กลุ่มคนไทยหัวใจรักชาติฟ้อง กระทรวงต่างประเทศกราวรูด ฐานปฏิบัติหน้าที่มิชอบ-ทำผิด พ.ร.บ.คอมพิวเตอร์ อ้างเผยแพร่ข้อมูลเท็จกรณีพิพาทเขาพระวิหาร...  

วันนี้ (14 ม.ค. 56) ที่ศาลอาญา เวลา 10.30 น. นายไชยวัฒน์ สินสุวงศ์ แกนนำแนวร่วมคนไทยรักชาติ รักษาแผ่นดินเดิน พร้อมด้วย ม.ล.วัลย์วิภา บุรุษรัตนพันธุ์ และนายสมบูรณ์ ทองบุราณ ร่วมกันเป็นโจทก์ที่ 1-3 ยื่นฟ้องกระทรวงการต่างประเทศ, นายสุรพงษ์ โตวิจักษณ์ชัยกุล รมว.ต่างประเทศ, นายสีหศักดิ์ พวงเกตุแก้ว ปลัดกระทรวงการต่างประเทศ, นายภาสกร ศิริยพันธ์ อธิบดีกรมเอเชียตะวันออก, นายธานี ทองภักดี อธิบดีกรมสารสนเทศและโฆษกกระทรวงการต่างประเทศ และนายธัชชยุติ ภักดี รองอธิบดีกรมสนธิสัญญาและกฎหมาย เป็นจำเลยที่ 1-6 ในความผิดฐานปฏิบัติหรือละเว้นการปฏิบัติหน้าที่โดยมิชอบ ปฏิบัติหน้าที่หรือละเว้นการปฏิบัติหน้าที่โดยทุจริต ตามประมวลกฎหมายอาญามาตรา 83, 90, 91 และ 157 และนำเข้าสู่ระบบคอมพิวเตอร์ซึ่งข้อมูลคอมพิวเตอร์อันเป็นเท็จ ตาม พ.ร.บ.ว่าด้วยการกระทำความผิดเกี่ยวกับคอมพิวเตอร์ พ.ศ.2550 มาตรา 14 (1)

ทั้งนี้ โจทก์ฟ้องว่า เมื่อวันที่ 9 ก.พ. 55 จำเลยทั้ง 6 ปฏิบัติหน้าที่ราชการตามสายการบังคับบัญชาร่วมกันแบ่งหน้าที่กันทำ เพื่อเผยแพร่ข้อมูล ชื่อ “ข้อมูลที่ประชาชนไทยควรทราบเกี่ยวกับปราสาทพระวิหารและการเจรจาเขตแดนไทย-กัมพูชา” อันเป็นการดำเนินการของฝ่ายไทยในการแก้ไขปัญหาดังกล่าว มีการบรรยายข้อเท็จจริงที่เป็นการเสนอบันทึกการประชุมคณะกรรมการเขตแดนร่วมไทย-กัมพูชา (JBC) จำนวน 3 ฉบับ ต่อรัฐสภา เพื่อขอความเห็น

มีข้อความว่า “เมื่อวันที่ 1 พ.ค. 2554 กระทรวงการต่างประเทศมีหนังสือแจ้งให้กัมพูชาทราบถึงการมีผลใช้บังคับของบันทึกการประชุมฯ ทั้ง 3 ฉบับ เนื่องจากการดำเนินการตามกระบวนการกฎหมายภายในประเทศไทยเสร็จสิ้นแล้ว ฝ่ายกัมพูชามีหนังสือตอบกลับเมื่อวันที่ 5 พ.ค. 2554 รับทราบการแจ้งของไทย และแจ้งว่า สำหรับกัมพูชาบันทึกการประชุมฯ ทั้ง 3 ฉบับดังกล่าว มีผลบังคับใช้ตั้งแต่สิ้นสุดการประชุมเมื่อวันที่ 7-8 เม.ย. 2552 ปรากฏตามเอกสาร “ข้อมูลที่ประชาชนไทยควรทราบเกี่ยวกับปราสาทพระวิหาร และการเจรจาเขตแดนไทย-กัมพูชา” ที่มีการแจกจ่ายให้กับประชาชนทั่วไป ต่อมาวันที่ 9 ก.พ.-15  มี.ค. 2555

