พาณิชย์ตะลุยจับแก๊งนายหน้ารวมหัวโรงสี สวมสิทธิ์ชาวนา จ.พัทลุง โดยจ้างเกษตรกร ให้ตันละ 1 พันบาทแลกสวมสิทธิ์ ขณะที่ฮอตไลน์ 1569 สายไหม้ ยอดร้องเรียนจำนำข้าวแซงหน้าสินค้าแพง ด้าน ธ.ก.ส.ประกาศเตรียมพร้อมสภาพคล่อง รับโครงการรับจำนำข้าวปี 55/56 ไว้ถึง 500,000 ล้านบาท
นายบุญทรง เตริยาภิรมย์ รมว.พาณิชย์ เปิดเผยว่า ขณะนี้สามารถดำเนินคดีเอาผิดขบวนการนายหน้าสวมสิทธิ์โครงการรับจำนำข้าวเปลือกที่จังหวัดพัทลุงได้แล้ว หลังได้รับเรื่องร้องเรียนจากเกษตรกรผ่านสายด่วนกรมการค้าภายใน 1569 ว่า มีบุคคลที่มีพฤติกรรมเป็นนายหน้า เข้าไปเชิญชวนและชี้นำให้เกษตรกรนำสิทธิ์ในการเข้าร่วมโครงการรับจำนำ และใบรับรองจากเกษตรกรมาขาย โดยจะรับซื้อในราคาตันละ 1,000 บาท
“กรมการค้าภายใน ได้จัดเจ้าหน้าที่สายตรวจเฉพาะกิจเข้าดำเนินการตรวจสอบข้อเท็จจริงในพื้นที่ตามที่ได้รับการร้องเรียนแล้ว พบว่ามีการสวมสิทธิ์ใบประทวนของเกษตรกรตามโครงการรับจำนำข้าวเปลือกนาปรังปี 55 จริง โดยนายหน้าในพื้นที่ร่วมกับโรงสีสวมสิทธิ์เกษตรกร เพื่อรับเงินส่วนต่าง ทั้งที่เกษตรกรเหล่านั้นนำผลผลิตไปจำหน่ายศูนย์เมล็ดพันธุ์ข้าวพัทลุงหมดแล้ว แต่กลับมีข้าวเข้ามาใช้สิทธิ์เข้าร่วมโครงการรับจำนำข้าวเปลือกนาปรังปี 55 ได้อีก ซึ่งกระทรวงพาณิชย์จะดำเนินคดีเอาผิดกับผู้เกี่ยวข้องทั้งหมดอย่างถึงที่สุด เพราะถือว่าทุจริตและสร้างความเสียหายแก่รัฐ”
ทั้งนี้ กระทรวงพาณิชย์ให้ความสำคัญกับการป้องกันการทุจริตโครงการรับจำนำข้าวเต็มที่ และได้สั่งการให้กรมการค้าภายในตรวจสอบข้อเท็จจริงอย่างเข้มงวด หากเกษตรกร ประชาชน และผู้เกี่ยวข้องที่พบเห็นพฤติกรรมสวมสิทธิ์เกษตรกร สามารถแจ้งเบาะแสผ่านสายด่วนกรมการค้าภายใน 1569 หรือ www.dit.go.th หรือร้องเรียนด้วยตนเอง ที่สำนักงานการค้าภายในจังหวัดทั่วประเทศ
ผู้สื่อข่าวรายงานจากกระทรวงพาณิชย์ว่า ขณะนี้มียอดร้องเรียนผ่านสายด่วน 1569 เฉลี่ยวันละ 100 สาย ส่วนใหญ่เป็นการร้องเรียนของเกษตรกร ถึงความล่าช้าการจ่ายเงินของธนาคารเพื่อการเกษตรและสหกรณ์การเกษตร (ธ.ก.ส.) ที่ไม่สามารถนำใบประทวนไปรับเงินจาก ธ.ก.ส. หลังนำข้าวร่วมโครงการจำนำข้าวเปลือกนาปรังปี 55 และนาปี 55/56 ได้ ซึ่งขณะนี้กรมการค้าภายในได้ส่งเรื่องการร้องเรียนไปยัง ธ.ก.ส.แล้ว
ด้านศาสตราจารย์ นายแพทย์สุทธิพร จิตติ์มิตรภาพ เลขาธิการคณะกรรมการวิจัยแห่งชาติ (วช.) เผยว่า ปัจจุบันข้าวไทยมีขีดความสามารถในการส่งออกลดลง ขณะที่ประเทศคู่แข่ง เช่น เวียดนาม อินเดีย กัมพูชา และพม่า มีศักยภาพในการส่งออกเพิ่มขึ้น โดยเฉพาะเวียดนาม และอินเดีย ส่วนโครงการรับจำนำข้าวของรัฐบาล ที่ทำให้เกษตรกรหันมาปลูกข้าวมากขึ้นนั้น เป็นความท้าทายสำหรับนักวิจัยที่จะคิดค้นตอบโจทย์การพัฒนาที่เหมาะสม ทั้งในระยะสั้นและในระยะยาว
ขณะที่นายลักษณ์ วจนานวัช ผู้จัดการธนาคารเพื่อการเกษตรและสหกรณ์การเกษตร (ธ.ก.ส.) เผยว่า ธ.ก.ส.ได้เตรียมความพร้อมด้านสภาพคล่อง สำหรับรองรับโครงการรับจำนำข้าวเปลือกในปีการผลิต 55/56 ไว้เรียบร้อยแล้ว โดยตลอดระยะเวลาโครงการในปีดังกล่าว จะมีสภาพคล่อง 500,000 ล้านบาท จากเป้าหมายการรับจำนำข้าวเปลือกของรัฐบาลที่ 26 ล้านตัน เป็นเม็ดเงิน 405,000 ล้านบาท
“สภาพคล่องดังกล่าวจะมาจาก 3 ส่วน ส่วนแรกเป็นเงินคืนจากกระทรวงพาณิชย์ที่ได้จากการขายข้าวรอบการจำนำปีที่ผ่านมาจำนวน 260,000 ล้านบาท ส่วนที่สองเป็นเงินสภาพคล่องของ ธ.ก.ส.ที่ได้นำไปใช้ในโครงการรับจำนำรอบปีที่ผ่านมาจำนวน 90,000 ล้านบาท และส่วนที่สามเป็นเงินกู้ที่รัฐบาล โดยกระทรวงการคลังจัดสรรให้อีก 150,000 ล้านบาท”
นายลักษณ์กล่าวว่า เดือน ต.ค. กระทรวงพาณิชย์ได้คืนเงินจากการขายข้าวให้แล้ว 42,000 ล้านบาท และ คืนเงินชำระหนี้ที่ ธ.ก.ส.ได้ใช้สภาพคล่องเข้าไปช่วยดำเนินโครงการนี้อีก 49,000 ล้านบาท ขณะเดียวกันสำนักบริหารหนี้ กระทรวงการคลังจะจัดสรรเงินกู้ให้ก้อนแรก 16,000 ล้านบาท จากที่เสนอไป 50,000 ล้านบาท ทำให้มีสภาพคล่องเพียงพอในระยะแรก.
...