เซี่ยงไฮ้ประมาณปี 1930.

วันนี้ไทยรัฐซันเดย์สเปเชียลโดยทีมงานนิตยสารต่วย’ตูนจะพาแฟนานุแฟนย้อนยุคไปเที่ยวเซี่ยงไฮ้ในอดีตกันครับ

เซี่ยงไฮ้เป็นเมืองชายฝั่ง ตั้งอยู่ทิศตะวันออกตอนกลางของประเทศจีน ซึ่งเป็นบริเวณที่แม่น้ำแยงซีไหลลงสู่มหาสมุทรแปซิฟิก เพราะตั้งอยู่ใกล้กับปากน้ำ มีน้ำท่วมเป็นประจำ ในอดีตจึงมีแต่ชาวประมงอาศัยอยู่เป็นส่วนใหญ่ ที่นั่นมีชื่อเรียกกันว่าหมู่บ้าน “หู่” ตามชื่อเครื่องมือจับปลาของชาวประมงยุคนั้น นอกจากชื่อ “หู่” แล้ว ก็ยังมีอีกชื่อที่เรียกกัน คือ “เซิน” ซึ่งเป็นชื่อของวีรบุรุษคนหนึ่งในยุคโบราณ จนกระทั่งเมื่อเข้าสู่สมัยราชวงศ์ถาง (หรือถัง ในสำเนียงแต้จิ๋ว) (ค.ศ.618-907) จึงตั้งชื่ออย่างเป็นทางการขึ้นมา เรียกว่าตำบล “ฮว้าถิง” เซี่ยงไฮ้ยุคนั้นก็ยังไม่ใช่เมืองท่าหลักของจีน เพราะมีเมืองชิงหลงซึ่งตั้งอยู่บริเวณปากแม่น้ำอู่ซงเป็นเมืองท่าหลักอยู่แล้ว

จากชิงหลงนี้นอกจากจะสามารถแล่นเรือไปยังเกาหลีและญี่ปุ่นได้แล้ว เรือของพ่อค้ายังสามารถแล่นต่อเข้าไปยังเมืองอื่นๆที่อยู่ตามแม่น้ำอู่ซงได้อีกหลายเมือง จนกระทั่งเมื่อแม่น้ำสายนั้นเริ่มตื้นเขินขึ้นเรื่อยๆ โอกาสจึงเป็นของท่าเรือที่ฮว้าถิง เรือพ่อค้าวาณิชต่างก็แล่นไปใช้ท่าที่นั่นมากขึ้นๆ ในสมัยราชวงศ์ซ้ง (ซ้อง ตามสำเนียงแต้จิ๋ว) (ค.ศ.960-1127) ฮว้าถิงกลายเป็นเมืองท่าแทนเมืองชิงหลง จากหมู่บ้านเล็กๆก็กลายเป็นเมืองที่มีประชากรนับแสนขึ้นมา นักประวัติศาสตร์เชื่อว่าชื่อ “เซี่ยงไฮ้” (หรือ “ซ่างไฮ่” ตามเสียงจีนกลาง) เริ่มปรากฏขึ้นในสมัยราชวงศ์ซ้ง ช่วง ค.ศ.1271-1368 เป็นสมัยราชวงศ์หยวน นอกจากเมืองท่าที่สำคัญแล้ว เริ่มมีการสร้างโรงงานปั่นฝ้ายและทอผ้าขึ้นที่นั่น เครื่องจักร ต่างๆ ถูกนำเข้าไปเพื่อใช้ผลิตเป็นจำนวนมาก ทำให้เศรษฐกิจที่ดีอยู่แล้วยิ่งดีขึ้นไปอีก ในปี ค.ศ.1292 อำเภอเซี่ยงไฮ้ก็เกิดขึ้นอย่างเป็นทางการ

เมื่อเข้าสู่สมัยราชวงศ์หมิง (ค.ศ.1368-1644) เซี่ยงไฮ้กลายเป็นเมืองศูนย์กลางการผลิตและการค้าฝ้ายที่ใหญ่ที่สุดของจีน สิ่งทอของที่นั่นขึ้นชื่อมาก เป็นที่ต้องการของทั้งในและต่างประเทศ การค้าขาย การขนส่งทั้งทางบกและทางเรือเติบโตอย่างรวดเร็ว เซี่ยงไฮ้กลายเป็นเมืองที่คึกคักมีชีวิตชีวาที่สุดของจีน และยังไม่หยุดเติบโตเมื่อจีนเปลี่ยนราชวงศ์ปกครองประเทศเป็นราชวงศ์ชิง (ค.ศ.1644-1911)

