ศิษย์เก่าของมหาวิทยาลัยหรือสถาบันการศึกษาที่ประสบความสำเร็จในชีวิตและการทำงาน เช่น มีผลงานอันเกิดจากความสามารถที่เป็นเลิศ มีคุณงามความดีเป็นที่ยกย่องในสังคม มีตำแหน่งงานที่มีเกียรติและรับผิดชอบสูง มีฐานะดี รวมทั้งมีชื่อเสียงเป็นที่ยอมรับในสาขาวิชาชีพต่างๆ จะทำให้มหาวิทยาลัยหรือสถาบันการศึกษาที่ตนเองจบการศึกษามามีชื่อเสียงตามไปด้วย ดังนั้นส่วนหนึ่งของความเชื่อถือหรือชื่อเสียงของมหาวิทยาลัยหรือสถาบันการศึกษา จึงได้มาจากความสำเร็จของศิษย์เก่า
ศิษย์เก่าที่ประสบความสำเร็จนิยมที่จะกลับไปช่วยเหลือสถาบันการศึกษา และเป็นกำลังสำคัญในการพัฒนาอย่างมาก สมาคมศิษย์เก่าของสถาบันการศึกษาที่เข้มแข็งมีความสัมพันธ์กับความเข้มแข็งของศิษย์เก่าหรือความสำเร็จของศิษย์เก่า ความเข้มแข็งของสมาคมศิษย์เก่าจึงเป็นตัวชี้วัดความสำเร็จของศิษย์เก่า และอาจจะมีความสัมพันธ์กับคุณภาพของสถาบันการศึกษาในการผลิตผู้จบการศึกษาออกไปด้วย
สถาบันการศึกษาทั่วโลกให้ความสำคัญกับศิษย์เก่า สำหรับในประเทศไทย นายกสมาคมศิษย์เก่าอาจมีตำแหน่งเป็นกรรมการสภามหาวิทยาลัยโดยตำแหน่งได้อีกด้วยความรัก ความผูกพัน และความภูมิใจที่มีต่อสถาบันการศึกษา รวมทั้งความต้องการทดแทนบุญคุณของสถาบันการศึกษา แสดงออกผ่านช่องทางของกิจกรรมที่จัดขึ้นสำหรับศิษย์เก่า การให้ความช่วยเหลือและร่วมมือเมื่อสถาบันการศึกษาต้องการ และรูปธรรมที่แสดงออกมาได้คือ การบริจาคเงิน สิ่งของ ช่วยเหลือด้วยวิธีการต่างๆ ให้ความร่วมมือกับกิจกรรมที่สถาบันจัดขึ้น รวมทั้งการเป็นวิทยากรหรือองค์ปาฐก แนะนำการฝึกงานและการจ้างงานให้กับรุ่นน้องๆของสถานศึกษา เป็นต้น
กิจกรรมที่เป็นรูปธรรมอีกอย่างหนึ่งของศิษย์เก่าคืองาน “วันคืนสู่เหย้า” หรือ “Homecoming Day” ซึ่งเป็นการกลับมาพบกันของศิษย์เก่าอีกครั้ง หลังจากที่จบการศึกษาและแยกย้ายกันไปทำงานประกอบสัมมาชีพ ในกิจกรรมนี้นอกจากจะเป็นการสังสรรค์พบปะเพื่อนที่จากกันไป ส่วนมากแล้วการจัดกิจกรรมจะมีการเดิน Parade เป็นริ้วขบวนสวยงามและยังมีความหมายและกิจกรรมอื่นๆ อีกมากที่เกี่ยวข้อง เช่น การเลือก Homecoming Court และผู้ที่จะเป็น Homecoming King, Prince, Queen, และ Princess จากนักเรียนปีสุดท้ายและก่อนปีสุดท้ายสำหรับในโรงเรียนมัธยมศึกษาตอนปลาย ที่อาจจะเป็นโรงเรียนชายล้วนหรือโรงเรียนสตรีล้วน และยังเป็นกิจกรรมของนักศึกษาปีสุดท้ายและก่อนปีสุดท้ายในวิทยาลัยและมหาวิทยาลัยที่จะเลือก Homecoming King, Prince และ Homecoming Queen, Princess อีกด้วย การกลับมาในวันงานคืนสู่เหย้า ผู้ที่ได้รับเลือกเหล่านี้มักจะมาปรากฏตัวให้เพื่อนได้พบเห็นอีกครั้ง
