จากอดีตที่ต้องอยู่ภายใต้การยึดครองของญี่ปุ่น และเป็นเพียงประเทศกำลังพัฒนาในระดับเดียวกับประเทศไทยเมื่อประมาณ 3 ทศวรรษที่ผ่านมา ปัจจุบันเกาหลีใต้ กลายเป็นประเทศที่มีความล้ำหน้าทางเทคโนโลยีที่ทันสมัยและเป็นที่ยอมรับของทั่วโลก ขณะเดียวกันก็ยังคงอนุรักษ์ภูมิปัญญา ทั้งทางด้านวิถีชีวิต ศิลปวัฒนธรรมจนเป็นที่รู้จักในวงกว้างมากขึ้น..


เมื่อเอ่ยถึง ‘สาธารณรัฐเกาหลี หรือ เกาหลีใต้’ ปัจจุบันคงไม่มีใครไม่รู้จักประเทศเล็กๆ ที่ตั้งอยู่ในเอเชียตะวันออก มีพื้นที่ครอบคลุมส่วนใต้ของคาบสมุทรเกาหลี  แต่ศักยภาพและคุณภาพของประชากรชาวเกาหลีใต้ไม่ใช่เล็กๆ กลับมีความน่าทึ่งอย่างมากเลยทีเดียว


ดร.ทัศนัย วงศ์พิเศษกุล รองผู้อำนวยการสำนักงานบริหารและพัฒนาองค์ความรู้ (องค์การมหาชน) และผู้อำนวยการสำนักงานอุทยานการเรียนรู้ (สอร.) เปิดเผยว่า เพราะ “การอ่าน” เป็นกลไกสำคัญในการพัฒนากระบวนการคิด และภูมิปัญญา นำไปสู่การพัฒนาคุณภาพสังคม และประเทศ  ดังนั้น ในปี 2552 ที่ผ่านมา ฝ่ายวิชาการ สำนักงานอุทยานการเรียนรู้ ร่วมกับคณะบริหารธุรกิจ มหาวิทยาลัยธุรกิจบัณฑิตย์ ทำการศึกษาวิจัยเรื่อง “นโยบายส่งเสริมการอ่านของไทย : ศึกษาเปรียบเทียบกับต่างประเทศ”  และได้มีการนำเสนอบทความดังกล่าวในงานสัมมนาเวทีสาธารณะเพื่อผลักดันนโยบายการอ่าน (TK Forum 2010) เมื่อปลายปีที่ผ่านมา

โดยผลการศึกษาวิจัยเรื่อง “นโยบายการส่งเสริมการอ่านของสาธารณรัฐเกาหลีใต้”นั้น ถือเป็นบทความที่มีความน่าสนใจอย่างมาก เพราะเป็นประเทศที่ประชากรให้ความสำคัญอย่างยิ่งกับการศึกษาและการอ่าน จากประเทศกำลังพัฒนาเมื่อกว่า 30 ปีที่ผ่านมาเช่นเดียวกับประเทศไทย ก้าวกระโดดมาสู่ประเทศที่มีความเจริญเติบโตในทุกๆ ด้านทั้งทางสังคม เศรษฐกิจ และอุตสาหกรรมไม่แพ้ประเทศพัฒนาแล้ว เช่น ประเทศญี่ปุ่น หรือ สหรัฐอเมริกา เป็นต้น

...


นโยบายส่งเสริมการศึกษาและการอ่าน “สร้างคน สร้างชาติ”... เข้มแข็ง!!

