กสศ.เปิดโอกาส เยาวชนชั้น ม.3, ม.6 และ ปวช.3 ที่มีศักยภาพแต่ขาดแคลนทุนทรัพย์ สมัครทุนนวัตกรรมสายอาชีพชั้นสูง ระหว่าง 18 กุมภาพันธ์ - 18 มีนาคม 2562
วันที่ 7 ก.พ. ที่กองทุนเพื่อความเสมอภาคทางการศึกษา (กสศ.) มีการแถลงข่าว เปิดผลคัดเลือกสถาบันต้นแบบ “ทุนนวัตกรรมสายอาชีพชั้นสูง” เพื่อช่วยเหลือเยาวชนผู้ขาดแคลนทุนทรัพย์ที่มีศักยภาพ ให้มีโอกาสเรียนต่อสายอาชีพ และมีงานทำทันทีเมื่อจบการศึกษา ผ่านความร่วมมือกับสถาบันการศึกษาสายอาชีพทั้งภาครัฐและเอกชน
ศาสตราจารย์ ดร.นักสิทธิ์ คูวัฒนาชัย ที่ปรึกษากองทุนเพื่อความเสมอภาคทางการศึกษา (กสศ.) และประธานคณะกรรมการกำกับทิศทางโครงการส่งเสริมนักเรียนขาดแคลนทุนทรัพย์และด้อยโอกาสเพื่อการศึกษาต่อสายอาชีพขั้นสูง กล่าวว่า จากการเปิดรับสมัครสถาบันการศึกษาส่งโครงการเข้ารับพิจารณาจำนวนรวม 154 โครงการ จาก 99 สถาบัน กระจายใน 51 จังหวัด โดยมีคณะกรรมการผู้ทรงคุณวุฒิจาก 3 ฝ่าย ทั้งภาควิชาการ เอกชน และสื่อมวลชน รวม 21 ท่าน และคณะกรรมการกำกับทิศทางโครงการฯ ร่วมกลั่นกรองข้อเสนอโครงการตามเกณฑ์คุณภาพ
...
โดยต้องเป็นโครงการที่มีนวัตกรรม 4 ประการคือ (1) หลักสูตรและกระบวนการเรียนการสอนที่มีคุณภาพสูง (2) มีระบบทวิภาคีที่ดี เชื่อมโยงระหว่างหลักสูตรละสถานประกอบการ/นายจ้างอย่างชัดเจน (3) มีระบบดูแลความเป็นอยู่และสวัสดิภาพของผู้รับทุน ให้สามารถเรียนจนจบตามกำหนดเวลา เช่น การมีพี่เลี้ยงทางวิชาการ มีกระบวนการดูแล นักศึกษาเป็นรายคน และ (4) มีการค้นหาและคัดเลือกนักเรียน/นักศึกษาผู้รับทุนเชิงรุก สถาบันจะออกไปตรวจสอบความยากจนถึงบ้าน เพื่อให้แน่นอนว่ามีฐานะยากจนหรือด้อยโอกาสจริงและมีคณะกรรมการรวมถึงกระบวนการคัดเลือกอย่างมีส่วนร่วม ซึ่งผลการคัดเลือกได้โครงการผ่านเกณฑ์การพิจารณาทั้งสิ้น 55 โครงการดำเนินการในสถาบันการศึกษา จำนวน 39 สถาบันใน 23 จังหวัด แบ่งเป็น 2 ประเภททุน คือ ทุน 5 ปี ปวช.ต่อเนื่อง ปวส. หรืออนุปริญญา สำหรับนักเรียนที่กำลังศึกษาชั้น ม.3 หรือเทียบเท่า และทุน 2 ปี ปวส. อนุปริญญา สำหรับนักเรียนที่กำลังศึกษาชั้น ม.6/ปวช.3 หรือเทียบเท่า
โดยเปิดสอนในหลักสูตรและสาขาวิชาเป้าหมายของประเทศ สาขาขาดแคลน สาขา STEM และเทคโนโลยีดิจิทัล ซึ่ง กสศ. มีงบประมาณสำหรับสนับสนุนนักเรียน/นักศึกษาในปีการศึกษา 2562 จำนวน 2,500 ทุน จากที่สถาบันเสนอขอทุนมาทั้งหมด 8,479 ทุน ทั้งนี้ระหว่างวันศุกร์ที่ 8 และเสาร์ที่ 9 กุมภาพันธ์ 2562 กสศ. เชิญสถาบันการศึกษาที่ผ่านเกณฑ์การพิจารณาเข้าร่วมประชุมเชิงปฏิบัติการเพื่อชี้แจงแนวทางและเครื่องมือในการค้นหาและคัดเลือกนักเรียนผู้รับทุน การบริหารงบประมาณโครงการและการปรับปรุงแก้ไขโครงการให้มีความสมบูรณ์มากยิ่งขึ้น
