วัฒนธรรมการจัดดอกไม้ผูกพันกับคนไทยมาตั้งแต่โบราณกาล และเกี่ยวโยงสัมพันธ์อย่างแนบชิดกับทุกๆจังหวะของวิถีชีวิตคนไทย ตั้งแต่เกิดจนตาย เรียกได้ว่าทุกๆบันทึกหน้าสำคัญของชีวิตไม่เคยขาดสุนทรีย์แห่งดอกไม้แม้สักคราเดียว และด้วยเสน่ห์ของวัฒนธรรมดอกไม้ไทยนี่เอง ได้ดึงดูดให้วิศวกรหนุ่ม สาขาอิเล็กทรอนิกส์ จากรั้วลาดกระบัง “อ๋อง–สกุล อินทกุล” เก็บกระเป๋ามุ่งสู่การเดินทางสายดอกไม้ และอุทิศทั้งชีวิตเพื่อค้นหาความหมายแท้จริงแห่งสัจธรรม “ดอกไม้ดอกหนึ่งบาน...จักรวาลก็สั่นไหว”

การเปิดโลกใหม่สู่เส้นทางสายวัฒนธรรมดอกไม้ของศิลปินนักจัดดอกไม้มือหนึ่งแห่งประเทศไทย วัย 47 ปี เริ่มต้นขึ้นด้วยความบังเอิญอย่างแท้จริง ราวกับเป็นโชคชะตาที่ลิขิตไว้...“ชีวิตนี้ชอบต้นไม้มาตั้งแต่เด็ก เพราะเกิดและโตแถวฝั่งธนฯ ซึ่งอยู่ในละแวกสวน เดินไปไม่ไกลก็เป็นท่าน้ำวัดกัลยาณมิตร ริมแม่น้ำเจ้าพระยา จึงคุ้นเคยกับต้นไม้ใบหญ้าเป็นอย่างดี ผมมีหน้าที่รดน้ำต้นไม้ทุกวัน พอเสาร์อาทิตย์ คุณแม่จะพาลูกชายทั้ง 3 คน ไปเที่ยวปากคลองตลาด และให้เงินคนละ 20 บาท เพื่อให้เลือกซื้อต้นไม้กลับไปปลูกที่บ้าน ผมจำได้ว่าเป็นกิจกรรมที่สนุกสนานมาก ตั้งแต่เด็กผมชอบอ่านหนังสือขบวนการแก้จนของ “ประยูร จรรยาวงษ์” แล้วลองมาหัดเพาะชำต้นไม้เอง ทดลองทำปุ๋ยหมักเอง ที่จริงเป็นเด็กชอบวาดรูปและรักศิลปะ แต่พื้นฐานเป็นเด็กเรียนเก่ง จึงต้องเรียนสายวิทย์ และเลือกเอนทรานซ์เข้าคณะวิศวะ ลาดกระบัง พอจบปริญญาตรีก็เข้าทำงานกับบริษัทญี่ปุ่นในเครือฮิตาชิ อยู่ที่ตึกธนิยะ พลาซ่า แถวสีลม บังเอิญว่าช่วงนั้นมีโรงเรียนสอนจัดดอกไม้ญี่ปุ่นมาเปิดในตึกเดียวกัน นึกสนุกอยากทำเป็นงานอดิเรก จึงไปสมัครเรียน ทำงานอยู่ฮิตาชิ 2 ปี ก็
เทคคอร์สเรียนจัดดอกไม้ทั้ง 2 ปี จบหลักสูตรระดับเบื้องต้น ชั้นกลาง และชั้นสูง ตอนนั้นค้นพบแล้วว่า เรารักการจัดดอกไม้ จึงลาออกจากงานมารับจัดดอกไม้เป็นอาชีพ”

...

