ทูตรุดอำนวยความสะดวก คาดร่วมร้อยยังออกไม่ได้ ทอ.เตรียมบินไปรับกลับ
ทางการอินโดนีเซียระดมทีมกู้ภัย 10 ทีมรวม 200 คน เข้าช่วยเหลือนักท่องเที่ยวทั้งคนไทยและชาวต่างชาติกว่า 600 ชีวิต ที่ติดอยู่บนภูเขาไฟรินจานี เคลียร์เส้นทางหลังจากดินถล่มปิดทางสัญจร พบยอดคนไทยลงทะเบียนขึ้นเขาทั้งหมด 265 คน ทยอยลงเดินเท้าลงมาได้อย่างปลอดภัย ด้านนักปีนเขาหนุ่มเปิดใจวินาทีเฉียดตายช่วงแผ่นดินเขย่าแรง ยืนอยู่ห่างริมหน้าผาแค่ฟุตเดียว ยอมรับตกใจมาก โชคดีไกด์ท้องถิ่นเก่ง แนะให้หมอบกับพื้นนานนับชั่วโมงก่อนรีบพาคณะหาเส้นทางหนีตายลงจากยอดเขา ขณะเดียวกัน ทอ.เตรียมพร้อมเครื่องบินนำคนไทยกลับบ้าน หากกระทรวงการต่างประเทศประสานมา ส่วน ก.ท่องเที่ยวฯ เล็งประสานการบินไทย ปรับเครื่องบินให้ใหญ่ขึ้น รองรับคนไทยกลับบ้านได้มากขึ้น
หลังจากนักท่องเที่ยวชาวไทยหลายร้อยชีวิตต้องติดค้างอยู่บนภูเขาไฟรินจานี บนเกาะลอมบอก แหล่งท่องเที่ยวดังของประเทศอินโดนีเซีย มาตลอดคืนวันที่ 29 ก.ค.ที่ผ่านมา เพราะเกิดเหตุแผ่นดินไหวใหญ่ขนาด 6.4 แมกนิจูด เมื่อช่วงเช้าตรู่วันเดียวกัน ทำให้บ้านเรือนพังทลาย ดินภูเขาถล่มลงมาปิดทางเข้าออก และเกิดแผ่นดินแยกในหลายจุด รวมถึงเกิดอาฟเตอร์ช็อกตามมาอีกหลายสิบครั้ง
...
ต่อมาเมื่อวันที่ 30 ก.ค.ผู้สื่อข่าว นสพ.ไทยรัฐ ได้โทรศัพท์พูดคุยกับนักท่องเที่ยวไทยที่ประสบกับเหตุแผ่นดินไหวใหญ่ ขณะอยู่บนภูเขาไฟรินจานี ทุกคนมีขวัญกำลังใจดี นายวรพล แสงแก้วสันติสุข หนึ่งในนักท่องเที่ยวชาวไทยที่หนีรอดชีวิตจากเหตุการณ์ดังกล่าว มาพักที่โรงแรมปูริ เซงกิกิ (Puri Senggigi) บริเวณหาดเซงกิกิ เกาะลอมบอกห่างจากเขตอุทยานแห่งชาติรินจานี ประมาณ 120 กม.อย่างปลอดภัย นายวรพล หรือเอก เปิดใจถึงวินาทีเฉียดตายจากเหตุแผ่นดินไหวใหญ่ว่า ตนและเพื่อนๆ 9 คน เดินขึ้นไปถึงบนยอดเขารินจานีเวลาประมาณ 05.40 น. ของวันที่ 29 ก.ค. เดินถ่ายรูปกันไปเรื่อย จนกระทั่งเวลา 06.40 น. เกิดแผ่นดินไหวอย่างรุนแรง พื้นดินสั่นไหวไปทั้งเขา ก็ตกใจกลัวทำอะไรไม่ถูกจนเกือบจะตกเขา เพราะขณะเกิดแผ่นดินไหว ตนยืนห่างจากริมหน้าผาประมาณ 1 ไม้บรรทัด จนไกด์ท้องถิ่นบอกให้หมอบราบกับพื้น ตนก็หมอบอยู่อย่างนั้นประมาณ 1 ชั่วโมง ไกด์ก็นำกลุ่มพวกตนรีบลงจากเขาทันที ตลอดทางที่ลงจากยอดเขาลงมาที่หมู่บ้านเซมบาลุน เชิงเขา ก็เกิดอาฟเตอร์ช็อกตลอดเวลา พวกเราเลยตัดสินออกจากหมู่บ้านเซมบาลุนมาอยู่ที่บริเวณหาดเซงกิกิ เพื่อความปลอดภัย และตอนนี้เจ้าหน้าที่สถานเอกอัครราชทูตไทยในกรุงจาการ์ตามาให้การช่วยเหลือแล้ว