ค.ศ.1840 ซึ่งอยู่ในสมัยของราชวงศ์ชิง ต่างชาติเข้าไปมีบทบาทสำคัญทางการเมืองของจีน 3 ปีต่อมากองทัพอังกฤษอาศัยข้ออ้างจากการเป็นผู้ชนะในสงครามฝิ่น ขอทำสนธิสัญญากับรัฐบาลจีนเพื่อใช้เซี่ยงไฮ้เป็นเมืองท่าของตน ซึ่งชาติตะวันตกอื่นๆก็ขอทำตามบ้าง เซี่ยงไฮ้กลายเป็นสวรรค์ของชาวตะวันตก ตึกรามแบบยุโรปซึ่งเป็นที่ตั้งของร้านค้า ร้านอาหาร ธนาคาร โรงพิมพ์ และธุรกิจต่างๆของชาวตะวันตกเติบโตอย่างรวดเร็ว เซี่ยงไฮ้กลายเป็นศูนย์รวมของทุกอย่าง รวมทั้งสิ่งหรูหราฟุ่มเฟือยสำหรับเศรษฐีทั้งชาวจีนและชาวตะวันตก
ค.ศ.1912 จีนภายใต้การปกครองของรัฐบาลสาธารณรัฐจีน ซึ่งยึดอำนาจการปกครองจากราชวงศ์ชิง ตัวเมืองเซี่ยงไฮ้ขยายใหญ่ขึ้นจนมีขนาดใกล้เคียงกับขนาดในปัจจุบัน และเป็นส่วนหนึ่งของมณฑลเจียงซู ค.ศ.1925 พื้นที่บริเวณนั้นทั้งหมดถูกเรียกว่า “เมืองซ้งหู่” แต่อีก 2 ปีต่อมาก็เปลี่ยนชื่อเป็น “เมืองเซี่ยงไฮ้”

ในทศวรรษที่ 20 และ 30 การเติบโตอย่างไม่หยุดยั้งของเซี่ยงไฮ้ที่เปิดรับทุนและความรู้ต่างๆจากชาติตะวันตกเข้าไปอย่างเต็มที่ ทำให้เมืองนี้กลายเป็นศูนย์กลางของการขนส่งทางทะเลศูนย์กลางการค้าและการเงินของตะวันออกไกลไปอย่างไม่มีเมืองใดเทียบได้ ในช่วง 2 ทศวรรษนั้น ด้วยประชากรกว่าสามล้านคน อาคารสถาปัตยกรรมแบบยุโรปที่สวยงามจำนวนมาก จนได้รับฉายาว่า “ปารีสตะวันออก” เป็นเมืองใหญ่อันดับ 5 ของโลก มีชาวต่างชาติอยู่ถึงประมาณเจ็ดหมื่นคน

แล้วยุคทองของเซี่ยงไฮ้ก็สิ้นสุดลงเมื่อเกิดสงครามขึ้นระหว่างกองทัพจีนและกองทัพญี่ปุ่นในปี ค.ศ.1937 การสู้รบครั้งนั้นทหารจีนเป็นฝ่ายพ่ายแพ้ ญี่ปุ่นยึดเซี่ยงไฮ้ไว้ได้ จนกระทั่งสงครามโลกยุติลง หลังจากนั้นประเทศจีนก็อยู่ภายใต้การปกครองของพรรคคอมมิวนิสต์ ซึ่งเป็นปฏิปักษ์กับชาติตะวันตก ดังนั้นในปี ค.ศ.1949 เป็นต้นไป ชาวตะวันตกซึ่งมีบริษัทอยู่ที่เซี่ยงไฮ้ทั้งหมดก็จะย้ายไปตั้งสำนักงานที่เกาะฮ่องกง

ส่วนเมืองเซี่ยงไฮ้ภายใต้ธงชาติสีแดงของพรรคคอมมิวนิสต์ก็ได้ฟื้นฟูกลับขึ้นมาใหม่ ค.ศ.1991 พรรคคอมมิวนิสต์กำหนดให้เซี่ยงไฮ้เป็นเขตปกครองพิเศษขึ้นตรงต่อรัฐบาลกลาง ซึ่งเซี่ยงไฮ้ก็สามารถสร้างรายได้กลับขึ้นมาอย่างรวดเร็ว นอกจากจะเป็นศูนย์กลางทางการค้าและการส่งออกแล้ว เซี่ยงไฮ้ยังได้รับการพัฒนาให้เป็นศูนย์วิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีของประเทศจีนด้วย