แจ้งเกิดในวงการนักจัดดอกไม้อาชีพได้อย่างไร

ต้องขอบคุณ “พี่ชาลี” (ชุลีพร อารีย์พิพัฒน์กุล) แห่งพลอยแกมเพชร ที่เปิดโอกาสให้ผมได้เขียนคอลัมน์เกี่ยวกับดอกไม้และการจัดดอกไม้ลงในนิตยสาร ทำให้เริ่มมีชื่อเสียงในวงการ ส่วน “พี่กุ๊กกี้” (ทินกร อัศวรักษ์) ก็ให้โอกาสยิ่งใหญ่ ชักชวนให้ไปจัดดอกไม้ถวายสมเด็จพระนางเจ้าสิริกิติ์ พระบรมราชินีนาถ ระหว่างเสด็จฯเยือนประเทศจีน เมื่อ 10 กว่าปีที่แล้ว ตอนนั้นผมอายุ 35 ปี อยู่ในวงการจัดดอกไม้มาพักใหญ่แล้ว จากจุดนั้นเองทำให้เริ่มมีชื่อเสียงขึ้นมาเรื่อยๆ นอกจากนี้ “ท่านผู้หญิงเลอศักดิ์ สมบัติศิริ” เจ้าของโรงแรมปาร์คนายเลิศฯ ยังเป็นบุคคลสำคัญที่ให้โอกาสผมได้มีเวทีแสดงไอเดียสร้างสรรค์อย่างเต็มที่ โดยสมัยนั้นมีเฉพาะโรงแรมปาร์คนายเลิศฯที่จัดงานแสดงดอกไม้ประจำปี

แล้วโกอินเตอร์เป็นนักจัดดอกไม้ระดับโลกตอนไหน

จุดเริ่มต้นของการทำงานระดับนานาชาติน่าจะมาจากการทำหนังสือ “Tropical Colors : The Art of Living with Tropical Flowers” ถือเป็นผลงานสำคัญที่สร้างชื่อเสียงและความแปลกใหม่ให้วงการ ทำให้มีงานระดับอินเตอร์เข้ามาอย่างต่อเนื่อง ผลงานที่เป็นที่รู้จักคือ การจัดดอกไม้ในงานแต่งงานของพระเอกฮ่องกง “เหลียงเฉาเหว่ย” ที่ประเทศภูฏาน และเมื่อเร็วๆนี้ ยังมีโอกาสร่วมงานโฆษณากับผู้กำกับดัง “หว่องกาไว” ที่ประเทศอินเดีย

ฝันอยากเป็นนักจัดดอกไม้มือหนึ่งต้องทำการบ้านหนักขนาดไหน

ก่อนอื่นต้องเรียนรู้พื้นฐานการจัดดอกไม้ให้แน่นทุกอย่าง เมื่อรู้วิชาพื้นฐานแล้ว ก็เริ่มพัฒนาและค้นหารูปแบบใหม่เป็นของตัวเอง เพื่อสร้างเอกลักษณ์ การค้นหาแรงบันดาลใจใหม่ๆก็สำคัญมาก ผมชอบเดินทางไปดูศิลปะและวัฒนธรรมต่างบ้านต่างเมือง โดยเฉพาะประเทศที่มีชื่อเสียงด้านวัฒนธรรมการจัดดอกไม้ เช่น ญี่ปุ่น, จีน, อินเดีย และบาหลี เวลาไปถึงก็จะไปหาครูบาอาจารย์ด้านดอกไม้เพื่อขอวิชาความรู้ และที่มีความสุขมากๆคือ การได้เดินเที่ยวตามตลาดดอกไม้ พูดคุยกับป้าๆยายๆที่นั่งร้อยนั่งจัดดอกไม้ในตลาด ชาวบ้านพวกนี้เป็นครูของผมทุกคน

อะไรคือเสน่ห์ของอาชีพนักจัดดอกไม้ที่ทำให้ถอนตัวไม่ขึ้น

สำหรับผม การจัดดอกไม้ช่วยเปิดโลกของเรา ทำให้ได้เรียนรู้วัฒนธรรมมากมายบนโลกใบนี้ ถือเป็นการเดินทางสายดอกไม้ที่เรียนรู้ไม่รู้จบ สมัยทำงานแรกๆ ต้องนั่งปล้ำอยู่ทั้งคืน แต่กลับไม่รู้สึกเหนื่อยหรือท้อแท้ เพราะเรามีความสุขกับการทำงาน ทุกวันนี้ การทำงานเร็วขึ้น คม และไวขึ้น เพราะเรารู้ว่าต้องการอะไร และมีประสบการณ์เยอะขึ้น แต่ก็ยังไม่หยุดเดินทางเพื่อพัฒนาผลงานตัวเอง

...