“การศึกษา คือการเติมเต็มให้กับตนเอง เช่นเดียวกับการเติมเต็มให้กับสังคม”เป็นทัศนคติที่ฝังรากลึกลงในวัฒนธรรมของประชาชนชาวสาธารณรัฐเกาหลีหรือเกาหลีใต้ ซึ่งได้ชื่อว่าเป็นประเทศที่มีการอ่านออกเขียนได้เป็นอันดับที่ 17 ของโลก (United Nation, 2007-2008) โดยมีสถิติอัตราการอ่านออกเขียนได้ ร้อยละ 93.5 และในปี ค.ศ.2006 จากการสำรวจทักษะการอ่านโดยองค์กรเพื่อความร่วมมือทางเศรษฐกิจและการพัฒนา (Organization for Economic Co-operation and Development : OECD) ปรากฏว่าเยาวชนอายุ 15 ปี มีทักษะความเข้าใจในการอ่านสูงเป็นอันดับที่ 1 ของโลก ซึ่งถือว่าเป็นสถิติที่น่าทึ่งและเป็นการก้าวกระโดดที่รวดเร็ว เพราะหากมองย้อนไปเมื่อ 3 ทศวรรษก่อน เกาหลีใต้คือหนึ่งในหลายประเทศที่กำลังพัฒนาในทวีปเอเชียที่ประสบปัญหาด้านการอ่าน เนื่องจากอัตราการอ่านออกเขียนได้ของประชากรอยู่ที่ร้อยละ 20 เท่านั้น ซึ่งถือว่าอยู่ในเกณฑ์ที่ต่ำมาก


จากการที่ถูกมองว่าเป็นประเทศกำลังพัฒนา รัฐบาลเกาหลีใต้จึงมีนโยบายเพื่อแก้ไขการอ่านออกเขียนได้ของประชากร ด้วยการพัฒนาระบบการศึกษา ควบคู่ไปกับการพัฒนาห้องสมุด พร้อมทั้งออกนโยบายส่งเสริมการอ่านและนโยบายส่งเสริมการเรียนรู้ตลอดชีวิต เพื่อให้ประชาชนทุกกลุ่มมีโอกาสเข้าถึงการอ่านและการเรียนรู้ได้โดยไม่มีข้อจำกัดเรื่องอายุ อาชีพ และสถานที่ รวมถึงการส่งเสริมนโยบายการศึกษาและระบบการศึกษาต่อเนื่องและจริงจัง   

ตัวอย่างนโยบายส่งเสริมการอ่าน ได้แก่ การให้ความสำคัญกับห้องสมุด ซึ่งเป็นนโยบายในการส่งเสริมการอ่าน ด้วยการออกกฎหมายงดเก็บค่าบริการห้องสมุดประชาชน เพื่อสร้างแรงจูงใจให้คนมาใช้บริการห้องสมุด การจัดตั้งห้องสมุดแห่งชาติ สำหรับเด็กและเยาวชน นอกจากนี้ยังส่งเสริมให้ครอบครัวเข้ามามีส่วนร่วมในกิจกรรมส่งเสริมการอ่าน เช่น โครงการค่ายการอ่าน โครงการครอบครัวนักอ่าน ตลอดจนโครงการระดับประเทศที่มีการดำเนินการต่อเนื่อง เช่น โครงการหนังสือเล่มแรกหรือ Book start โครงการ 1 เมือง 1 เล่ม การจัดตั้งห้องสมุดดิจิตอลแห่งชาติ และการจัดงานเทศกาลหนังสือระดับชาติและนานาชาติ เป็นต้น นโยบายดังกล่าว ทำให้อัตราการเข้าเรียนระดับประถมศึกษาและระดับมัธยมศึกษาสูงถึงร้อยละ 99.9 และร้อยละ 98.9 ตามลำดับ

...


‘มิติใหม่’ เกาหลีใต้ เตรียมเปลี่ยนโฉมหน้าอุตสาหกรรมสื่อสิ่งพิมพ์ภายในอีก 10 ปี
(ค.ศ.2011 – ค.ศ.2020)

จากข้อมูลข้างต้นจะเห็นได้ว่ารัฐบาลเกาหลีใต้มีการสนับสนุนนโยบายการศึกษาและนโยบายส่งเสริมการอ่านอย่างเป็นรูปธรรมและต่อเนื่อง จนกระทั่งในปี ค.ศ.1990 รัฐบาลได้ประกาศวิสัยทัศน์ “เกาหลีเป็นประเทศชั้นนำทางด้านเทคโนโลยีสารสนเทศ”