เช่นเดียวกับนางวิไลรัตน์ สุบรรณจุ้ย นักท่องเที่ยวชาวไทยที่หนีภัยแผ่นดินไหวมาอยู่ที่โรงแรมปูริเซงกิกิ กล่าวว่า ตนกับเพื่อนรวม 7 คน ขึ้นไปถึงยอดเขารินจานี ตอน 6 โมงเช้าวันที่ 29 ก.ค. ไม่นานก็เกิดแผ่นดินไหวรุนแรง น่ากลัวมาก เพราะตรงจุดชมวิวบนเขาเป็นพื้นที่ราบเล็กๆ เป็นดินและหินภูเขาไฟพร้อมแตกสไลด์ตัวได้ตลอดเวลา แต่ตนและเพื่อนๆ โชคดีมาก ไกด์และลูกหาบท้องถิ่นเก่งมาก ช่วยดูแลอย่างดีและพาวิ่งหนีตายลงจากเขาได้อย่างปลอดภัย แม้ว่าในเส้นทางบางจุดถูกตัดขาด ต้องไต่หน้าผาเปลี่ยนไปใช้อีกเส้นทางหนึ่ง
นอกจากนี้ ผู้สื่อข่าวรายงานว่า ตลอดวันระหว่างที่อินโดนีเซียจัดทีมค้นหาและช่วยเหลือเพื่อเข้ามาช่วยนักท่องเที่ยวต่างชาติที่ติดค้างบนภูเขาไฟรินจานี ปรากฏว่า กลุ่มนักท่องเที่ยวชาวไทยกลุ่มต่างๆ ก็ทยอยเดินเท้าออกจากเขตอุทยานแห่งชาติรินจานี ลงมายังหมู่บ้านเซมบาลุน และหมู่บ้านเซนารุ เชิงเขารินจานี ได้อย่างปลอดภัย แม้บางจุดจะต้องใช้ความระมัดระวังในการเดิน เนื่องจากยังมีหินและดินสไลด์ลงมาอยู่บ้าง แต่ทุกคนก็มีขวัญและกำลังใจดี โดยทางการไทยนำโดยนายทรงพล สุขจันทร์ เอกอัครราชทูต ณ กรุงจาการ์ตา พร้อมคณะเจ้าหน้าที่จากสถานทูต เดินทางมาช่วยเหลืออำนวยความสะดวกให้นักท่องเที่ยวชาวไทยทั้งหมดเดินทางไปรวมตัวที่โรงแรมลอมบอก รายา ในเมืองมาตารัม (Mataram) เมืองเอกของเกาะลอมบอก ใช้การประสานงานผ่านเพจ Thailand Mountaineering Club ที่เป็นช่องทางหลักในการติดต่อแจ้งข่าวตลอดเวลา
ทั้งนี้ ผู้สื่อข่าวได้รับการเปิดเผยจากนายทรงพล สุขจันทร์ เอกอัครราชทูต ณ กรุงจาการ์ตา ถึงการช่วยเหลือนักท่องเที่ยวชาวไทยที่ติดค้างบนภูเขารินจานี บนเกาะลอมบอก ว่าตั้งแต่เมื่อคืนวันที่ 29 ก.ค. ทางการอินโดนีเซียได้ส่งทีมเจ้าหน้าที่เข้าไปเคลียร์เส้นทางในจุดที่มีดินถล่มแล้ว และเมื่อเวลา 08.00 น. วันที่ 30 ก.ค. ได้ส่งทีมเจ้าหน้าที่ทีมค้นหาและกู้ภัย 10 ทีม รวม 200 คน เข้าเคลียร์เส้นทางที่ยังไม่สะดวก ที่มีอยู่ราว 40-50 เปอร์เซ็นต์ บางจุดเป็นการเคลียร์เปิดเส้นทางสัญจรจากดินถล่ม บางจุดต้องทำทางใหม่ เพื่อให้นักท่องเที่ยวที่ติดค้างในจุดต่างๆ เดินเท้าลงมายังศูนย์อำนวยการที่หมู่บ้านเซมบาลุน
...