ความเป็นวิศวกรช่วยให้งานออกแบบมีเอกลักษณ์ต่างจากคนอื่นอย่างไร

ผมไม่ได้เรียนศิลปะมาโดยตรง ซึ่งอาจเป็นข้อดีก็ได้ เพราะทำให้ไม่ติดอยู่กับกรอบ สามารถปลดปล่อยจินตนาการได้เต็มที่ ส่วนการเป็นวิศวกรก็มีส่วนช่วยในการออกแบบอยู่มาก ทำให้งานออกแบบมีประสิทธิภาพ และสามารถคาดคะเนผลลัพธ์ที่จะออกมาได้อย่างแม่นยำ นอกจากนี้ยังรู้จักใช้โครงสร้างหรือวัสดุแปลกตามาสร้างเอกลักษณ์โดดเด่นให้ผลงาน ซึ่งถือเป็นสิ่งใหม่ของวงการดอกไม้ไทย

ใครคือโรลโมเดลสำคัญในการทำงาน

ส่วนใหญ่เป็นศิลปินต่างชาติ เช่น “แอนดี้ โกลด์สเวิร์ธตี้” ศิลปินดังชาวอังกฤษ งานของผมได้รับอิทธิพลจากเขาเยอะ “อเล็กซานเดอร์ คาลเดอร์” ศิลปินงานเหล็กชื่อก้องโลก และ “อิซามุ โนงุชิ” เป็นศิลปินลูกครึ่งญี่ปุ่น-อเมริกัน และที่ชอบมากคือ พวกศิลปินท้องถิ่นที่นั่งร้อยมาลัยในตลาด พวกแม่บ้านบาหลี รู้สึกทึ่งมากว่าทำไมเก่งอย่างนี้

...

เสน่ห์ของดอกไม้ไทยอยู่ตรงไหน

เอกลักษณ์เด่นของวัฒนธรรมดอกไม้ไทยคือ Deconstruction เป็นการถอดแล้วมาประกอบใหม่ เนื่องจากดอกไม้มีชีวิตหนึ่งวัน ถ้าจะทำให้มีชีวิตยาวขึ้น ก็ต้องนำมาประดิษฐ์เป็นรูปแบบใหม่ นำมาร้อยเป็นมาลัย กระทง หรือพานดอกไม้ แนวคิดนี้เป็นส่วนหนึ่งที่แยกไม่ออกจากรูปแบบสถาปัตยกรรมไทย และวิถีชีวิตของคนไทย เรียกได้ว่าเราเริ่มบูชาพระตั้งแต่เริ่มร้อยดอกไม้แล้ว จากที่ผมศึกษามา วัฒนธรรมดอกไม้ไทยประกอบไปด้วยมาลัย เครื่องแขวน พานดอกไม้ กระทงและงานใบตอง บายศรี งานดอกไม้เล็ก รวมถึงงานดอกไม้ในรูปแบบไทยร่วมสมัย โดยงานดอกไม้ในสมัยของสมเด็จพระนางเจ้าฯ พระบรมราชินีนาถ มีรูปแบบของดอกไม้ไทยใหม่ๆเกิดขึ้นมากมาย หลังจากเฟื่องฟูอย่างมากในสมัยรัชกาลที่ 5 ประเทศไทยโชคดีมาก นอกจากพวกเราจะมีงานศิลปวัฒนธรรมที่โดดเด่นหลายด้านแล้ว ยังมีวัฒนธรรมดอกไม้ที่เป็นเอกลักษณ์เฉพาะของชาติด้วย

คลุกคลีอยู่วงการนี้มานาน อะไรคือความฝันอันยิ่งใหญ่ของ “สกุล อินทกุล”

ผมฝันมานานว่าอยากสร้างพิพิธภัณฑ์วัฒนธรรมดอกไม้ เพิ่งจะมาสมหวังก็ตอนนี้ พูดแล้วยังขนลุกเลย!! เมื่อหลายปีก่อน ผมไปถ่ายงานที่บ้านเก่าสไตล์โคโลเนียลหลังหนึ่ง ในซอยองครักษ์ บริเวณศรีย่าน ใกล้ๆกับโรงเรียนราชินีบน เป็นบ้านเก่าไม้สักทั้งหลังสมัยรัชกาลที่ 6 อายุกว่า 100 ปี รู้สึกถูกชะตาและชอบมาก เหมือนมีมนต์สะกด แต่ตอนนั้นมีฝรั่งเช่าอยู่ ผมก็เพียรขับรถไปดูเรื่อยๆ และสั่งแม่บ้านไว้ว่าถ้าคนเช่าออกไปเมื่อไหร่ ช่วยโทร.บอกด้วย ก็รอมานานกระทั่งเมื่อปลายปีที่แล้ว ผมขับรถไปดูอีก ปรากฏว่าบ้านหลังนี้ว่างแล้ว ดีใจมาก รีบติดต่อหาเจ้าของเพื่อขอเช่า คุยไปคุยมา เจ้าของก็เป็นเพื่อนของคนรู้จักกัน เรื่องจึงง่ายขึ้น ผมตั้งใจทำที่นี่ให้เป็นพิพิธภัณฑ์วัฒนธรรมดอกไม้ หรือ The Museum of Floral Culture เพื่อให้เป็นสถาบันว่าด้วยเรื่องวัฒนธรรมดอกไม้เป็นแห่งแรกและแห่งเดียวของโลก โดยจะเปิดอย่างเป็นทางการวันที่ 12 ส.ค.2555 เพื่อร่วมเฉลิมพระเกียรติสมเด็จพระนางเจ้าฯ พระบรมราชินีนาถ เนื่องในโอกาสมหามงคลเฉลิมพระชนมพรรษา 80 พรรษา ภายในพิพิธภัณฑ์จะรวบรวมชิ้นงานและหลักฐานทางประวัติศาสตร์ทุกอย่างเกี่ยวกับการจัดดอกไม้ตั้งแต่อดีตถึงปัจจุบัน ทั้งของไทยและนานาประเทศ ในอนาคตยังอยากพัฒนาให้พิพิธภัณฑ์แห่งนี้กลายเป็นสถาบันแลกเปลี่ยนความรู้ด้านวัฒนธรรมดอกไม้ โดยจะมีการจัดเวิร์คช็อปสอนจัดดอกไม้ และให้ทุนการศึกษาเพื่อทำการค้นคว้าวิจัยต่อไป

