มหาวิทยาลัยเทคโนโลยีพระจอมเกล้าธนบุรี เปิดตัว Residential Colleges แห่งแรกในประเทศ มุ่งบ่มเพาะคนดี ร่วมเรียนปีการศึกษาแรก 2556 ด้านจังหวัดราชบุรีเฮ ได้ศูนย์กลางการศึกษามหาวิทยาลัยในเขตตะวันตกเฉียงใต้...
ในสังคมยุคปัจจุบัน มหาวิทยาลัยไทยไม่อาจทำหน้าที่เพียงให้ความรู้เฉพาะวิชาการเท่านั้น หากแต่ต้องเร่งสร้างคนดี ด้วยการไม่ละทิ้งความรับผิดชอบต่อสังคม เร่งบ่มเพาะคนดีตามบริบทของสังคม ด้วยเหตุนี้ ดร.สมชาย จันทร์ชาวนา รองอธิการบดีมหาวิทยาลัยเทคโนโลยีพระจอมเกล้าธนบุรี (มจธ.) จึงได้ดำเนินการตามแนวคิด Residential Colleges ขึ้นเป็นแห่งแรกในประเทศไทย โดยพร้อมเปิดสอนนักศึกษารุ่นแรกแล้ว ในปีการศึกษา 2556
ดร.สมชาย กล่าวว่า Residential Colleges แห่งแรกในประเทศไทย ได้แนวคิดจาก Oxford และ Cambridge แห่งสหราชอาณาจักร รวมถึง Harvard และ Yale แห่งประเทศสหรัฐอเมริกา ภายใต้แนวคิดการพัฒนาปฏิสัมพันธ์ เพื่อพัฒนาคนไปพัฒนาสังคม โดยใช้ มจธ.วิทยาเขตราชบุรี ซึ่งตั้งอยู่ที่ อ.จอมบึง เป็นพื้นที่ดำเนินการสอน บนเนื้อที่ประมาณ 1,200 ไร่ เพื่อป้องกันแหล่งมอมเมาต่างๆ ที่อาจรุกล้ำเข้ามาตั้งใกล้มหาวิทยาลัยในภายหน้า
"อย่าง Oxford เป็น Residential Colleges ที่ประกอบไปด้วย Colleges เล็กๆ ประมาณ 38 แห่ง ในแต่ละ Colleges มีนักศึกษาปริญญาตรีโท เอก เรียนและอาศัยร่วมกันประมาณ 400-500 คน มีครูใหญ่ อาจารย์ และเจ้าหน้าที่ดูแล แต่ละ Colleges ประกอบไปด้วยอาคาร 2-3 หลัง มีการเรียนการสอนครบทุกสาขาวิชา มีนักศึกษาสาขาละ 2-5 คน ยกตัวอย่างการเรียนในชั่วโมงบรรยาย เช่น นักศึกษาที่เรียนคณะวิศวฯ จากทุก Colleges ต้องไปเรียนวิชาบรรยายที่อาคารเรียนรวมของคณะวิศวฯ ซึ่งลักษณะชั่วโมงบรรยายเป็นการเรียนทฤษฎีและหลักการ โดยมีผู้เชี่ยวชาญมาเป็นผู้บรรยาย และหลังจากนั้นจะมีการเรียนชั่วโมงเรียนกลุ่มย่อยที่ Colleges ของตน" ดร.สมชาย กล่าว
ทั้งนี้ ชั่วโมงบรรยายนักศึกษามีอิสระที่จะเข้าหรือไม่เข้าก็ได้ และหากมีการบ้านจากชั่วโมงบรรยายนักศึกษาจะต้องกลับไปทำแล้วนำไปส่งอาจารย์ในชั่วโมงเรียนกลุ่มย่อยที่ Colleges ของตน เนื่องจากในชั่วโมงนี้อาจารย์ประจำ Colleges จะทำการสอนสิ่งที่เด็กเรียนมาจากชั่วโมงบรรยายรวม เพื่อสอนลงรายละเอียด วิธีคิด การคำนวณ การประยุกต์ต่างๆ อย่างเข้มข้น โดยอาจารย์ 1 ท่าน ต่อนักศึกษาไม่เกิน 5 คน และทุกคนต้องเข้าชั่วโมงเรียนกลุ่มย่อย เพื่อแสดงความคิดเห็นแลกเปลี่ยนความรู้ระหว่างนักศึกษาด้วยกันและกับอาจารย์ ซึ่งการเรียนกลุ่มย่อยนี้ก็เพื่อเตรียมความรู้สำหรับการสอบที่นักศึกษาจากทุก Colleges ต้องไปสอบที่ส่วนกลางของมหาวิทยาลัย โดยส่วนกลางจะเป็นผู้ออกข้อสอบและประเมินผล โดยไม่เกี่ยวข้องกับอาจารย์พี่เลี้ยงใน Colleges เลย ทำให้นักศึกษามีความผูกพันกับอาจารย์เสมือนเป็นพี่เลี้ยงที่คอยฝึกซ้อมให้นักกีฬาก่อนลงแข่ง