นายทรงพลกล่าวอีกว่า จากที่ได้คุยโทรศัพท์นักท่องเที่ยวไทย 14 คน เป็นกลุ่มแรกที่มาถึงไม่ได้อยู่ในอาการหวาดวิตกและเข้าใจสถานการณ์ที่เกิดขึ้น ทางสถานเอกอัครราชทูตได้ส่งทีมล่วงหน้าไปที่เซมบาลุนเพื่อคอยอำนวยความสะดวก และรอรับนักท่องเที่ยว 3 กลุ่มที่เหลือ จะเดินเท้าโดยมีไกด์ท้องถิ่นนำทางมาถึงศูนย์อำนวยการเซมบาลุน ในช่วงค่ำ ทั้งนี้ สถานเอกอัครราชทูตไทยตั้งศูนย์อำนวยการเพื่อประสานความช่วยเหลือและอำนวยความสะดวกอยู่ที่โรงแรมลอมบอก รายา พร้อมเตรียมที่พัก อาหาร เวชภัณฑ์ เพาเวอร์แบงก์ และรถมินิบัส 10 คันไว้ นอกเหนือจากที่ทางการอินโดนีเซียได้จัดเตรียมไว้ โดยคนไทย 14 คนกลุ่มแรกได้เข้าพักในโรงแรมดังกล่าวแล้ว
จากนั้นเมื่อเวลา 15.00 น. น.ส.บุษฎี สันติพิทักษ์ อธิบดีกรมสารนิเทศและโฆษกกระทรวงการต่างประเทศ ให้สัมภาษณ์เพิ่มเติมอีกว่า นายทรงพล พร้อมด้วยผู้ช่วยทูตทหาร และกงสุลกิตติมศักดิ์ไทย ณ เดนปาซาร์ ได้พบกับผู้อำนวยการการท่องเที่ยว จ.นูซาเตงการาตะวันตก พร้อมเจ้าหน้าที่หน่วยกู้ภัย เจ้าหน้าที่ตำรวจและเจ้าหน้าที่ตำรวจตรวจคนเข้าเมืองในพื้นที่แล้ว และจากที่ได้พูดโทรศัพท์กับนักท่องเที่ยวไทย ชื่อหนูภา แว่น ได้รับแจ้งว่า ไกด์ ท้องถิ่นกำลังนำนักท่องเที่ยวคนไทยลงจากภูเขาไฟมา 3 กลุ่ม ประกอบด้วย กลุ่มแรกประมาณ 100 คน กลุ่มที่สอง 29 คน กลุ่มที่สาม มากกว่า 10 คน รวมประมาณ 140 คน เอกอัครราชทูตและทีมเดินทางไปรอรับนักท่องเที่ยวไทยที่บริเวณตีนเขาเซมบาลุน ลาวังด้วยตนเอง
...
น.ส.บุษฎีกล่าวอีกว่า จากการตรวจสอบกับเจ้าหน้าที่อุทยานภูเขาไฟรินจานี มีคนไทยลงทะเบียนขึ้นอุทยาน ตั้งแต่วันที่ 27 ก.ค. รวม 265 คน ขณะที่นักท่องเที่ยวไทยที่มาลงทะเบียนกับสถานทูตมีประมาณ 304 คน โดยรวมทั้งนักท่องเที่ยวที่บริเวณภูเขาไฟรินจานีและนอกพื้นที่ของภูเขาไฟด้วย กลุ่มที่น่าเป็นห่วงคือ กลุ่มที่ติดอยู่ในพื้นที่ตรงทะเลสาบเพราะเส้นทางปิด ต้องเดินเท้าออกมาเท่านั้น แต่คนไทยทั้งหมดปลอดภัยดี กระทรวงและหน่วยงานที่เกี่ยวข้องในพื้นที่ประสานงานกันใกล้ชิดต่อเนื่องกับทางการอินโดนีเซีย ในการดูแลให้ความช่วยเหลือนักท่องเที่ยวไทยที่ประสบภัยอย่างเต็มที่ ทางการอินโดนีเซียก็ให้ความร่วมมือและช่วยเหลือคนไทยอย่างเต็มที่เช่นกัน
