ศาลปกครอง พิพากษาให้ กรมทางหลวงและกระทรวงคมนาคม ร่วมกันนำต้นไม้ ตามชนิดประเภทขนาดเดียวกันหรือใกล้เคียงกัน และในจำนวนที่เท่ากันกับต้นไม้ที่ถูกตัดโค่นไปแล้ว ตามบัญชีที่ได้สำรวจบันทึก ไปปลูกทดแทนตาม แนว ถ.ธนะรัชต์
วันที่ 16 พ.ค. ศาลปกครอง โดย นายเสน่ห์ บุญทมานพ ตุลาการหัวหน้าคณะศาลปกครองกลางพร้อมองค์คณะ ออกนั่งบัลลังก์อ่านคำพิพากษาคดีหมายเลขแดงที่ 754/2556 ให้กรมทางหลวงและกระทรวงคมนาคม ร่วมกันนำต้นไม้ตามชนิดประเภทขนาดเดียวกันหรือใกล้เคียงกัน และในจำนวนที่เท่ากันกับต้นไม้ที่ถูกตัดโค่นไปแล้ว ตามบัญชีที่ได้สำรวจบันทึกไปปลูกทดแทนตามแนวเขตทางหลวงแผ่นดินหมายเลข 2090 หรือถนนธนะรัชต์
ตามคำฟ้องที่สมาคมต่อต้านสภาวะโลกร้อน กับพวกรวม 130 ราย ได้ยื่นฟ้อง กรมทางหลวง และ กระทรวงคมนาคม ที่อนุญาตให้บริษัทเอกชนดำเนินโครงการเพิ่มประสิทธิภาพ ทางหลวงแผ่นดินหมายเลข 2090 หรือ ถ.ธนะรัชต์ จากแยกทางหลวงหมายเลข 2-ต่อเขตอุทยานแห่งชาติเขาใหญ่ ระหว่าง กม.2+000.000 ที่ ต.หนองน้ำแดง อ.ปากช่อง จ.นครราชสีมา -กม.10+100.000 ที่ ต.หมูสี อ.ปากช่อง จ.นครราชสีมา รวมระยะทาง 8.1 กม. ด้วยการตัดฟันโค่นทำลายต้นไม้และพื้นดินตลอดแนวทั้งในและนอกเขตทาง โดยไม่ชอบด้วยกฎหมาย เนื่องจากไม่ได้รับอนุญาตจากกรมป่าไม้ ก่อให้เกิดความเสียหายต่อทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม ความหลากหลายทางชีวภาพ และระบบนิเวศริมทาง ก่อให้เกิดผลกระทบต่อชุมชนอย่างรุนแรง
ทั้งนี้ ศาลพิเคราะห์แล้วเห็นว่า แม้ข้อเท็จจริงจะรับฟังได้ว่าการดำเนินโครงการเพิ่มประสิทธิภาพทางหลวงแผ่นดินหมายเลข 2090 หรือ ถ.ธนะรัชต์ จากแยกทางหลวงหมายเลข 2-ต่อเขตอุทยานแห่งชาติเขาใหญ่ ระหว่าง กม.2+000.000 ที่ ต.หนองน้ำแดง อ.ปากช่อง จ.นครราชสีมา -กม.10+100.000 ที่ ต.หมูสี อ.ปากช่อง จ.นครราชสีมา รวมระยะทาง 8.1 กม.ดังกล่าว จะไม่เข้าข่ายโครงการที่จะต้องจัดทำรายงานการวิเคราะห์ผลกระทบสิ่งแวดล้อม (อีไอเอ) ตาม พ.ร.บ.ส่งเสริมและรักษาคุณภาพสิ่งแวดล้อม พ.ศ.2535 เนื่องจากเป็นเส้นทางที่ไม่ได้อยู่ในพื้นที่อุทยานเขาใหญ่แห่งชาติ และเป็นโครงการที่ไม่เข้าข่ายโครงการ หรือกิจการที่อาจมีผลกระทบต่อชุมชนอย่างรุนแรง ซึ่งต้องมีการดำเนินการศึกษาและประเมินผลกระทบต่อคุณภาพสิ่งแวดล้อมและสุขภาพของประชาชนในชุมชน รวมทั้งไม่ต้องจัดให้มีกระบวนการรับฟังความคิดเห็นของประชาชนและผู้มีส่วนได้เสียก่อน แต่เนื่องจากโครงการดังกล่าว เป็นโครงการของรัฐตามความหมายของระเบียบสำนักนายกรัฐมนตรีว่าด้วยการรับฟังความคิดเห็นของประชาชน พ.ศ.2548 ซึ่งออกตามความในมาตรา 11 ของ พ.ร.บ.ระเบียบบริหารราชการแผ่นดิน พ.ศ.2548 ซึ่งกำหนดให้ผู้รับผิดชอบโครงการต้องจัดให้มีการเผยแพร่ข้อมูลโครงการให้ประชาชนทราบถึงเหตุผลความจำเป็น วัตถุประสงค์ของโครงการ สาระสำคัญของโครงการ ผู้ดำเนินการ สถานที่ที่จะดำเนินการ ขั้นตอนและระยะเวลาดำเนินการ ผลผลิตและผลลัพธ์ของโครงการ และผลกระทบที่อาจเกิดขึ้น รวมทั้งจะต้องรับฟังความเห็นของประชาชนโดยวิธีใดวิธีหนึ่งหรือหลายวิธี และเมื่อดำเนินการรับความคิดเห็นของประชาชนแล้ว จะต้องสรุปผลการรับฟังความคิดเห็นของประชาชนและประกาศให้ประชาชนทราบภายใน 15 วัน นับแต่วันที่เสร็จสิ้นรับฟังความคิดเห็น ซึ่งจากข้อเท็จจริงปรากฏว่า ทั้งกรมทางหลวง และกระทรวงคมนาคม ไม่ได้ดำเนินการให้ถูกต้องตามระเบียบสำนักนายกรัฐมนตรีว่าด้วยการรับฟังความคิดเห็นของประชาชน พ.ศ.2548
...