เนื่องจากรัฐบาลต้องการให้ประเทศเป็นศูนย์กลางด้านเทคโนโลยีสารสนเทศ  โดยเชื่อว่านโยบายการศึกษาเรียนรู้ตลอดชีวิตเป็นนโยบายสำคัญที่จะนำประเทศไปสู่ผู้นำด้านเทคโนโลยีสารสนเทศ ทำให้เกาหลีใต้มีการเปลี่ยนแปลงโครงสร้างพื้นฐานการอ่านอย่างขนานใหญ่ เพื่อให้เกี่ยวพันและสอดคล้องกับการพัฒนาเทคโนโลยี โดยในช่วงต้นของศตวรรษที่ 21 เป็นยุคแห่งการปฏิวัติสื่อดิจิตอลของเกาหลีใต้ หนังสือที่พิมพ์ด้วยกระดาษได้รับความนิยมน้อยลง และถูกแทนที่ด้วยหนังสืออิเล็กทรอนิกส์ ทำให้ผู้ผลิตสิ่งพิมพ์จับมือเป็นพันธมิตรทางธุรกิจในการพัฒนาหนังสืออิเล็กทรอนิกส์และจำหน่ายผ่านระบบออนไลน์ ซึ่งราคาหนังสืออิเล็กทรอนิกส์ที่ผลิตออกมามีราคาถูกกว่าหนังสือที่ทำจากกระดาษประมาณครึ่งหนึ่ง  โดยหนังสือออนไลน์สัญชาติเกาหลีที่ได้รับความนิยม อาทิ Yes24 Co.,Ltd. ตั้งขึ้นในเดือนธันวาคม ค.ศ.1998 ปัจจุบันมีลูกค้าลงทะเบียนเพื่อซื้อหนังสือถึงประมาณ 750,000 คน และขายหนังสือเฉลี่ย 23,000 เล่มต่อวัน เป็นต้น

...


ปี ค.ศ.2007 กระทรวงวัฒนธรรม กีฬา และการท่องเที่ยวของเกาหลีใต้ ได้ประกาศแผนส่งเสริมอุตสาหกรรมความรู้และการพิมพ์ ภายใต้แนวคิด “หนังสือสร้างขุมพลังทางวัฒนธรรมและความรู้ระดับโลก” (Global Knowledge and Culture Powerhouse Built on Book) ซึ่งเป็นแผนระยะยาว 10 ปี คือตั้งแต่ ค.ศ. 2011 ถึง ค.ศ. 2020 โดยมีกลยุทธ์ในการเสริมสร้างเครือข่ายความรู้เพื่อสร้างสังคมความรู้ เพื่อให้ประชาชนทุกคนมีสิทธิเข้าถึงการอ่าน และสร้างสรรค์สิ่งแวดล้อมในการอ่านได้อย่างเสรี คาดการณ์ว่าโครงการตามแผนดังกล่าวนี้จะเปลี่ยนแปลงโฉมหน้าอุตสาหกรรมสื่อสิ่งพิมพ์ไปอย่างสิ้นเชิง โดยเฉพาะการผลิตและเผยแพร่ หรือช่องทางการจำหน่าย ซึ่งผู้ประกอบการภาคเอกชนจะได้รับประโยชน์อย่างมากมายจากการสนับสนุนและช่วยเหลือจากภาครัฐ

อย่างไรก็ตาม แรงขับเคลื่อนอีกอย่างหนึ่งที่ผลักดัน ให้เกาหลีใต้ทะยานขึ้นมาเป็นประเทศที่สามารถพัฒนาศักยภาพได้อย่างรวดเร็ว คือ อิทธิพลจากความเชื่อและความศรัทธาตามหลักขงจื๊อที่สอนสั่งให้ชาวโสมขาว ใฝ่รู้ ใฝ่ศึกษา ซึ่งความเชื่อนี้ยังคงหลงเหลืออยู่จนถึงปัจจุบัน บวกกับสภาวะบ้านเมืองที่บอบช้ำและแรงบีบคั้นกดดันจากการถูกยึดครองประเทศโดยประเทศอื่น ส่งผลให้ทุกภาคส่วนของเกาหลีใต้มองเห็นความสำคัญของการศึกษาและกระหายการเรียนรู้ เพื่อพัฒนาตนเองควบคู่ไปกับการพัฒนาประเทศให้ตามทันประเทศอื่น จนทำให้ปัจจุบันประชาคมโลก ต่างจับตามองด้วยความทึ่งในศักยภาพและมิติใหม่ของประเทศเล็กๆอย่างเกาหลีใต้