกฎหมายของแต่ละประเทศที่แตกต่างกัน และบางประเทศมองว่าการเข้าถึงข้อมูลโซเชียล ของผู้ใช้บริการเป็นการละเมิดสิทธิส่วนบุคคล โดยในอนาคตเรามีแผนที่จะมีการพัฒนาเป็นศูนย์รวมข่าวโซเชียล และจัดทำเป็นเว็บไซต์เหมือน 191  พร้อมยืนยันว่าในส่วนของผู้ที่ใช้โซเชียลมีเดีย อย่างสร้างสรรค์ ปอท. จะไม่เข้าไปยุ่งอย่างแน่นอน แต่จะเน้นคนที่ใช้ในทางที่ผิดกฎหมาย และไม่เน้นเรื่องการเมือง

...

วันเดียวกัน นายไพบูลย์ อมรภิญโญเกียรติ ผู้เชี่ยวชาญด้านกฎหมายคอมพิวเตอร์ กล่าวว่า การดำเนินการของ ปอท. จะต้องขอคำสั่งศาลอาญาเท่านั้น ในการดักจับข้อความที่ส่งผ่านไลน์ หากไม่มีการขอคำสั่งทางศาล แล้วใช้อำนาจอื่นๆ เช่น พ.ร.บ.ความมั่นคง หรือ พ.ร.ก.ฉุกเฉินฯ ไม่สามารถดำเนินการได้ เพราะจะมีความผิดตาม พ.ร.บ.คอมพิวเตอร์ มาตรา 8 ที่ระบุไว้ว่า ผู้ใดกระทำด้วยประการใดโดยมิชอบด้วยวิธีการทางอิเล็กทรอนิกส์ เพื่อดักรับไว้ ซึ่งข้อมูลคอมพิวเตอร์ของผู้อื่น ที่อยู่ระหว่างส่งในระบบคอมพิวเตอร์ และข้อมูลคอมพิวเตอร์นั้น มิได้มีไว้เพื่อประโยชน์สาธารณะ หรือเพื่อให้บุคคลทั่วไปใช้ประโยชน์ได้ ต้องระวางโทษจำคุกไม่เกินสามปี หรือปรับไม่เกิน 6 หมื่นบาท หรือทั้งจำทั้งปรับ 

นอกจากนี้ผู้ที่ออกคำสั่งจะมีความผิดตามมาตรา 25 ที่ระบุไว้ว่า ข้อมูลคอมพิวเตอร์ หรือข้อมูลจราจรทางคอมพิวเตอร์ที่พนักงานเจ้าหน้าที่ได้มาตาม พ.ร.บ.คอมพิวเตอร์ฯ ให้อ้างและรับฟังเป็นพยานหลักฐานตามบทบัญญัติแห่งประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญาหรือกฎหมายอื่น อันว่าด้วยการสืบพยานได้ แต่ต้องเป็นชนิดที่มิได้เกิดขึ้นจากการจูงใจมีคำมั่นสัญญา ขู่เข็ญ หลอกลวง หรือโดยมิชอบประการอื่น

นายไพบูลย์ ระบุด้วยว่า ต้องถามความชัดเจนไปทางปอท. อีกครั้งว่า จะตรวจสอบการสื่อสารผ่านระบบไลน์ ได้ขออำนาจศาลอาญาแล้วหรือยัง

ขณะที่นายอาทิตย์ สุริยะวงศ์กุล ผู้ประสานงานเครือข่ายพลเมืองเน็ต กล่าวว่า การตรวจสอบการส่งข้อความพูดคุยกันผ่านระบบไลน์ เข้าข่ายการดักฟัง หากเป็นการดักฟังแบบไม่กำหนดกลุ่มเป้าหมาย ถือว่าละเมิดสิทธิส่วนบุคคลแน่นอน แต่ถ้ามีการกำหนดกลุ่ม ผู้ที่ต้องการเฝ้าติดตามการเคลื่อนไหว หรือ การสื่อสาร ผ่านระบบไลน์ และดำเนินการภายใต้ พ.ร.ก.ฉุกเฉินฯ หรือ พ.ร.บ.มั่นคง จะต้องพิจารณาอีกครั้งว่า เข้าข่ายขัดต่อกฎหมาย หรือไม่