พาชม 'นิด้า ไลบรารี่' ห้องสมุดยุคอิเล็กทรอนิกส์ที่ได้รับการยกย่องว่าเป็นอันดับหนึ่งในอาเซียน หลังจากปรับปรุงและพัฒนาให้กลายเป็นระบบดิจิตอลอย่างสมบูรณ์ สามารถยืม - คืน อีบุ๊กผ่านช่องทางออนไลน์ของสถาบันนิด้า...
เชื่อว่ายุคที่เทคโนโลยีเฟื่องฟู เหล่าอุปกรณ์อัจฉริยะเป็นที่นิยมอย่างในสมัยนี้คงไม่มีใครไม่รู้จักหนังสืออิเล็กทรอนิกส์ หรือที่เรียกสั้นๆ ว่าอีบุ๊ก ซึ่งเริ่มที่จะก้าวเข้ามามีบทบาทในชีวิตประจำวันของคนไทยมากขึ้นทุกวัน สังเกตได้จากหลายๆ เหตุการณ์ เช่น โครงการวัน แท็บเล็ต เพอร์ ไชลด์ (One Tablet Per Child) ของรัฐบาลที่จะช่วยสร้างความคุ้นเคยให้เด็กได้ใช้อ่านตำราเรียนอิเล็กทรอนิกส์ แทนตำราเรียนแบบเดิม คงจะไม่เกินเลยไปนักหากจะฟันธงไปเลยว่าคนไทยเกินล้านเคยอ่านอีบุ๊ก แต่จะมีซักกี่คนที่เคยเข้าไปใช้บริการห้องสมุดล้ำยุคในรูปแบบใหม่ 'อี-ไลบรารี่' (E-Library) ซึ่งฉีกแนวห้องสมุดแบบเดิมๆ ให้สัมผัสได้ถึงบรรยากาศความเป็นอิเล็กทรอนิกส์แบบเข้าเส้น
วันนี้ ฤกษ์งามยามดี ทีมข่าวไอทีออนไลน์ขออาสาพาผู้อ่านเข้าไปชม 'นิด้า ไลบรารี่' หรือสำนักบรรณสารการพัฒนา ห้องสมุดอิเล็กทรอนิกส์ ของสถาบันบัณฑิตพัฒนบริหารศาสตร์ หรือ นิด้า ที่ได้รับการยกย่องโดยเหล่าศาสตราจารย์และอธิการบดี จากมหาวิทยาลัยชั้นนำในยุโรปว่าอยู่ในระดับเวิลด์คลาส และเป็นอันดับ 1 ของอาเซียน จากการปรับปรุงและพัฒนาให้กลายเป็นระบบดิจิตอลอย่างสมบูรณ์ สามารถยืม - คืน อีบุ๊กผ่านช่องทางออนไลน์ พร้อมระบบการสั่งซื้ออีบุ๊กเข้าห้องสมุดภายใน 30 นาทีของบุคลากร
นายธวัชชัย ศุภดิษฐ์ รองอธิการบดีฝ่ายวางแผน สถาบันนิด้า กล่าวว่า นิด้าลงทุนเกี่ยวกับซอฟต์แวร์บริหารจัดการภายในห้องสมุดค่อนข้างมาก โดยเฉพาะด้านอีบุ๊กซึ่งมีค่าลิขสิทธิ์ราว 10 ล้านบาทต่อปี มีแนวคิดสำคัญในการพัฒนาจากการที่ต้องการเปลี่ยนแปลงพฤติกรรม นศ.ไทยที่ไม่นิยมเข้าใช้บริการห้องสมุด โดยการสร้างบรรยากาศให้เป็นลิฟวิ่ง ไลบรารี่ (Living Library) เปรียบเสมือนเป็นห้องนั่งเล่นในบ้านของ นศ.เอง
...
ห้องสมุดของนิด้าตั้งอยู่บนอาคารบุญชนะ อัตถากร โดยจะต้องขึ้นบันไดไปยังชั้นสอง ซึ่งจะเป็นพื้นที่ให้บริการของห้องสมุดไปจนถึงชั้นสี่ รวมพื้นที่ใช้สอยประมาณ 9,125 ตารางเมตร
โดยจะพบกับบอร์ดอิเล็กทรอนิกส์แสดงกำหนดการต่างๆ รวมไปถึงกฎข้อบังคับวิธีการใช้งานห้องสมุดของนิด้า มีลักษณะการนำเสนอคล้ายกับบอร์ดติดประกาศ
ภายในตัวห้องสมุดจะมีโซนต่างๆ มากมาย ในส่วนของอีบุ๊กในชั้นสองนี้ จะมีบริการค้นหาอีบุ๊กผ่านระบบ สามารถหาได้ทั้งหนังสือแบบเดิมๆ อีบุ๊ก รวมไปถึงภาพยนตร์ต่างๆ ที่มีไว้อย่างครบครัน สามารถเลือก และยืมไปรับชมในห้องสำหรับชมภาพยนตร์ได้ทันที
...
สำหรับผู้ที่นิยมการสัมผัสหน้ากระดาษแบบเดิมๆ นิด้าเองก็มีหนังสือหมวดต่างๆ ให้เลือกอย่างหลากหลาย พร้อมจัดสรรพื้นที่ในการอ่านแบบสบายๆ คล้ายกับอยู่ที่บ้าน
หากใครรู้สึกเบื่อ หรือเกิดหิวขึ้นมา ในชั้นสองนี้มีบริการร้านกาแฟแบบเคาน์เตอร์บาร์ให้ผู้ใช้บริการทั้ง นศ.และบุคคลภายนอกได้ไปนั่งเปลี่ยนบรรยากาศด้วยเช่นกัน นับเป็นการเปลี่ยนแปลงระเบียบบังคับแบบเดิมๆ ที่ห้ามนำอาหารหรือเครื่องดื่มเข้ามารับประทานในห้องสมุด
...
นอกจากนี้ภายใน 'นิด้า ไลบรารี่' ยังมีพื้นที่ให้บริการอื่นๆ อีกมากมาย อาทิ ห้องอบรมคอมพิวเตอร์ อินเทอร์เน็ตโซน รวมถึงห้องรับชมสื่อมัลติมีเดียต่างๆ แต่เนื่องจากเวลามีจำกัด ทีมข่าวไอทีออนไลน์จึงพาท่านผู้อ่านชมได้เพียงชั้นสองเท่านั้น หากสนใจรับชม หรือใช้บริการห้องสมุดอิเล็กทรอนิกส์ของนิด้าแบบเต็มๆ สามารถเข้าไปใช้บริการได้ที่ อาคารบุญชนะ อัตถากร สถาบันบัณฑิตพัฒนบริหารศาสตร์ หรือนิด้า เปิดทำการวันจันทร์ - ศุกร์ เวลา 08.00 - 19.30 น. วันเสาร์ - อาทิตย์ 10.00 - 20.00 น. นักเรียนและพระภิกษุใช้บริการฟรี บุคคลภายนอกเสียค่าบริการครั้งละ 30 บาทต่อวัน.