“ดิอาจิโอ พีแอลซี” บริษัทผู้ผลิตเครื่องดื่มยักษ์ใหญ่ของโลก อย่างสก็อตช์วิสกี้ “จอห์นนี่ วอล์คเกอร์” และ “วินเซอร์” ตกลงจ่ายเงิน 492 ล้านบาท เพื่อเป็นค่าข้อตกลงระงับคดี หลังถูกตั้งข้อหาติดสินบนเจ้าหน้าที่รัฐบาลอินเดีย เกาหลีใต้ และไทย มานาน 6 ปี...

สำนักข่าวเอพีและเอเอฟพี รายงานโดยอ้างการเปิดเผยของคณะกรรมการหลักทรัพย์และตลาดหลักทรัพย์สหรัฐฯ (เอสอีซี) เมื่อวันพุธที่ 27 ก.ค.ว่า “ดิอาจิโอ พีแอลซี” (Diageo PLC) บริษัทผู้ผลิตเครื่องดื่มยักษ์ใหญ่ของโลก รวมทั้งเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ยี่ห้อดัง ๆ อย่างสก็อตช์วิสกี้ “จอห์นนี่ วอล์คเกอร์” และ “วินเซอร์” ซึ่งมีสำนักงานใหญ่ในกรุงลอนดอน ประเทศอังกฤษ ตกลงจ่ายเงินถึง 16.4 ล้านดอลลาร์ (ประมาณ 492 ล้านบาท) ให้ทางการสหรัฐฯ เพื่อเป็นค่าข้อตกลงระงับคดี หลังถูกตั้งข้อหาติดสินบนเจ้าหน้าที่รัฐบาลอินเดีย เกาหลีใต้ และไทย

นายสก็อตต์ ฟรายสตัด รองผู้อำนวยการแผนกบังคับคดีของเอสอีซีแถลงที่กรุงวอชิงตันว่า ดิอาจิโอ พีแอลซี และบริษัทลูก จ่ายสินบนกว่า 2.7 ล้านดอลลาร์ (กว่า 81 ล้านบาท) ให้เจ้าหน้าท่ีรัฐบาลต่างชาติ เป็นเวลา 6 ปี ในช่วงปี 2546-2552 โดยในช่วงปี 2549-2552 จ่ายเงินกว่า 1.7 ล้านดอลลาร์ (กว่า 51 ล้านบาท) ให้กลุ่มเจ้าหน้าที่รัฐบาลอินเดียซึ่งรับผิดชอบด้านการจัดซื้อหรืออนุมัติ การจัดจำหน่ายเครื่องดื่มของดิอาจิโอในอินเดีย

กรณีเกาหลีใต้ ดิอาจิโอฯ จ่ายเงิน 100 ล้านวอนหรือ 86,000 ดอลลาร์ (ประมาณ 2,580,000 บาท) ให้เจ้าหน้าที่ด้านภาษีศุลกากรของเกาหลีใต้คนหนึ่ง เพื่อให้ช่วยเรื่องการคืนเงินภาษี อีกทั้งจ่ายค่าเดินทางและค่าเลี้ยงดูปูเสื่อให้เจ้าหน้าที่รัฐบาลคนอื่น ๆ ซึ่งเกี่ยวข้องกับการเจรจาด้านภาษีกับดิอาจิโอ นอกจากนี้ ยังจ่ายเงินค่าของขวัญเป็นประจำหลายร้อยครั้งให้เจ้าหน้าท่ีกองทัพเกาหลีใต้ เพื่อให้ได้รับและคงไว้ซึ่งธุรกิจของตนในเกาหลีใต้

ขณะที่ในประเทศไทย ดิอาจิโอฯ จ่ายเงินประมาณ 600,000 ดอลลาร์ ( ประมาณ 18,000,000 บาท) ให้เจ้าหน้าที่รัฐบาลไทยระดับสูงคนหนึ่ง ในช่วงปี 2547-2551 เพื่อให้ช่วยวิ่งเต้นในการสู้คดีด้านภาษีและศุลกากรหลายคดี แต่นายฟรายสตัดไม่เปิดเผยช่ือเจ้าหน้าที่ผู้รับสินบนเหล่านี้

ดิอาจิโจฯ เปิดเผยเป็นครั้งแรกเมื่อปี 2552 ว่าบริษัทของตนถูกเอสอีซีสอบสวนในข้อหาละเมิดกฎหมายป้องกันการคอรัปชั่นใน ต่างประเทศของสหรัฐฯ (เอฟซีพีเอ) และการตกลงจ่ายเงิน 16.4 ล้านดอลลาร์สหรัฐฯ ครั้งนี้ก็เพื่อเป็นค่าข้อตกลงให้ทางการสหรัฐฯ ระงับคดีติดสินบนดังกล่าว โดยเงินที่ดิอาจิโอยอมจ่าย แบ่งเป็นเงินชดใช้ความผิดและดอกเบี้ย 13.3 ล้านดอลลาร์ และเป็นค่าปรับอีก 3 ล้านดอลลาร์ โดยดิอาจิโอฯ แถลงว่า ตนถือว่าผลการสอบสวนของเอสอีซีเป็นเรื่องร้ายแรงและเสียใจในเรื่องนี้ ถึงแม้ก่อนหน้านี้ ดิอาจิโอฯ ทั้งไม่ยอมรับและไม่ปฏิเสธว่ากระทำความผิดจริง แต่ตกลงที่จะไม่กระทำความผิดเช่นนี้อีกในอนาคต

