เหตุที่หนังสือเรื่อง ผู้ชนะสิบทิศ เป็นวรรณกรรมอมตะ ระหว่างตีพิมพ์ในหนังสือพิมพ์ แฟนประจำถึงขนาดแห่กันมารอซื้อถึงหน้าโรง-พิมพ์ และยังพิมพ์เป็นหนังสือเล่มขายกันในวันนี้

“ยาขอบ” ผู้ประพันธ์ เล่าไว้ในข้อเขียนเรื่อง เหตุที่กุสุมาไม่ได้แต่งงาน (นิตยสารรายปักษ์ โบว์แดง ฉบับ 26 วันที่ 16 ก.พ.2490)...ว่า

ในการเขียนผู้ชนะสิบทิศนั้น ขอเรียกตามความนึกคิดของข้าพเจ้าว่า พยายามเขียนให้บ้าที่สุดที่จะบ้าได้ พฤติการณ์ของตัวละครทุกตัวในเรื่อง ถ้ามีโอกาสมักจะถูกบังคับให้ทำ ในสิ่งที่มนุษย์ธรรมดาสามัญเขาไม่ค่อยทำ เช่น ให้นางเอกถูกข่มขืนเสียบ้าง พ่อเจ็บใจถึงกับแทงลูกเสีย ตายกับมือตนเองบ้าง ฯลฯ

และการดึงเอากุสุมาคนเดียวโดดๆ มาแต่งงานพร้อมกัน ในท่ามกลางประยูรญาติของจันทราแต่ฝ่ายเดียวทั้งสิ้นนี้ ก็เป็นความบ้าชนิดที่ข้าพเจ้าเชื่อว่าคงไม่มีผู้ชายใดกระทำ ดังนั้น ข้าพเจ้าจึงให้จะเด็ดทำ

ฝ่ายหมอจะเด็ดนั่นก็ไม่เลว ตะล่อมทางโน้นตะล่อมทางนี้ ด้วยความคิดและอุบายอันแยบยล

จนกระทั่งจันทราก็ดี หรือพระเจ้าตะเบงชะเวตี้ ผู้ยิ่งใหญ่ น้องชายจันทราก็ดี ก็ยังเห็นชอบด้วยกัน ที่จะเด็ดจะเอาผู้หญิงอื่น (ซึ่งมีราคีถูกสอพินยาฉุดเอาไปเป็นเมียที่เมืองแปร) มาเข้าพิธีเทียมบารมีพระที่นางของตนเอง

ยาขอบอธิบายว่า การแต่งงานพร้อมกันนี้ ย่อมเป็นเครื่องเน้นลักษณะนิสัย ให้จันทราเป็นยอดหญิงหรือนางแก้ว ซึ่งเปี่ยมไปด้วยเมตตาจิตและการแผ่พระคุณ ทั้งพยายามที่สุดที่จะเพิ่มความสุขใจให้คนรัก

เรื่องราวตอนนี้ ยาขอบคิดว่า ได้สร้างปราสาทที่งดงามได้สัดส่วนขึ้นหลังหนึ่ง จนเมื่อมีเหตุให้ต้องรื้อปราสาทหลังนี้เสีย จึงอกสั่นขวัญหายเป็นอย่างยิ่ง เมื่อถูกยื่นคำขาดว่า “พ่อยาขอบ จะเขียนอย่างนั้นไม่ได้เป็นอันขาด”

ในบ่ายของวันที่ผู้ชนะสิบทิศกำลังอยู่ในตอนจะเด็ดจะเข้าพิธีอุปภิเษกพร้อมด้วยสองนาง...บังตาห้องที่ยาขอบทำงาน ก็ถูกเปิดออก มีเสียงถามหา ...อาคันตุกะ เจ้าของเสียงเป็นหญิงร่างใหญ่วัยเกือบ 70 ท่วงทีสง่า ผมตัด แต่งกายเรียบแต่สะอาดภาคภูมิสวมเสื้อขาวเกลี้ยงๆแบบผู้ใหญ่ เมื่อเดินเข้ามา ก็ควงพัดด้ามจิ๋วในมือเล่น มีคนเลื่อนเก้าอี้ให้นั่ง

“ไม่ต้องย่ะ สมัยหลีปับลิกผู้หญิงก็ยืนได้”

ข้าพเจ้าได้ยิน คำหลีปับลิก ก็วาบในหัวใจ นี่ใครหนอ มองไปที่คอเสื้อ เห็นเข็มทองคำลงยาขนาดใหญ่ ทำเป็นลายเซ็นด้วยตัวหนังสือเอนๆ ยาวราวสักสี่นิ้ว “พระปิ่นเกล้า” เข้าด้วย ก็รู้สึกว่ายากที่จะพูดจา จะเป็นเจ้า หรือเป็นคนสามัญก็ไม่รู้

ก็พอดีอาคันตุกะเขยิบใกล้เข้ามาอีก “พ่อเอ๊ย ฉันนี่คราวย่าเห็นจะได้ละกระมัง” ว่าแล้วก็ลูบหัวข้าพเจ้าเอาดื้อๆ ยาขอบอยู่ในอาการละล้าละลัง ตั้งตัวไม่ถูกจนพี่สาวคุณกุหลาบ สายประดิษฐ์มาบอกว่า

“พระองค์เฉิดโฉมนี่แหละ ตัวทศกัณฐ์ชั้นอาจารย์ละ”