ปัจจุบันเซี่ยงไฮ้เป็นเมืองที่มีจำนวนประชากรหนาแน่นที่สุดในโลก เป็นเมืองที่มีตึกระฟ้าจำนวนนับไม่ถ้วน เป็นเมืองท่าที่มีการขนถ่ายตู้คอนเทนเนอร์สูงที่สุดของโลก และเป็นศูนย์กลางการเงินที่ใหญ่ที่สุดทางตะวันออก

ย้อนกลับไปในช่วงทศวรรษที่ 30 อีกครั้ง เนื่องจากเซี่ยงไฮ้เป็นเมืองท่าใหญ่และเป็นศูนย์กลางความเจริญในทุกๆด้าน จึงเป็นที่หมายปองของชาตินักล่าอาณานิคมทั้งหลาย ประกอบกับความอ่อนแอของรัฐบาล ทำให้ต่างชาติบังคับให้รัฐบาลจีนลงนามให้เช่าพื้นที่ เช่น เขตเช่าฝรั่งเศส เขตเช่าอังกฤษ เขตเช่านานาชาติ ฯลฯ ชาติเหล่านี้เข้ามาตักตวงหาผลประโยชน์ในเซี่ยงไฮ้กันอย่างเต็มที่ ไม่ว่าจะเป็นธุรกิจการค้า อุตสาหกรรมการลงทุน ทั้งถูกกฎหมายและผิดกฎหมาย จำพวกสถานเริงรมย์ บ่อนการพนัน ยาเสพติด ซ่องโสเภณี ฯลฯ ที่สำคัญคือชาวตะวันตกและญี่ปุ่นปฏิบัติต่อคนจีนราวกับไม่ใช่คน ที่แสดงให้เห็นได้ชัดที่สุดก็คือ สถานที่พวกต่างชาติพอใจใช้เป็นส่วนตัวก็จะติดประกาศว่า “หมาและคนจีนห้ามเข้า” สร้างความคับแค้นใจให้แก่คนจีนอย่างที่สุด แต่ก็ทำอะไรไม่ได้ อย่างไรก็ตามเซี่ยงไฮ้ในเวลานั้นเป็นยุคที่เศรษฐกิจบูมขึ้นถึงขีดสุด ทั้งธุรกิจบนดินและใต้ดิน จึงเกิดมีกลุ่มแก๊งนักเลงอันธพาลทั้งท้องถิ่นและข้ามชาติขึ้นมากมาย ที่หาเงินจากแหล่งอบายมุขทั้งหลายที่ผุดขึ้นราวดอกเห็ด

ตู้เย่วเซิง (杜月笙) คือชื่อหนึ่งที่อยู่ในหน้าประวัติศาสตร์ของเซี่ยงไฮ้ในยุคนั้น ตู้เย่วเซิงเป็นเด็กกำพร้าทั้งพ่อและแม่ตั้งแต่อายุได้ 9 ขวบแต่โชคยังดีที่มียายเลี้ยงดูมาจนเข้าสู่วัยรุ่น ด้วยวัยเพียง 10 กว่าขวบเขาก็พาตัวเองเข้าไปสู่เมืองเซี่ยงไฮ้เพื่อหางานทำ แต่ดูเหมือนโชคชะตาจะกำหนดให้ต้องเกี่ยวข้องกับอาชีพสกปรกอย่างไม่มีทางหลีกหนี เพราะหลังจากไปรับจ้างเป็นเด็กขายผลไม้อยู่ในเขตเช่าของฝรั่งเศสได้ไม่นาน ก็ถูกไล่ออกด้วยข้อหาขโมย จากนั้นตู้ก็เริ่มเข้าสู่วงการนักเลงและอบายมุขด้วยการไปทำงานคุมซ่องโสเภณี และด้วยวัยเพียง  16 ปี เขาก็เข้าไปเป็นสมาชิกของแก๊งใหญ่แก๊งหนึ่งชื่อ “ชิงปัง” ภายใต้ความสัมพันธ์กับนายตำรวจชื่อ ฮวงจินหรง (黄金荣) ซึ่งสนับสนุนอยู่เบื้องหลัง แก๊งนี้ควบคุมอบายมุขแทบทุกชนิด เช่น ซ่องโสเภณี บ่อนการพนัน ยาเสพติด (ฝิ่น) เรียกค่าคุ้มครอง ฯลฯ