Homecoming เป็นประเพณีการกลับมาพบกันของศิษย์เก่าของสถาบันการศึกษาในแต่ละปีหรือตามช่วงเวลาของศิษย์เก่าทั้งระดับโรงเรียน วิทยาลัยหรือมหาวิทยาลัยในทวีปอเมริกาเหนือ ซึ่งได้แก่ประเทศสหรัฐอเมริกา รวมถึงประเทศแคนาดาด้วย การกำเนิดขึ้นของ Homecoming นั้นแรกเริ่มเป็นการกลับมารวมตัวกันของศิษย์เก่าที่อยู่ในทีมอเมริกันฟุตบอลของมหาวิทยาลัยตั้งแต่ช่วงกลางของคริสต์ศตวรรษที่ 19 มีหลายสถาบันการศึกษาอ้างว่าเป็นผู้ให้กำเนิด Homecoming เช่น University of Missouri ซึ่งจัดให้มีขึ้นเมื่อวันที่ 14 ตุลาคม ค.ศ. 1910 University of Illinois at Urbana Champaign จัดขึ้นในปี ค.ศ. 1910 เช่นกัน และ Baylor University ในเมือง Waco มลรัฐ Texas สามารถย้อนอดีตการจัด Homecoming กลับไปถึงปี ค.ศ. 1909 เป็นต้น
ความภูมิใจในสถาบันการศึกษาอาจนำไปสู่ภาวะของ “สถาบันนิยม” หรือ สถาบันเองก็มีส่วนสร้างภาวะของ “สถาบันนิยม” ให้เกิดขึ้นได้ นักศึกษาที่เลือกเรียนในสถานศึกษาบางแห่ง เพราะมีความชื่นชม ความนิยมกับสถาบันการศึกษานั้นตั้งแต่ก่อนที่จะเข้าไปเรียน ความเป็นสถาบันนิยมจึงก่อกำเนิดตั้งแต่ก่อนเป็นนักศึกษาและติดตัวไปจนจบการศึกษาและอาจจนถึงตลอดชีวิต เพราะสถานภาพของการเป็นศิษย์เก่านั้นไม่สามารถลบให้หายไปได้ เป็นสถานภาพที่ติดตัวจนตาย
ความผูกพันและความภูมิใจในสถาบันการศึกษาเป็นความดีงามที่น่ายกย่อง การกลับไปช่วยเหลือสถาบันการศึกษาของศิษย์เก่าเป็นสิ่งที่น่าชื่นชม การช่วยเหลือรุ่นพี่รุ่นน้องในสถาบันการศึกษาเดียวกันเป็นความประทับใจที่ยากจะลืมเลือน แต่การกล่าวถึง “สถาบันนิยม” มักจะมีนัยเชิงลบแฝงอยู่ในความหมาย ซึ่งหมายถึงการคลั่งสถาบัน ยกย่องเชิดชูสถาบันตนเองทุกวิถีทางอย่างไม่มีเงื่อนไข
อิทธิพลของสถาบันนิยมมีปรากฏให้ประชาชนหรือสังคมทั่วไปรับรู้และรู้สึกได้ว่ามีจริง โดยเฉพาะอย่างยิ่งในอดีตที่มีสถาบันการศึกษาระดับสูงหรือมหาวิทยาลัยไม่มากนัก สถาบันการศึกษาแต่ละแห่งก็มีผู้จบการศึกษาไปทำงานรับผิดชอบการใช้อำนาจของรัฐอยู่จำนวนหนึ่ง ผู้ที่กุมอำนาจทางการเมือง เศรษฐกิจ สังคม และการศึกษา ล้วนเป็นผู้ที่จบการศึกษาระดับสูงจากมหาวิทยาลัยหรือสถาบันการศึกษาที่มีอยู่ไม่กี่แห่งในประเทศไทย จึงมองเห็นความชัดเจนของอิทธิพล “สถาบันนิยม” ได้ง่าย การใช้ระบบอุปถัมภ์โดยอ้างความเป็นศิษย์เก่าจากสถาบันเดียวกันอาจสร้างความเหลื่อมล้ำ ความไม่เป็นธรรม ความรู้สึกแบ่งแยกให้เกิดขึ้นในสังคมได้