ด้าน พล.อ.อ.จอม รุ่งสว่าง ผบ.ทอ. เปิดเผยถึงการช่วยเหลือนักท่องเที่ยวไทยตกค้างอยู่บริเวณภูเขาไฟรินจานี ว่า ได้รับรายงานจาก น.อ.ประภาส สอนใจดี ผู้ช่วยทูตทหารอากาศไทย ประจำกรุงจาการ์ตา ประเทศอินโดนีเซีย หลังเดินทางเข้าไปในพื้นที่เกิดเหตุพร้อมกับเอกอัครราชทูตไทย ณ กรุงจาการ์ตา และประสานงานกับผู้การกรมทหาร ประจำพื้นที่ เบื้องต้นทางหน่วยป้องกันภัยอินโดนีเซียส่งทีมค้นหาช่วยชีวิตลงพื้นที่แล้ว และนำเฮลิคอปเตอร์ส่งอาหารและของใช้ที่จำเป็น พร้อมทั้งนำคนเจ็บออกมาจากพื้นที่ก่อน ส่วนการช่วยคนลงมาและทำเส้นทางสำรองลงมายังศูนย์ค้นหาและกู้ภัยเซมบาลุน ลาวัง ใช้เวลาเดินเท้าขึ้นไปประมาณ 4-5 ชั่วโมง มีหน่วยรบพิเศษของอินโดนีเซีย 150 นาย เข้าช่วยเหลือด้วย อย่างไรก็ตาม ในส่วนกองทัพอากาศไทยเตรียมพร้อมตลอดเวลา หากกระทรวงการต่างประเทศของไทยประสานขอให้ส่งเครื่องบินไปรับคนไทยกลับบ้าน
...
กระทั่งเวลา 17.30 น. นายวีระศักดิ์ โควสุรัตน์ รมว.การท่องเที่ยวและกีฬา เปิดเผยถึงความคืบหน้าการช่วยเหลือนักท่องเที่ยวไทย ว่า ตลอดทั้งวัน นักท่องเที่ยวไทยออกมาแล้วรวม 216 คน คาดว่ามีอีก 100 คน ขณะนี้ตัวเลขยังไม่นิ่ง จะเดินออกมาถึงที่จุดรอรับในช่วงเช้าของวันที่ 31 ก.ค.ขณะที่การท่องเที่ยวแห่งประเทศไทย สำนักงานจาการ์ตา รายงานว่า กระทรวงการต่างประเทศอยู่ ระหว่างประสานข้อมูล จะต้องนำเครื่องบินพิเศษของกองทัพอากาศหรือการบินไทยไปรับนักท่องเที่ยวหรือไม่ ซึ่งเบื้องต้นผู้จะบินเข้าจาการ์ตาและขอความช่วยเหลือด้านที่พัก สถานทูตไทยสำรองที่พักไว้ที่ D Prima Hotel บริเวณ Terminal 1A สนามบินซูการ์โนฮัตตา และจากการประสานกับการบินไทยทราบว่า เที่ยวบินเส้นทางกรุงเทพฯ-เดนปาซาร์ (บาหลี) ค่อนข้างเต็ม จึงจะพิจารณาปรับเครื่องบินให้ใหญ่ขึ้นช่วง 1-2 ส.ค.นี้ เพื่อให้รับนักท่องเที่ยวได้เพิ่มขึ้น อย่างไรก็ตาม จากข้อมูลการเดินทางของนักท่องเที่ยวพบว่าส่วนใหญ่ใช้เส้นทางกรุงเทพฯ-กัวลาลัมเปอร์-ลอมบอก โดยสายการบินแอร์เอเชีย กำหนดเดินทางออกในวันที่ 31 ก.ค.-1, 2 ส.ค.2561
ส่วนสถานการณ์ภายในเกาะลอมบอก หลังเกิดแผ่นดินไหวใหญ่ สำนักข่าวต่างประเทศรายงานเมื่อวันที่ 30 ก.ค. ว่า นายสุโตโป ปูร์โว นูโกรโฮ โฆษก สำนักงานบรรเทาภัยพิบัติแห่งชาติอินโดนีเซีย เปิดเผยว่า เจ้าหน้าที่ประสบความสำเร็จในการเคลียร์ เส้นทางลงจากภูเขาไฟรินจานีแล้ว พร้อมใช้เฮลิคอปเตอร์นำเสบียงไปส่งแก่ผู้ประสบภัย สาเหตุที่มี ผู้ติดค้างอยู่เป็นจำนวนมาก เนื่องจากแผ่นดินไหวส่งผลให้ดินถล่มปิดเส้นทางหลัก ขณะที่ตัวนักท่องเที่ยว เองก็กลัวว่าจะเกิดเหตุดินถล่มซ้ำสอง จึงทำให้ไม่กล้า ลงจากเขา เบื้องต้นเจ้าหน้าที่พบว่า ขณะเกิดเหตุในวันที่ 29 ก.