ไม่กี่ปีหลังจากนั้น ตู้ก็สามารถก้าวขึ้นไปเป็นหนึ่งในระดับผู้นำแก๊งร่วมกับ จางเส่าหลิน (张啸林) ได้อย่างไม่ลำบากอะไร แม้จะเป็นที่รู้กัน โดยทั่วไปว่าเขามีอาชีพที่ผิดกฎหมาย แต่ตู้ก็ได้รับการยอมรับว่าเป็นคนที่รักชาติมากที่สุดคนหนึ่ง เขามักจะสวมเสื้อผ้าไหมแบบจีนเป็นประจำ นอกจากนั้นแก๊งชิงปังก็ยังร่วมกับรัฐบาลจีนต่อสู้กับกองทัพญี่ปุ่นซึ่งรุกรานจีนอย่างหนักในยุคนั้น และเป็นแหล่งสนับสนุนทางการเงินให้กับรัฐบาลของนายพลเจียงไคเช็ค ภายหลังยังร่วมกับรัฐบาลต่อสู้กับพรรคคอมมิวนิสต์ที่เป็นปฏิปักษ์กับรัฐบาลด้วย ในปี ค.ศ.1941 ตู้ต้องหนีไปอยู่ที่ฮ่องกง เนื่อง จากพรรคคอมมิวนิสต์มีชัยเหนือรัฐบาลของนายพลเจียงไคเช็ค ซึ่งต่อมาเขาก็เสียชีวิตที่นั่น ศพของเขาถูกนำไปฝังที่เกาะ ไต้หวัน ที่ซึ่งพรรคก๊กมินตั๋งของนายพลเจียงไคเช็คมิตรของเขาไปเป็นรัฐบาลพลัดถิ่นอยู่ที่นั่น

เรื่องราวของเจ้าพ่อเซี่ยงไฮ้ทั้งสามถูกนำไปแต่งเป็นนวนิยาย และสร้างเป็นภาพยนตร์ทางจอเงิน และซีรีส์ทางโทรทัศน์มาแล้วหลายครั้ง โดยเฉพาะซีรีส์ชุด “เจ้าพ่อเซี่ยงไฮ้” (上海灘) ซึ่งได้รับความนิยมมากที่สุด สร้างโดย TVB ของฮ่องกง ออกฉายเมื่อ พ.ศ.2523 ภาพยนตร์ชุดนี้ทำให้ “โจวเหวินฟะ” และ “หลี่เหลียงเหว่ย” กลายเป็นดาราดังไปทั่วเอเชียและทั่วโลก

และล่าสุดก็มีภาพยนตร์อิงประวัติศาสตร์จีนโดยเฉพาะประวัติศาสตร์ของเมืองเซี่ยงไฮ้ในยุคของตู้เย่วเซิง เข้าโรงฉายในชื่อเรื่องว่า The Last Tycoon (เดอะ ลาสต์ ไทคูน) เจ้าพ่อเซี่ยงไฮ้คนสุดท้าย ภาพยนตร์เรื่องนี้ โจวเหวินฟะกลับมารับบทนำอีกครั้ง หลังจากที่เคยรับบทเจ้าพ่อเซี่ยงไฮ้มาแล้วเมื่อสามสิบกว่าปีก่อน ด้วยเทคนิคทันสมัยบวกกับการทุ่มทุนเนรมิตฉากของเซี่ยงไฮ้ในสมัยนั้นขึ้นมาได้อย่างสมจริง ด้วยทุนสร้างกว่า 700 ล้านบาท จากฝีมือผู้สร้าง แอนดรูว์ เลา และผู้ออกแบบฉากที่เข้าชิงรางวัลออสการ์ หยีชุงมั่น เราคงได้ชมฉากแอ็กชั่นสุดมันในบรรยากาศ “ปารีสตะวันออก” ในยุคที่เจ้าพ่อครองเมืองกันอย่างเต็มอารมณ์.

...


โดยคนเหนือ
ทีมงาน นิตยสาร ต่วย'ตูน