อีกทั้งก็ไม่ปรากฏว่า กรมทางหลวง และกระทรวงคมนาคม โดยหน่วยงานในพื้นที่และหน่วยงานเกี่ยวข้องอื่น ได้มีการพยายามที่จะรักษาต้นไม้บริเวณสองข้างทางหลวงแผ่นดินหมายเลข 2090 หรือ ถ.ธนะรัชต์ จากแยกทางหลวงหมายเลข 2-ต่อเขตอุทยานแห่งชาติเขาใหญ่ ระหว่าง กม.2+000.000 ที่ ต.หนองน้ำแดง อ.ปากช่อง จ.นครราชสีมา -กม.10+100.000 ที่ ต.หมูสี อ.ปากช่อง จ.นครราชสีมา ตามข้อเสนอแนะของกรมป่าไม้ ที่ให้ดำเนินการขุดต้นไม้นำไปปลูกในพื้นที่ของหน่วยราชการแต่อย่างใด
ทั้งนี้ ในบันทึกของแขวงการทางนครราชสีมา ลงวันที่ 24 ธ.ค.2552 ที่ได้ร่วมกับเจ้าหน้าที่สำนักทรัพยากรป่าไม้ที่ 8 นครราชสีมา ทำการตรวจสอบไม้ในเขตทางหลวงหมายเลข 2090 ที่จะดำเนินโครงการเพื่อตัดออกจำนวน 14 ชนิด รวม 128 ต้น ในจำนวนนี้เป็นไม้สะเดาถึง 86 ต้น โดยไม้ต่างๆ มีขนาดเส้นรอบวงต้นไม้ 100 ซม.และสูงประมาณ 3 เมตร ซึ่งสูงกว่าความสูงของคนไม่ถึง 1 เท่า จึงไม่น่าจะเป็นต้นไม้ขนาดใหญ่จนทำการขุดถอนไปปลูกที่อื่นทำได้ยาก และมีโอกาสรอดยาก ตามที่ระบุในบันทึกของเจ้าหน้าที่สำนักส่งเสริมและพัฒนาไม้เศรษฐกิจนคร ราชสีมา เมื่อวันที่ 22 พ.ค.2553 แต่อย่างใด
ดังนั้นเมื่อนำการกระทำดังกล่าวของกรมทางหลวง และกระทรวงคมนาคม และหน่วยงานทางปกครองที่เกี่ยวข้องหน่วยอื่นๆ ไปประกอบกับการขออนุญาตทำไม้โดยไม่ถูกต้องตามขั้นตอนของกฎหมายแล้ว เห็นว่า กรมทางหลวงและกระทรวงคมนาคมไม่ได้ตระหนักถึงการปฏิบัติตามนโยบายของรัฐบาลในขณะนั้น เกี่ยวกับการจัดการทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม คุ้มครองและฟื้นฟูพื้นที่อนุรักษ์ที่มีความสำคัญเชิงระบบนิเวศ จึงสมควรที่ต้องมีการเยียวยาในส่วนนี้
แม้ว่าคณะรัฐมนตรีจะมีมติเมื่อวันที่ 8 มิ.ย.2553 ให้กรมทางหลวงและกระทรวงคมนาคมประสานกระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม เร่งดำเนินการจัดทำแผนฟื้นฟูพื้นที่ที่เสียหายดังกล่าว นอกจากนี้ กรมทางหลวงโดยแขวงการทางนครราชสีมาที่ 2 ได้นำกล้าไม้จากศูนย์เพาะชำกล้าไม้นครราชสีมา จำนวน 2,000 ต้น มาปลูกเสริมบริเวณที่ว่างเขตทางหลวง ซึ่งแม้จะเป็นการฟื้นฟูทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อมในทางหลวงแผ่นดินหมายเลข 2090 หรือ ถ.ธนะรัชต์ จากแยกทางหลวงหมายเลข 2-ต่อเขตอุทยานแห่งชาติเขาใหญ่ ระหว่าง กม.2+000.000 ที่ ต.หนองน้ำแดง อ.ปากช่อง จ.นครราชสีมา -กม.10+100.000 ที่ ต.หมูสี อ.ปากช่อง จ.นครราชสีมา ได้ตามสมควร
แต่ก็ยังไม่เป็นการเพียงพอแก่พฤติการณ์แห่งความเสียหายของทรัพยากรธรรมชาติที่ถูกทำลาย โดยการดำเนินกิจการของกรมทางหลวงและกระทรวงคมนาคม
จึงพิพากษาให้กรมทางหลวงและกระทรวงคมนาคม ร่วมกันนำต้นไม้ตามชนิดประเภทขนาดเดียวกันหรือใกล้เคียงกัน และในจำนวนที่เท่ากันกับต้นไม้ที่ถูกตัดโค่นไปแล้วตามบัญชีที่ได้สำรวจบันทึกไปปลูกทดแทนตามแนวเขตทางหลวงแผ่นดินหมายเลข 2090 หรือถนนธนะรัชต์ จากแยกทางหลวงหมายเลข 2-ต่อเขตอุทยานแห่งชาติเขาใหญ่ ระหว่าง กม.2+000.000 ที่ ต.หนองน้ำแดง อ.ปากช่อง จ.นครราชสีมา -กม.10+100.000 ที่ ต.หมูสี อ.ปากช่อง จ.นครราชสีมา