จำเลยทั้ง 6 แบ่งหน้าที่เผยแพร่เอกสารดังกล่าว โดยมีเนื้อหาและรูปแบบเดียวกันในเว็บไซต์ www.mfa.go.th เพื่อเผยแพร่ให้คนไทยและต่างชาติได้รับทราบทั่วโลก แต่เนื้อหาในเอกสารดังกล่าวในหน้าที่ 33 บรรทัดที่ 22-28 บรรยายว่า “การมีผลใช้บังคับของบันทึกการประชุมฯ ทั้ง 3 ฉบับ เนื่องจากการดำเนินการตามกฎหมายภายในประเทศไทยเสร็จสิ้นแล้ว” นั้นเป็นความเท็จ

ทั้งที่ความจริงแล้ว บันทึกการประชุมฯ ทั้ง 3 ฉบับดังกล่าว ยังไม่มีผลบังคับ เพราะการดำเนินการตามกระบวนการกฎหมายในประเทศไทยยังไม่เสร็จสิ้นลง เพราะบันทึกการประชุมฯ ทั้ง 3 ฉบับ ยังไม่ได้ผ่านการรับรองโดยรัฐสภาไทย ตามขั้นตอนตามกฎหมายและรัฐธรรมนูญ การกระทำของจำเลยทั้ง 6 ทำให้ประชาชนที่ได้อ่านเอกสารดังกล่าว เกิดความสับสน เข้าใจและหลงเชื่อต่อการดำรงอยู่และฐานะของบันทึกการประชุมฯ ทั้ง 3 ฉบับดังกล่าว โดยประการที่น่าจะเกิดความเสียหายในทันทีว่า มีฐานะผูกพันตามกฎหมายกับประเทศไทยแล้ว

การกระทำของจำเลยทั้ง 6 จึงเป็นการปฏิบัติ หรือละเว้นการปฏิบัติหน้าที่โดยมิชอบ ทำให้เกิดความเสียหายต่อโจทก์ทั้ง 3 และประชาชน หรือเป็นการปฏิบัติหน้าที่ หรือละเว้นการปฏิบัติหน้าที่โดยทุจริต และเป็นการนำเข้าสู่ระบบคอมพิวเตอร์ ซึ่งข้อมูลคอมพิวเตอร์อันเป็นเท็จ เหตุเกิดที่กระทรวงการต่างประเทศ แขวงทุ่งพญาไท เขตราชเทวี กทม. และทุกท้องที่ ที่เปิดรับข้อมูลคอมพิวเตอร์ทั่วราชอาณาจักร ศาลรับคำฟ้องไว้พิจารณาไต่สวนว่าคดีมีมูลหรือไม่

อย่างไรก็ตาม ภายหลัง นายไชยวัฒน์ กล่าวว่า ขณะนี้ดำเนินการล่ารายชื่อประชาชนที่ไม่เห็นด้วยกรณีปราสาทพระวิหาร แล้ว 7 แสนรายชื่อ คาดว่าวันที่ 21 ม.ค.56 จะสามารถรวบรวมรายชื่อครบ 1 ล้านรายชื่อ เมื่อครบแล้วจะดำเนินมาตรการเคลื่อนไหวโดยการชุมนุมเดินขบวนไปยื่นหนังสือ และรายชื่อประชาชนที่เห็นด้วยประมาณ 1 ล้านรายชื่อต่อประธานศาลฎีกา ในฐานะประธานอำนาจตุลาการและต่อผู้นำเหล่าทัพ ในฐานะกลไกด้านความมั่นคง ให้ทำหน้าที่ตามรัฐธรรมนูญ ในการพิทักษ์รักษาเอกราชอธิปไตยความมั่นคงของรัฐ สถาบันพระมหากษัตริย์ ผลประโยชน์แห่งชาติ และการปกครองในระบอบประชาธิปไตยอันมีพระมหากษัตริย์ทรงเป็นประมุข ต่อไป.

...