ทูลว่า รู้แล้วว่าพระองค์ท่านเป็นใคร “เป็นใคร เป็นอะไรไม่สำคัญดอก เป็นคนเหมือนกัน สำคัญอยู่ที่กรรมชั่วและกรรมดี ” ท่านรับสั่ง แล้วก็บอกจุดประสงค์ว่า “ที่ฉันมานี่ เพราะอยากตักเตือนพ่อยาขอบให้ทำแต่กรรมดี”

“ไม่มีใครเขาจะพิเรนทร์หรอกพ่อเอ๋ย จะได้เอาผู้หญิงที่ถูกฉุดคร่าจนเสียเนื้อเสียตัวไปเข้ามาสู่พิธีแต่งงานเชิดหน้าชูตา พร้อมผู้หญิงที่เป็นพรหมจารี และดีอย่างเหลือแสนอย่างตะละแม่จันทรา”

ยาขอบจึงรู้ในบัดนั้น “กรรมชั่ว” ของเขา เกิดจากการเขียนเรื่องให้เอากุสุมาเข้าพิธีอุปภิเษกพร้อมกับจันทรานั่นเอง

ทูลไปว่า จะแก้ไขให้เป็นอื่นคงไม่ได้ เสด็จพระองค์หญิงผู้ชราหงุดหงิดพระทัย สุดท้ายก็ยื่นไม้ตาย “เอ้า ใครผิดใครถูก ไม่ต้องพูดกัน เอาแต่เพียงพ่อเปลี่ยนตามใจฉัน นึกว่าทำบุญให้คนแก่ตายสบายใจได้ไหม”

ข้าพเจ้างงงันเหมือนโดนทุบหัว อีกใจหนึ่งก็เศร้านัก เมื่อคิดว่า โอ้ปราสาทหลังงามของเราเอ๋ย ยาขอบรำพัน หลังการรับปากว่าจะเปลี่ยนถวาย ตามที่ประสงค์

กว่าจะดึงเอากุสุมามาแต่งงานกับจันทราได้ ก็ได้ผูกโยงเหตุผลแวดล้อมเสียแน่นหนา จนเป็นเงื่อนตาย ปัญหาก็คือ จะแก้เรื่องไม่ให้เสียรูปรส...แบบไหนดี

ตัวละครสำคัญ และมีน้ำหนักจะห้ามปรามจะเด็ด เช่นตัวตะละแม่จันทรา พระเจ้าตะเบงชะเวตี้ หรือมังสินธูมหาเถรอาจารย์ ก็เอามาสนับสนุนข้างให้จะเด็ดแต่งงานพร้อมกันเสียแล้ว พวกนี้จะกลับความคิดข้างไม่ยอมขึ้นมา ก็บ้าเต็มทน จึงต้องหาตัวใหม่ ใครหนอ ที่จะมีความสำคัญและมีน้ำหนักพอ ข้าพเจ้าพบพระนมเลาชี มารดาของจะเด็ดเอง

ตามเรื่องที่ผ่านมาแล้ว แม้จะกล่าวถึงแม่เลาชีว่าเป็นคนซื่อทรงสัตย์ ทรงธรรม และภักดีในราชวงศ์ตองอูเต็มเปี่ยม แต่ก็ไม่มีพฤติกรรมอันใด ที่จะชูลักษณะนิสัยของแม่เลาชี ในข้อที่ว่านี้ได้เด่นชัดออกมาสักคราวเดียว

แม่เลาชีมีบทบาทน้อยเหลือเกิน ในผู้ชนะสิบทิศที่แล้วมา

ยาขอบเริ่มคิดได้ ครั้งนี้จะให้แม่เลาชีแสดงบทบาทให้เด่นชัด “ข้าพเจ้าวางแผนให้ตัวละครตัวนี้เข้าขัดขวางจะเด็ด”

ดังนั้น ปราสาทเก่าก็หายวับไป แต่มิใช่การรื้อทำลาย หากด้วยการสร้างอันใหม่ ครอบลงไปบนอันเก่า

บทบาทของแม่เลาชีตอนนี้ ทำให้ข้าพเจ้าได้รับจดหมายจากผู้อ่านนับเป็นจำนวนร้อย ยินดีปรีดากับพฤติการณ์อันเป็นผู้มีใจซื่อถือธรรมของพระนมผู้เฒ่า บ้างก็บอกว่าถึงกับน้ำตาคลอเพราะตื้นตันใจ

แม่นมเลาชีมีชีวิตชีวาขึ้นมาอีกตัวหนึ่ง

ยาขอบ เขียนเรื่อง เหตุที่กุสุมาไม่ได้แต่งงาน ไว้ในวันที่ 22 ธันวาคม 2489 ในวันที่ได้ยินวิทยุประกาศกำหนดวันพระราชทานเพลิง เสด็จพระองค์เฉิดโฉม ณ เมรุ วัดเทพศิรินทราวาส

“ในฐานผู้น้อยด้อยศักดิ์ ข้าพเจ้าย่อมหมดโอกาสที่จะไปสักการะพระศพ ด้วยดอกไม้ธูปเทียน แต่นักประพันธ์เล็กคนหนึ่ง ไม่เคยลืม ความปรารถนาดีที่ใครๆเคยมีต่อมันเลย จึงขอสักการะพระศพด้วยปากกา ซึ่งไหลออกมาเป็นข้อเขียนชิ้นนี้ แทนดอกไม้ธูปเทียน”

...


บาราย