ความยินดีปรีดาของทัพผู้รุกราน.

ไทยรัฐซันเดย์สเปเชียล โดยทีมงานนิตยสารต่วย’ตูนสัปดาห์นี้ ขอนำเสนอเรื่องราวที่ออกจะทำร้ายจิตใจสักหน่อย แต่เป็นเรื่องที่อยากให้แฟนานุแฟนได้อ่านอย่างตั้งใจ และจดจำไว้เตือนใจ ว่าสงครามนั้นโหดร้ายเพียงใด

หลังสงครามโลกครั้งที่ 1 ในปี พ.ศ.2474 จีนซึ่งกำลังมีปัญหาการเมืองภายในระหว่างพรรคก๊กมินตั๋ง ซึ่งเป็นรัฐบาลปกครองประเทศ กับพรรคคอมมิวนิสต์ ที่เป็นฝ่ายต่อต้านรัฐบาล ก็เจอเคราะห์ซ้ำกรรมซ้อน ถูกญี่ปุ่นรุกรานดินแดนทางทิศตะวันออกเฉียงเหนือที่เรียกว่าแมนจูเรีย (เพื่อหวังในทรัพยากรธรรมชาติของที่นั่น และอยากได้เป็นกันชนระหว่างญี่ปุ่นกับรัสเซียที่มีการสู้รบกันมาแล้วก่อนหน้านั้น) นอกจากปัญหาความอ่อนแออันเกิดจากความ ขัดแย้งภายในแล้ว ความล้าสมัยของยุทโธปกรณ์ก็เป็นปัจจัยสำคัญที่ทำให้กองทัพของจีนด้อยประสิทธิภาพอย่างยิ่ง ทำให้ไม่อาจต้านทานกองกำลังของญี่ปุ่นที่มีอาวุธที่ทันสมัยกว่ามาก จึงเสียดินแดน ส่วนนั้นไปในเวลาเพียงไม่กี่เดือน

ต่อมาญี่ปุ่นก็ใช้เล่ห์เหลี่ยมทางการเมืองบีบบังคับให้ตนสามารถเข้าไปตั้งกองกำลังในดินแดนจีนได้เพิ่มมากขึ้นเรื่อยๆ แม้ว่าจะได้รับการต่อต้านจากชาวจีนก็ตาม แต่ก็ยังไม่มีการสู้รบกันอย่างเต็มที่ในขั้นที่เรียกว่าทำสงครามกัน

นานกิง สงครามสังหารสุดหฤโหด

...

ระหว่างสงครามโลกครั้งที่ 2 มีพลเรือนเสียชีวิตไปเป็นจำนวนมาก ทั้งที่ไม่ได้รู้อีโหน่อีเหน่ ไม่ได้เข้าไปร่วมสู้รบในสงครามด้วยเลย แต่เกิดจากการตกเป็นเชลยแล้วถูกสังหารหมู่ อย่างในยุโรปชาวยิวก็ถูกสังหารหมู่ไปจำนวนหลายล้านคนโดยกองทัพนาซี ส่วนทางเอเชียของเราเองก็มีเหตุการณ์สุดโหดทำนองเดียวกันที่เกิดกับประชาชนจำนวนหลายแสนคน เหตุการณ์ที่ว่าคือการสังหารหมู่ที่เมืองหนานจิง อดีตเมืองหลวงของจีนในยุคนั้น หรือที่คนไทยเราคุ้นเคยกันในชื่อ นานกิง

จุดเริ่มต้นที่แท้จริงของสงครามเกิดขึ้นในค่ำคืนวันที่ 7 กรกฎาคม พ.ศ.2480 เมื่อกองทัพญี่ปุ่นอ้างว่ามีทหารญี่ปุ่นนายหนึ่งหายไปและมีความประสงค์ขอเข้าตรวจค้นเมืองหว่านผิง ซึ่งตั้งอยู่ทางด้านตะวันตกเฉียงใต้ของกรุงปักกิ่ง แต่ถูกทหารประจำการของจีนปฏิเสธ กองทัพญี่ปุ่นไม่พูดพร่ำทำเพลงยกพลเข้าบุกโจมตีเมืองหว่านผิงและยิงลูกระเบิดใส่บริเวณสะพานหลูโกวเฉียว (สะพานมาร์โคโปโล) จากนั้นก็เข้าตีและยึดเมืองปักกิ่งได้อย่างรวดเร็ว