ค. มีนักท่องเที่ยวอยู่บนภูเขาไฟรินจานี มากถึง 820 คน ในจำนวนนี้ติดค้างลงจากเขาไม่ได้ 689 คน ซึ่งดูจากข้อมูลลงทะเบียนปีนเขาระหว่างวันที่ 27-28 ก.ค. พบว่าเป็นนักท่องเที่ยวชาวไทย ลงทะเบียนมากที่สุด 337 คน รองลงมาคือนักท่องเที่ยวฝรั่งเศส เนเธอร์แลนด์ และสเปน ขณะที่ นายอากุง ปรามูจา เจ้าหน้าที่สำนักงานบรรเทาภัยพิบัติอินโดนีเซีย ระบุเพิ่มเติมว่า ในเวลาประมาณ 17.00 น. ของวันที่ 30 ก.ค. นักท่องเที่ยวลงจากภูเขาไฟ รินจานีมาถึงค่ายพักตีนเขาแล้วประมาณ 500 คน
ทั้งนี้ ข้อมูลของทางการอินโดนีเซียระบุว่า การเดินทางขึ้นและลงจากภูเขาไฟรินจานีที่มีความสูง 3,726 เมตร จะใช้เวลารวม 2 วัน 1 คืน ส่วนความคืบหน้าความเสียหายจากเหตุแผ่นดินไหว ทางการอินโดนีเซียเผยว่า ยอดผู้เสียชีวิตอยู่ที่ 16 ศพ บาดเจ็บกว่า 335 คน ส่วนใหญ่เกิดจากที่พักอาศัย พังถล่ม และนับตั้งแต่เกิดเหตุได้มีอาฟเตอร์ช็อกตามมากว่า 280 ครั้ง
ต่อมา น.ส.บุษฎี สันติพิทักษ์ อธิบดีกรมสารนิเทศและโฆษกกระทรวงการต่างประเทศ สรุปความคืบหน้าในการให้ความช่วยเหลือนักท่องเที่ยวที่อินโดนีเซีย ในวันที่ 30 ก.ค. ว่า ได้รับทราบข้อมูลทางโทรศัพท์จากนายทรงพล สุขจันทร์ เอกอัครราชทูต ณ กรุงจาการ์ตา ซึ่งได้เดินทางไปช่วยเหลือผู้ประสบเหตุที่เกาะลอมบอก แจ้งว่าตัวเลขคนไทยที่ลงมาบริเวณ ตีนเขาแล้ว 216 คน ซึ่งสถานเอกอัครราชทูตฯและ สถานกงสุลกิตติมศักดิ์ ได้จัดรถเพื่อพาเข้าที่พักชั่วคราว (ใช้เวลาเดินทาง 3 ชั่วโมงจากจุดรวมพลไปยังที่พัก) พร้อมทั้งจัดอาหาร เครื่องดื่ม ยารักษาโรค เวชภัณฑ์เบื้องต้นไว้ให้ โดยภาพรวมคนไทยกลุ่มดังกล่าวมีสภาพร่างกายที่แข็งแรงและขวัญกำลังใจดี ซึ่งในวันที่ 31 ก.ค. จะมีคนไทย 36 คน จากจำนวน 216 คน ที่ลงมาแล้วเดินทางกลับ โดยผ่านเส้นทางลอมบอก-กรุงกัวลาลัมเปอร์-กรุงเทพฯ ส่วนที่เหลืออยู่ระหว่างเปลี่ยนตั๋วเครื่องบินเพื่อเดินทางกลับในโอกาสแรก อย่างไรก็ตาม คาดว่ายังมีคนไทยที่กำลังทยอยเดินทางลงมาตีนเขาอีกจำนวนหนึ่งที่จะมารวมตัวที่จุดรวมพล หลังจากนั้นเจ้าหน้าที่กู้ภัยจะพาลงมาที่ตีนเขาเซมบาลุน ลาวัง ทั้งนี้ เอกอัครราชทูตฯ ยังแจ้งว่า ทางการอินโดนีเซียให้ความช่วยเหลือนักท่องเที่ยวที่ติดอยู่อย่างดีและใกล้ชิด โดยประธานาธิบดีอินโดนีเซียได้ลงมากำกับสถานการณ์และหน่วยงานด้วยตนเอง