บทบัญญัติในกฎหมายเอฟซีพีเอ สั่งห้ามบริษัทต่าง ๆ ที่มีฐานอยู่อยู่ในสหรัฐฯ หรือจดทะเบียนในตลาดหลักทรัพย์สหรัฐฯ ติดสินบนเจ้าหน้าที่รัฐบาลต่างชาติ ถึงแม้ว่าการติดสินบนจะเกิดขึ้นนอกดินแดนสหรัฐฯ ในช่วงไม่กี่ปีที่ผ่านมา เจ้าหน้าท่ีสหรัฐฯ บังคับใช้กฎหมายเอฟซีพีเอเข้มข้นขึ้น โดยบังคับให้บริษัทยักษ์ใหญ่อย่างซีเมนส์ และเดมเลอร์ของเยอรมนี และบีเออี ซิสเทมส์ ซึ่งทำธุรกิจด้านอาวุธยุทโธปกรณ์ มีสำนักงานใหญ่ในกรุงลอนดอน จ่ายค่าระงับคดีเป็นจำนวนเงินมหาศาลนอกจากสก็อตช์วิสกี้ยี่ห้อดังอย่างจอห์นนี่ วอล์คเกอร์ ทั้งแบล็ค และเรดเลเบิล แล้ว ดิอาจิโอฯ ยังเป็นเจ้าของเครื่องดื่มอื่น ๆ อีกหลายยี่ห้อ รวมทั้งเหล้าว็อดก้าสเมอร์นอฟฟ์ , กินเนสส์ สเตาท์ ไปจนถึงเครื่องดื่มไร้แอลกอฮอล์อย่าง ไบเลย์ ด้วย

อนึ่ง ส่ือมวลชนไทยรายงานด้วยว่า เมื่อปลายเดือนมิ.ย. ที่ผ่านมา นายธาริต เพ็งดิษฐ์ อธิบดีกรมสอบสวนคดีพิเศษ (ดีเอสไอ) แถลงว่า หลังจากท่ีดีเอสไอมีหนังสือแจ้งไปยังกรมศุลกากรในช่วงปลายเดือนธ.ค. 2553 กรณีบริษัท ดิอาจิโอ โมเอ็ท เฮนเนสซี่ (ประเทศไทย) หรือช่ือเดิมว่า ริชมอนเด้ (บางกอก) บริษัทลูกของดิอาจิโอ พีแอลซี ในประเทศไทย ผู้ต้องหาในคดีพิเศษที่ 72/2550 ได้มีหนังสือขอทำความตกลงระงับคดีเลี่ยงภาษี ในจำนวนเงินประมาณ 1,500 ล้านบาท นั้น ล่าสุดเมื่อเดือนมิ.ย. 2554 กรมศุลกากรมีหนังสือแจ้งกลับมาว่า คณะกรรมการพิจารณาเปรียบเทียบปรับ กรมศุลกากร มีมติให้บริษัทดิอาจิโอฯ ต้องจ่ายค่าปรับให้กรมศุลกากร 2 เท่าของภาษีที่จ่ายไม่ครบ คาดว่าจะเป็นวงเงินประมาณ 3,000 ล้านบาท ซึ่งเป็นโทษสูงสุด และขั้นตอนต่อไป ดีเอสไอต้องทำหนังสือไปแจ้งให้ดิอาจิโอฯ เข้ามาเสียค่าปรับ เพื่อขอระงับคดี ถือว่าเป็นสิทธิตามกฎหมาย

คดีดังกล่าวเกิดขึ้นในปี 2546 โดยกองปราบปรามได้เข้าตรวจค้นและอายัดเหล้านอกยี่ห้อแบล็ค เลเบิล และเรด เลเบิล ขนาด 1 ลิตรของบริษัทริชมอนเด้ ประมาณ 45,000 ลัง การสอบสวนขณะนั้นพบว่า อาจมีการทำความผิดในช่วงปี 2545-2548 และเดือนต.ค. 2550 คณะกรรมการคดีพิเศษ (กคพ.) จึงมีมติให้ดีเอสไอรับทำเป็นคดีพิเศษ และตั้งข้อกล่าวหาบริษัทริชมอนเด้ หรือช่ือใหม่ว่า ดิอาจิโอ โมเอ็ท เฮนเนสซี่ (ประเทศไทย) แสดงรายการเท็จเพื่อเลี่ยงภาษีนำเข้าสุราจากต่างประเทศ.

...