“ต้องขอบคุณสถาบันการศึกษาทุกแห่งที่ร่วมเสนอโครงการในปีนี้ คณะกรรมการมองเห็นถึงความตั้งใจ แต่ กสศ. มีงบประมาณจำกัด สามารถสนับสนุนโครงการได้เพียงจำนวนหนึ่ง และเหตุผลสำคัญที่โครงการไม่ผ่านการคัดเลือก เนื่องมาจากสาขาวิชาชีพที่เสนอไม่สอดคล้องกับสาขาที่กำหนด ขาดข้อมูลเหตุผลประกอบความขาดแคลนที่ชัดเจน ขาดความสมเหตุสมผลของงบประมาณ และขาดแนวทางนวัตกรรม ซึ่งหลังจากนี้ กสศ.จะจัดให้มีเวทีทำความเข้าใจเพื่อถอดบทเรียน แลกเปลี่ยนแนวทางการพัฒนาโครงการให้กับสถาบันที่ไม่รับการคัดเลือกในปีนี้ เพื่อจะได้มีโอกาสได้รับการคัดเลือกในปีต่อไป" ที่ปรึกษา กสศ. กล่าว
ด้านนายสุภกร บัวสาย ผู้จัดการกองทุนเพื่อความเสมอภาคทางการศึกษา กล่าวว่า ขั้นตอนหลังจากนี้สถาบันการศึกษาจะเป็นผู้สร้างกระบวนการการคัดเลือกผู้รับทุนอย่างมีส่วนร่วมกับโรงเรียนในพื้นที่จังหวัดใกล้เคียงกับที่ตั้งของแต่ละสถาบัน โดยเฉพาะสถาบันการศึกษาอาจส่งวิทยากรไปประชาสัมพันธ์ เชิงรุกที่โรงเรียนที่มีนักเรียนฐานะยากจนจำนวนมาก สำหรับคุณสมบัติของผู้ได้รับทุนจะต้องเป็นเยาวชนที่กำลังศึกษาระดับชั้น ม.3/ม.6 หรือเทียบเท่า/ปวช.3 ที่ขาดแคลนทุนทรัพย์หรือด้อยโอกาส มีรายได้ ครอบครัวเฉลี่ยต่อคนไม่เกิน 3,000 บาทต่อเดือน โดยจะมีกระบวนการตรวจสอบความยากจนเพิ่มเติม และเป็นนักเรียนที่มีศักยภาพในการเรียนต่อ โดยพิจารณาจากเกรดเฉลี่ยสะสม หรือมีความสามารถพิเศษ มีศักยภาพโดดเด่นด้านทักษะฝีมือ นวัตกรรม เป็นนักประดิษฐ์ และมีประสบการณ์ในกิจกรรมสร้างสรรค์เพื่อส่วนรวมที่พิสูจน์ได้ ซึ่งผู้ผ่านการคัดเลือกจะได้รับการสนับสนุนค่าใช้จ่ายประจำเดือน และค่าธรรมเนียมการศึกษาในอัตราประหยัด โดยไม่มีข้อผูกมัดที่ผู้รับทุนจะต้องชดใช้ทุนในอนาคต หากเรียนจนจบการศึกษา
...
ทั้งนี้ ตลอดเส้นทางการศึกษา เยาวชนผู้ได้รับทุน จะมีโอกาสที่ดีใน 3 เรื่องสำคัญ คือ 1. ได้เรียนรู้กับนายจ้างและปฏิบัติการจริง 2. ได้เรียนรู้ทักษะใหม่ และทักษะอนาคต และ 3. แลกเปลี่ยนเรียนรู้กับผู้เชี่ยวชาญทั้งในและต่างประเทศ สำหรับเยาวชนที่สนใจทุนนวัตกรรมสายอาชีพชั้นสูงมีกำหนดเปิดรับสมัครอยู่ในช่วงวันที่ 18 กุมภาพันธ์ – 18 มีนาคม 2562 โดยแต่ละสถาบันอาจจะประกาศวิธีปฏิบัติ รวมถึงข้อมูลติดต่อรับสมัครของตนเอง ทั้งนี้ สามารถตรวจสอบรายชื่อสถาบันสายอาชีพทั้ง 39 สถาบันที่ร่วมโครงการและสาขาที่เปิดรับ และดาวน์โหลดใบสมัครทุนสำหรับนักเรียน/นักศึกษาที่สนใจ ซึ่งมีรายละเอียดคุณสมบัติ ได้ที่เว็บไซต์ www.eef.or.th หรือ โทร 02-079-5475 ต่อ 2 เฉพาะวันจันทร์ถึงศุกร์ตามเวลาราชการ