ต่อมาวันที่ 16 และ 17 เดือนเดียวกัน แม่ทัพสูงสุดของรัฐบาลจีนนามเจี่ยงจงเจิ้ง หรือที่คนต่างชาติรู้จักในนามนายพลเจียงไคเช็ค ก็ออกแถลงการณ์ปลุกระดมชาวจีนทั่วทุกหัวระแหงให้ลุกขึ้นต่อต้านการรุกรานของญี่ปุ่น

นานกิง สงครามสังหารสุดหฤโหด

เดือนสิงหาคม พ.ศ.2480 กองทัพญี่ปุ่นส่งกำลังทหารเข้าโจมตีเมืองเซี่ยงไฮ้ และยึดได้ภายในระยะเวลาราว 3 เดือนเศษ ศึกครั้งนั้นจีน เสียทหารไปมากกว่าสองแสนนาย โดยก่อนที่เซี่ยงไฮ้จะแตกไม่นานรัฐบาลจีนประกาศย้ายเมืองหลวง และหน่วยงานราชการทั้งหมดจากนานกิง ซึ่งตั้งอยู่ไม่ห่างจากเมืองเซี่ยงไฮ้ไปอยู่ที่เมืองจุงกิงชั่วคราว ขณะที่ศูนย์บัญชาการทหารก็ย้ายไปประจำการที่เมืองอู่ฮั่น และเมื่อสงครามลุกลามไปที่อู่ฮั่น จึงมีการย้ายฐานทัพไปประจำการยังเมืองจุงกิงเช่นกัน

หลังจากยึดเซี่ยงไฮ้ได้ เป้าหมายต่อไปของญี่ปุ่นคือนานกิง ซึ่งเป็นอดีตเมืองหลวงไปแล้ว ญี่ปุ่นโหมการโจมตีอย่างหนักทั้งทางพื้นดินและทางอากาศ แต่เนื่องจากแม่ทัพใหญ่และทหารจำนวนมากของจีนที่ทำหน้าที่ป้องกันเมืองนานกิงหลบหนีไปจากเมือง เพราะเชื่อว่ากองกำลังที่รักษาเมืองไม่อาจต้านทานกองทัพญี่ปุ่นได้แน่ แล้วกองทัพญี่ปุ่นก็เข้ายึดครองเมืองแห่งนี้ได้ในวันที่ 13 ธันวาคม พ.ศ.2480 โดยใช้เพียง 4 วันเท่านั้น แม้ว่าจะเสียกำลังทหารไปกว่า 4 หมื่นนาย หลังจากยึดเมืองนานกิงได้สำเร็จ ญี่ปุ่นก็ขยายกำลังออกไปยังดินแดนต่างๆของประเทศจีนมากขึ้น

สงครามครั้งนี้ เรื่องที่ สร้างความ โกรธแค้นสะเทือนใจให้แก่คนจีนมาจนทุกวันนี้ คือเหตุการณ์ที่ชาวตะวันตกเรียกว่า Nanjing Massacre หรือ การสังหารหมู่ที่นานกิง เพราะการเข้ายึดครองเมืองนานกิง ของทหารญี่ปุ่นได้เข่นฆ่าล้างผลาญชีวิตและทรัพย์สินของชาวจีนไปมากมาย มีทั้งการเผาทั้งเป็น ฝังทั้งเป็น ลั่นกระสุนสังหาร แทงด้วยดาบปลายปืน ฟันด้วยดาบ ปล้นสะดม โดยเฉพาะการข่มขืน กระทำชำเราผู้หญิงและเด็กหญิงชาวจีนเป็นจำนวนมากถึงราว 20,000 คน จนเป็นที่รู้จักในอีกชื่อหนึ่งว่า The Rape of Nanjing

นานกิง สงครามสังหารสุดหฤโหด

...

ทางการจีน นักประวัติศาสตร์ และบรรดาหน่วยงานบรรเทาทุกข์ที่อยู่ในเหตุการณ์ ต่างพูดตรงกันว่ากองทัพญี่ปุ่นได้สังหารชาวจีนเฉพาะในเมืองนานกิงราว 300,000 คน ซึ่งความโหดร้ายที่ปรากฏแก่ชาวโลก ได้รับการเปิดเผยจากบันทึกและการบอกเล่าของชาวต่างชาติผู้อยู่ที่นานกิงในเวลานั้น โดยเฉพาะชาวอเมริกันหลายคนหลายอาชีพที่ทำงานที่นั่น พวกเขามีส่วนช่วยให้ชาวเมืองรอดชีวิตได้จำนวนมาก ต่อไปนี้เป็นข้อความ ที่คัดมาเพื่อให้เห็นภาพในสายตา ของผู้ที่อยู่ในเหตุการณ์