...

ความสุขจากการจัดดอกไม้ ทำให้มองโลกเปลี่ยนไปจากเดิมไหม

เพราะเราเป็นศิลปิน  ใช้อารมณ์เยอะ ทำให้เป็นคนโมโหง่าย อะไรที่ไม่ได้ดังใจก็จะวีนทันที จนถึงจุดหนึ่งรู้สึกว่าตัวเองร้อนรุ่มไปหมด มันไม่มีความสุขเลย อาการหนักพอสมควร ก็เลยไปหาจิตแพทย์ หมออธิบายให้ฟังว่า อาการที่เราเป็นแบบนี้เกิดจากความผิดปกติของสารเคมีในสมอง ยิ่งโมโหก็ยิ่งเพิ่มดีกรีความรุนแรงขึ้นเรื่อยๆ จนในที่สุดจะควบคุมตัวเองไม่ได้ ก็รักษาอยู่เป็นปี จนอาการดีขึ้น มีอยู่วันหนึ่งลูกน้องที่รักกันเดินมาพูดกับเราว่า “ถ้าพี่อ๋องไม่โมโห หนูรับประกันว่างานก็ออกมาเรียบร้อยสวยงามเป๊ะ!!” ทำให้เราได้คิดเลยว่า จริงของมัน!! ชีวิตเรามี 2 หนทาง ต้องเลือกเอาเอง คือหนึ่ง...วีนวี้ดบึ้ม แล้วงานออกมาสวยเป๊ะ กับสอง...ไม่วีนไม่โมโห สวยตลอดตั้งแต่ต้นจนจบ ในเมื่อเราอยากสวยตลอดใช่ไหม เรารักลูกน้องของเราใช่ไหม แล้วทำไมไม่พูดกันดีๆ ตั้งแต่นั้นมาตื่นเช้ามาทุกวัน ก็จะบอกตัวเองว่า Life is burden...Life is Beautiful...Life is Easy แล้วยิ้มกับตัวเอง ให้กำลังใจตัวเอง ทุกวันนี้ ถ้าหงุดหงิดลูกน้อง ก็จะเดินหนีเลย และบอกตัวเองว่า มันเป็นเช่นนั้นเอง การที่ได้อยู่ใกล้ชิดของสวยๆงามๆอย่างดอกไม้ช่วยจรรโลงจิตใจของเรา ขณะเดียวกัน ก็โชคดีเหลือเกินที่เกิดมาในเมืองพุทธ คิดว่าพุทธศาสนาทำให้ชีวิตสบาย เป็นภูมิคุ้มกันความทุกข์ และเป็นคนที่เชื่อใน Power of Now คือมีสติอยู่กับปัจจุบัน ชีวิตก็เหมือนแหวนวงหนึ่งที่เขียนว่า ทุกสิ่งทุกอย่างผ่านมาแล้วก็ผ่านไป มันเป็นแค่ภาพลวงตา สิ่งที่จะอยู่ก็คือจิตของเรานั่นเอง สุขทุกข์อยู่รอบตัวเรา ให้หยิบเอาเอง ชีวิตนี้เลือกได้ ฉะนั้นถ้ามีสติ เราก็เลือกได้แน่นอน.

ทีมข่าวหน้าสตรี