แต่ในปัจจุบันมีการขยายตัวในด้านการจัดการศึกษาอย่างมาก มีผู้จบการศึกษาระดับมหาวิทยาลัยจำนวนมาก มีสถาบันการศึกษาระดับสูงหรือมหาวิทยาลัยจำนวนมาก มีผู้จบการศึกษาจากสถาบันการศึกษาต่างๆ ได้เข้าสู่วิชาชีพและตำแหน่งงานสำคัญๆที่หลากหลาย ในบางสาขาวิชาชีพเกิดภาวะ “Critical Mass” หรือ “มวลวิกฤติ” ที่เป็นพลวัตทางสังคม (Sociodynamics) ในกรณีนี้ หมายถึง มีผู้สำเร็จการศึกษาจากสถาบันการศึกษาที่เกิดขึ้นใหม่จำนวนมากกว่าผู้จบการศึกษาจากสถาบันการศึกษาดั้งเดิมที่เคยผูกขาดวิชาชีพนั้นมาตลอด ทำให้ความเป็นสถาบันนิยมเริ่มลดอิทธิพลลงบ้าง ความสามารถของบุคคลเริ่มใช้เป็นตัวชี้วัดและตัดสินความสามารถมากกว่าการเป็นเพื่อนร่วมสถาบัน ระบบคุณธรรมเริ่มมีการนำมาใช้เป็นรูปธรรมมากขึ้น มีกฎหมายคุ้มครองการใช้อำนาจที่ไม่เป็นธรรม มีศาลปกครองสำหรับตัดสินข้อพิพาททางด้านการใช้อำนาจต่างๆ เริ่มให้ความสำคัญกับธรรมาภิบาล หรือ Good Governance ถึงแม้จะอยู่ในระยะเริ่มต้นแต่เป็นสัญญาณที่ดีสำหรับอนาคตต่อไป
พลังของศิษย์เก่ามีพลังมากสำหรับการพัฒนาสถาบันการศึกษา เป็นตัวชี้วัดถึงความพอใจของสังคม และการบรรลุถึงจุดมุ่งหมายของสถาบันการศึกษา การนำพลังของศิษย์เก่ามาใช้ให้เกิดประโยชน์เป็นการตื่นตัวของมหาวิทยาลัยในประเทศไทยที่เพิ่งเริ่มมองเห็นศักยภาพที่สำคัญของศิษย์เก่า ซึ่งแต่ก่อนนี้ไม่ให้ความสำคัญเท่าที่ควร เพราะส่วนมากมหาวิทยาลัยยังไม่ต้องการความช่วยเหลือจากศิษย์เก่า ในทางตรงข้ามศิษย์เก่าเองยังไม่มีศักยภาพพอจะสามารถช่วยสถาบันการศึกษาได้ และอาจต้องกลับมาพึ่งพาสถาบันการศึกษาอีกด้วย แต่เมื่อเวลาผ่านไปศิษย์เก่าเริ่มมีจำนวนมากขึ้น มีผู้ประสบความสำเร็จมากขึ้น มีผู้พร้อมเป็น “ผู้ให้” มากขึ้น มีผู้ที่มี “ศักยภาพในการช่วยเหลือ” มากขึ้น
ความเปลี่ยนแปลงนี้ส่งสัญญาณไปยังสถาบันการศึกษาหรือมหาวิทยาลัยต่างๆ ให้ปรับตัวในการสร้างบรรยากาศในการเรียนการสอนให้นักศึกษาเกิดความรักและความผูกพันกับสถาบัน เมื่อนักศึกษาจบการศึกษาไปแล้วอาจกลับมาช่วยเหลือสถาบันได้มาก มหาวิทยาลัยชั้นนำของต่างประเทศเป็นตัวอย่างที่ดีเมื่อผลิตผู้จบการศึกษาออกไปแล้วและมีความรัก ความผูกพัน เมื่อพวกเขาประสบความสำเร็จ มีชื่อเสียง เขาเหล่านั้นได้กลับมาช่วยหรือมีส่วนช่วยให้สถาบันการศึกษาได้รับการยอมรับและมีชื่อเสียงไปด้วย
ความรักและความผูกพันที่สร้างให้กับนักศึกษานั้นควรมีการวางแผนให้มี “ความพอดี” และอยู่บนฐานของ “ความดีงาม” เพราะถ้ามากไปหรือผิดทิศทางแล้วอาจจะสร้างภาวะ “สถาบันนิยม” ให้กับนักศึกษาโดยไม่ตั้งใจ
...
รองศาสตราจารย์ ดร.กฤษมันต์ วัฒนาณรงค์