รองอธิการบดี มจธ. กล่าวถึงแผนการพัฒนา มจธ.ราชบุรี ให้เป็น Residential Colleges ว่า มีสิ่งที่ต้องคำนึงหลักๆ 5 ประการ คือ 1.Membership & Administrative Structure โดยใน Colleges แรก จะรับนักศึกษาประมาณ 400 คน ซึ่งในปีการศึกษา 2556 เปิดรับนักศึกษากลุ่มแรกเพียง 200 คน และในปีถัดไปจะรับเพิ่มอีก 200 คน 2.Buildings and Grounds ซึ่งปัจจุบันสร้างเสร็จแล้ว 1 College พื้นที่ประมาณ 5 ไร่ มี 3 อาคาร สนามหญ้าอยู่ตรงกลาง มีร้านค้าสะดวกซื้อ มีห้องพบปะสังสรรค์ของนักศึกษาระดับต่างๆ ห้องเรียนกลุ่มย่อย ห้องพัก รวมถึงห้องอาหารที่สามารถรองรับนักศึกษาทุกคน ซึ่งนักศึกษาจะมีส่วนร่วมในการดูแลรักษาภูมิทัศน์โดยรอบ College เพื่อให้นักศึกษามีความรู้สึกว่า College ไม่ใช่สถานที่สำหรับเรียนเท่านั้น แต่ให้ความรู้สึกผูกพันเป็นเสมือนบ้านอีกหลัง
3.College life & Annual cycle สร้างปฏิสัมพันธ์ด้วยการทำกิจกรรมด้วยกัน กินข้าวด้วยกัน ไปเรียนด้วยกัน นอกจากนั้น จะเชิญบุคคลสำคัญในวงการต่างๆ เช่น ทูตจากต่างประเทศมาบรรยายให้ความรู้ เพื่อเป็นการแลกเปลี่ยนแนวคิดแต่ละประเทศ และเปิดโลกทัศน์ให้แก่นักศึกษา อีกทั้งยังมีประเพณีการแข่งขันกีฬา ระหว่าง College 4.Pastoral care การดูแลเอาใจใส่ลูกศิษย์ เพื่อประคับประคองให้เรียนผ่านจุดสำคัญของชีวิตไปได้ ตลอดจนบ่มเพาะมารยาททางสังคม การแต่งกายอย่างเหมาะสม การให้เกียรติ และพัฒนาด้านคุณธรรม และ 5.Academic life ด้วยการจัดให้มีชั่วโมงบรรยายการเรียนกลุ่มย่อย การทำโครงงานเป็นทีม การฝึกฝนจิตสาธารณะ ทัศนศึกษาตามสถานที่ต่างๆ
"ส่วนหลักสูตรที่ใช้กับ Residential Colleges เป็นหลักสูตรเดียวกันกับ มจธ. แต่นำมาพัฒนาเป็นอีกรูปแบบหนึ่ง เช่น ชั่วโมงบรรยาย จะบูรณาการเป็นกลุ่มวิชาด้วยการผนวกวิชาที่มีเนื้อหาใกล้เคียงเข้าด้วยกัน โดยเรียนสัปดาห์ละ 2 ชั่วโมงต่อกลุ่มวิชาเท่านั้น หลังจากนั้นเป็นการเรียนปฏิบัติ และการเรียนกลุ่มย่อย ทั้งนี้ นักศึกษาที่ผ่านการเรียนแบบ Residential Colleges ที่ราชบุรีเป็นเวลา 2 ปีแล้ว เมื่อขึ้นปีี 3 จะต้องย้ายกลับมาเรียนที่ มจธ.(บางมด) เหมือนนักศึกษามหาวิทยาลัยปกติ เพื่อกลับมาเรียนรู้การอยู่ในสังคมที่ใหญ่กว่า ก่อนออกไปทำงาน" ดร.สมชาย กล่าว
ทั้งนี้ ในส่วนของค่าเล่าเรียนเทอมละประมาณ 58,000 บาท คาดว่านักศึกษารุ่นแรกๆ จะได้รับการสนับสนุนจาก มจธ. แต่ทั้งนี้นักศึกษาส่วนใหญ่ต้องจ่ายค่าที่พักและค่าอาหารเอง สำหรับนักศึกษาจากพื้นที่ชายแดนห่างไกลทั้งภาคเหนือและภาคใต้ มหาวิทยาลัยมีทุนการศึกษาเพิ่มให้ เพราะต้องการเปิดโอกาสอย่างทั่วถึง ซึ่งขณะนี้ไม่ได้มีแต่ประเทศไทยเท่านั้นที่ให้ความสนใจเรื่อง Residential College ประเทศเพื่อนบ้าน อาทิ จีน เกาหลี ไต้หวัน ฮ่องกง ก็ให้ความสนใจ ยิ่งไปกว่านั้นประเทศสิงค์โปรได้ร่วมมือกับมหาวิทยาลัย Yale ก่อตั้ง Residential Colleges และรับนักศึกษาในปีนี้ไปเรียบร้อยแล้ว
อนึ่ง Residential Colleges จะใช้ชื่อในภาษาไทยว่า "อาศรม" ซึ่งมีความหมายว่าที่อยู่ของผู้มีศีล หรือที่อยู่ของคนดี และหากได้รับความเห็นชอบ Residential Colleges แรกที่กำลังจะเปิดนี้ จะมีชื่อว่า "อาศรมหว้ากอ".
...