ทิลแมน เดอร์ดิน นักข่าวของนิวยอร์กไทม์ส ได้เห็นเหตุการณ์สังหารหมู่ในช่วงเริ่มแรกก่อนที่จะถูกทหารญี่ปุ่นไล่ออกไป เขาเขียนเล่าภาพที่เขาเห็นกับสายตาตนเองว่า

“ตอนนั้นผมอยู่ในวัย 29 นั่นเป็นข่าวใหญ่ชิ้นแรกที่ผมทำให้นิวยอร์กไทม์ส ผมขับรถ ลงไปที่ฝั่งแม่น้ำ รถต้องแล่นทับไปบนศพที่กองก่ายกันระเกะระกะที่ฝั่งแม่น้ำนั่น ขณะผมรอคอยการลงมือ พวกนายทหารของญี่ปุ่นก็สูบบุหรี่คุยกัน ยืนดูการสังหารทหารจีน 1 กองพันโดยรัวปืนกลเข้าใส่”

นานกิง สงครามสังหารสุดหฤโหด

“มีคนจำนวนราวสี่ร้อยคนถูกนำตัวออกไปจาก ตึกแห่งหนึ่ง พวกเขาถูกล่ามติดกันเป็นชุดๆ ชุดละประมาณห้าสิบคน โดยมีแถวของทหารที่ถือปืนยาวและปืนกลมือคอยควบคุมอยู่ พวกเขาต้องเดินแถวกันไปเพื่อรับการประหาร”

นอกจากนั้นนักข่าวอีกคนหนึ่งก็รายงานว่า ก่อนที่เขาจะออกจากเมืองนานกิงไปขึ้นเรือเพื่อไปตั้งหลักที่เซี่ยงไฮ้ เขาพบการสังหารหมู่ผู้ชายจำนวนสองร้อยคน ชายทั้งหมดถูกนำตัวไป ยืนเรียงหน้ากระดานที่ข้างกำแพงแห่งหนึ่ง จากนั้นทหารญี่ปุ่นก็ช่วยกันระดมยิงใส่ผู้ชายเหล่านั้น เมื่อนักโทษถูกยิงล้มลงไปนอนกับพื้นแล้ว ทหารทั้งหลายก็เข้าไปเอาเท้าเหยียบและใช้ปืนพกยิงเข้าใส่ผู้ที่ยังดิ้นอยู่

“นายทหารเรือชั้นผู้ใหญ่ของญี่ปุ่นจากเรือรบที่ลอยลำอยู่นอกชายฝั่ง เข้าไปดูปฏิบัติการของทหารญี่ปุ่นราวกับเข้าไปชมการแสดงที่บันเทิงใจ”

...

นานกิง สงครามสังหารสุดหฤโหด

สาธุคุณ จอห์น มากี นักสอนศาสนาชาว อเมริกัน เป็นอีกผู้หนึ่งที่เห็นเหตุการณ์ ท่านสาธุคุณบอกว่า ทหารญี่ปุ่นไม่เพียงสังหารเชลยศึกทุกคนที่จับได้เท่านั้น แต่ยังเข่นฆ่าชาวบ้านชาวเมืองทุกเพศทุกวัยด้วย

“...หลายคนถูกยิง ราวกับเป็นการล่ากระต่ายไปตามท้องถนน”

หลังจากได้เห็น การสังหารและข่มขืนอยู่ 1 สัปดาห์สาธุคุณ มากีได้ร่วมกับชาวตะวันตกคนอื่นๆ จัดตั้งเขตปลอดภัยสากลขึ้น เพื่อช่วย เหลือชาวจีนจำนวนหนึ่งให้รอดพ้นจากการสังหาร โดยเฉพาะผู้หญิงให้พ้นจากการถูกข่มขืน

นานกิง สงครามสังหารสุดหฤโหด

...

ยังมีข้อความจากสมุดบันทึกของ มินนี วอทริน สตรีชาวอเมริกัน ซึ่งมีส่วนช่วยเหลือร่วมกับสาธุคุณมากี เธอบันทึกในวันที่ 16 ธันวาคมว่า

“...คงไม่มีอาชญากรรมประเภทไหนเลยที่ไม่ได้เกิดขึ้นในวันนี้ เด็กสาว 13 คนซึ่งทำงานในโรงเรียนสอนภาษาได้ถูกฉุดไปเมื่อคืนนี้ และวันนี้ฉันก็ได้ยินว่าเมื่อคืนมีเด็กผู้หญิงตามบ้านเรือนถูกเอาตัวไปหลายคน บางคนเพิ่งอายุ 12 ปี”

“...ศพของประชาชนที่ถูกฆ่าตายเกลื่อนกลาดตามท้องถนนทุกสายในเมือง ส่วนใหญ่ของศพที่เห็นเป็นผู้สูงอายุ ผู้หญิง และเด็ก...”