ด้านนายวิชัย หาญพลาชัย ผู้อำนวยการวิทยาลัยเทคนิคสัตหีบ จ.ชลบุรี หนึ่งในสถาบันที่ได้รับการคัดเลือก กล่าวว่า วิทยาลัยเทคนิคสัตหีบ เปิดการเรียนการสอนใน 4 สาขา ที่ต้องตอบโจทย์เขตพื้นที่พัฒนาเศรษฐกิจพิเศษภาคตะวันออก (อีอีซี) ได้แก่ สาขาโลจิสติกส์ ช่างอากาศยาน ท่องเที่ยวและการโรงแรม และพลังงาน โดยร่วมกับสถานประกอบการจัดหลักสูตรการเรียนการสอนรูปแบบทวิภาคี นักศึกษาจะได้เรียนไปด้วยและทำงานไปด้วย ได้ความรู้จากผู้เชี่ยวชาญโดยตรง เรียนจบแล้วมีงานรองรับทันที เช่น นักศึกษาที่เรียนสาขาท่องเที่ยวและการโรงแรม วิทยาลัยจะทำความร่วมมือกับโรงแรมชั้นนำในพื้นที่เพื่อพัฒนาหลักสูตรให้ตอบโจทย์ ตลาดแรงงาน ฝึกนักศึกษาให้มีคุณภาพ หลังจากเรียนจบสามารถทำงานที่โรงแรมได้ทันที และยังร่วมมือกับกับรัฐบาลประเทศออสเตรียในเรื่องการแลกเปลี่ยนผู้เชี่ยวชาญเพื่อสนับสนุนด้านวิชาการ การพัฒนาหลักสูตรให้มีคุณภาพอย่างต่อเนื่อง ทั้งนี้วิทยาลัยมีระบบตรวจสอบการใช้งบประมาณอย่างเคร่งครัด โดยเฉพาะส่วนของนักศึกษาผู้รับทุนมีการให้จัดทำบัญชีค่าใช้จ่าย ครูประจำชั้นทำหน้าที่คอยดูแลแนะนำ เพื่อป้องกันไม่ให้นำเงินไปใช้ผิดวัตถุประสงค์
...
“ถือเป็นโครงการที่ช่วยลดความเหลื่อมล้ำอย่างแท้จริง เป็นการให้โอกาสทางการศึกษาแก่เด็กและเยาวชน ช่วยลดภาระผู้ปกครองไปได้มาก เพราะวิทยาลัยประสบปัญหาทุกปี คือ ผู้ปกครองขอผลัดการชำระค่าเล่าเรียนของเด็กกว่า 100 คน ดังนั้นทุนนวัตกรรมสายอาชีพชั้นสูงของ กสศ.ถือได้ว่าเข้ามาช่วยเติมเต็มโอกาสทางการศึกษาของเด็กได้อย่างมาก”
ด้านนายสุรปัญญ์ จันทร์สวัสดิ์ อาจารย์สาขาเมคคาทรอนิกส์และหุ่นยนต์ วิทยาลัยอาชีวศึกษาเทคโนโลยีฐานวิทยาศาสตร์ จ.ชลบุรี หนึ่งในสถาบันที่ได้รับการคัดเลือก กล่าวว่า กล่าวว่า วิทยาลัยเปิดสอนในสาขาช่างอุตสาหกรรมฐานวิทย์ ซึ่งจัดการเรียนการสอนด้วยการให้นักศึกษาทำ Project Learning ตั้งแต่ระดับประกาศนียบัตรวิชาชีพ (ปวช.) ปี 1 เพราะต้องการส่งเสริมให้นักศึกษาปฎิบัติงานจริง เพื่อเป็นนักนวัตกรรมต่อยอดองค์ความรู้ใหม่ๆด้วยตนเองในอนาคต นอกจากนี้ยังร่วมมือกับหน่วยงานต่างประเทศ พัฒนาหลักสูตรทวิภาคีกับภาคเอกชน ทั้งจากประเทศญี่ปุ่น และบริติช เคานซิล ประเทศไทย โดยการสนับสนุนของกองทุนนิวตัน (Newton Fund) ซึ่งเป็นผู้เชี่ยวชาญจากสหราชอาณาจักรจากบริษัท Think Learn Challenge ซึ่งการผลิตนักศึกษาที่ผ่านมาได้รับการจ้างงานเป็นที่ยอมรับและพึงพอใจของสถานประกอบการ และชุมชนท้องถิ่น ในการรับสมัครครั้งนี้วิทยาลัยจะประชาสัมพันธ์เชิงรุกไปยังโรงเรียนกลุ่มเป้าหมายในพื้นที่ภาคตะวันออก เพื่อให้แน่ใจว่าได้นักเรียนผู้รับทุนตรงตามเกณฑ์ความยากจนและศักยภาพ
...