นานกิง สงครามสังหารสุดหฤโหด

ในวันต่อๆมา เธอเขียนว่า “มีคนถูกกราดยิงหรือแทงตายด้วยดาบปลายปืนไปกี่หมื่นคน เราคงไม่มีทางรู้ได้ เพราะหลายกรณีมีการราดน้ำมันลงบนศพแล้วจุดไฟเผา”

แม้กระทั่งหนังสือพิมพ์ในญี่ปุ่นยุคนั้นก็รายงานว่า พวกทหารชั้นผู้น้อยของญี่ปุ่นต่างแข่งกันว่าใครจะฆ่าคนจีนได้มากกว่ากัน

เรื่องราวของชาวตะวันตกที่คอยช่วยเหลือเหล่าสตรีที่หลบหนีการย่ำยีอย่างทารุณของทหารญี่ปุ่นนั้น ได้รับการสร้างเป็นภาพยนตร์เรื่อง “The Flowers of War สงครามนานกิง สิ้นแผ่นดินไม่สิ้นเธอ” ภาพยนตร์จีนที่ได้รับการพูดถึงกันในระดับโลก ทั้งยังได้รับการเสนอชื่อเข้าชิงทั้งรางวัลออสการ์และลูกโลกทองคำอีกด้วย

นานกิง สงครามสังหารสุดหฤโหด

ระยะเวลาราวหกสัปดาห์ที่ชีวิตของชาวเมืองนานกิงตกอยู่ภายใต้ความหวาดกลัว ทหารญี่ปุ่นที่เมามายเดินกันเกลื่อนตามท้องถนน พร้อมจะทำทุกอย่างกับคนจีน ไม่ว่าจะเป็นการปล้น ฆ่า ข่มขืน นักศึกษาหญิงถูกบังคับให้ไปบริการทางเพศต่อทหารญี่ปุ่น ผู้ที่ขัดขืนก็ถูกข่มขืนแล้วฆ่าทิ้งประมาณ ตัวเลขออกมาว่า หญิงชาวจีนถูกข่มขืนไปมากถึง 20,000 คน ในเวลา แค่ 4 สัปดาห์แรกหลังการยึดเมืองนานกิงสำเร็จ ไม่เว้นแม้แต่หญิงชรา เด็ก และหญิงมีครรภ์ ไม่เพียงแต่ข่มขืนด้วยตัวเองเท่านั้น ทหารญี่ปุ่นยังบังคับให้พ่อขืนใจลูกสาวตนเอง และลูกชายขืนใจแม่ โดยพวกเขายืนดูกันราวกับดูการแสดงที่สนุกสนาน หลังการข่มขืนเสร็จหญิงเคราะห์ร้ายจำนวนมากถูกฆ่าตายอย่างสยดสยอง

นอกจากการสังหารหมู่ทหารเชลยและประชาชนจำนวนมากแล้ว ทหารญี่ปุ่นทำการข่มขวัญชาวจีนไม่ให้ต่อต้านพวกเขาด้วยการทิ้งศพไว้เกลื่อนถนนและปล่อยให้เลือดไหลนองไปทั่วพื้นถนน ผู้เคราะห์ร้ายจำนวนมากถูกนำไปเป็นหุ่นให้ทหารญี่ปุ่นฝึกการใช้ดาบปลายปืน บางส่วนถูกเผาทั้งเป็น หรือไม่ก็ถูกฝังดินทั้งเป็น ศพชาวจีนจำนวนมหาศาลถูกนำไปทิ้งในแม่น้ำแยงซีเกียงจนแม่น้ำแดงฉานไปด้วยเลือด ประมาณกันว่าในครั้งนั้นคนจีนถูกสังหารไปไม่น้อยกว่าสามแสนคน

การสังหารหมู่ที่นานกิงเป็นอีกตัวอย่างอันชัดเจนของความอำมหิตโหดร้ายของสงคราม ซึ่งแทบจะมิก่อให้เกิดประโยชน์อันใดเลย มีแต่จะสร้างความพินาศย่อยยับให้กับมวลมนุษยชาติเพียงอย่างเดียวเท่านั้น.

โดยแสงเทียน และทีมงานนิตยสารต่วย'ตูน