สนช.ถกปมขยายเวลาบังคับใช้ พ.ร.ป.ส.ส.ย้ำยึด 90 วัน อ้างพรรคการเมือง-ปชช.มีเวลาทำความเข้าใจ กรธ.ค้านยัน คสช.ไม่เคยสั่ง กกต.เผยเคาะปฏิทินเลือกตั้งชัดเจน มิ.ย. 61   

เมื่อวันที่ 25 ม.ค. 61 ที่รัฐสภา มีการประชุมสภานิติบัญญัติแห่งชาติ (สนช.) โดยมี นายพรเพชร วิชิตชลชัย ประธาน สนช. ทำหน้าที่ประธานในการประชุม เพื่อพิจารณาร่างพระราชบัญญัติประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยการเลือกตั้งสมาชิกสภาผู้แทนราษฎร ในวาระ 2 และ 3 จำนวน 178 มาตรา ทั้งนี้ ในการพิจารณามาตรา 2 การให้ร่างกฎหมายดังกล่าวมีผลบังคับใช้ภายหลังพ้น 90 วัน นับจากการประกาศในราชกิจจานุเบกษานั้น นายวิทยา ผิวผ่อง ประธานกรรมาธิการวิสามัญฯ ได้ชี้แจงถึงความจำเป็นในการขยายเวลาบังคับใช้ว่า เพื่อให้ประชาชนและพรรคการเมืองได้ศึกษา และทำความเข้าใจกฎหมายล่วงหน้า จะได้ไม่กระทำผิดโดยไม่เจตนา นอกจากนี้ ยังมีเจ้าหน้าที่ที่เกี่ยวข้องกับการเลือกตั้ง 1.5 ล้านคนจะได้ปฏิบัติหน้าที่ได้โดยไม่ผิดพลาด ดังนั้น จึงมีความจำเป็นต้องขยายระยะเวลาบังคับใช้กฎหมายออกไปเป็น 90 วัน อีกทั้งที่ผ่านมาก็มีกฎหมายหลายฉบับที่มีการขยายระยะเวลาบังคับใช้กฎหมายด้วย

นายวิทยา ผิวผ่อง ประธานคณะ กมธ.วิสามัญฯ กล่าวถึงเหตุผลที่คณะ กมธ.วิสามัญฯได้ขยายเวลาออกไป 90 วันว่า ที่ผ่านมา สนช.เคยผ่อนเวลาการให้กฎหมายมีผลบังคับใช้แล้วในหลายรูปแบบ เช่น ให้มีผลบังคับเมื่อพ้น 90 วัน หรือ 240 วันมาแล้วโดยไม่ได้กำหนดให้ เช่น พ.ร.บ.การชุมนุมสาธารณะ พ.ร.บ.ผู้สูงอายุ พ.ร.บ.บำเหน็จบำนาญข้าราชการ เป็นต้น

นายวิทยา กล่าวว่า การเลื่อนระยะเวลาการบังคับใช้ออกไปเพื่อให้ประชาชน ซึ่งเป็นบุคคลที่ได้รับผลกระทบโดยตรงได้มีเวลาเตรียมตัวจะได้ไม่ประพฤติผิด หรือจะได้ไม่ทำผิดโดยเจตนา คณะ กมธ.อยากให้กฎหมายฉบับนี้เป็นการพัฒนาการเลือกตั้งและพัฒนาประชาธิปไตยเพื่อนำไปสู่การปฏิรูปประเทศ จึงขอเสนอเลื่อนการใช้บังคับกฎหมายออกไปไป 90 วัน เพื่อให้ผู้สมัครรับเลือกตั้ง และเจ้าหน้าที่ของรัฐได้ทำความเข้าใจกับหลักเกณฑ์ฉบับใหม่โดยไม่ให้เกิดความผิดพลาดในการปฏิบัติหน้าที่

...

นายประพันธ์ นัยโกวิท กรรมการร่างรัฐธรรมนูญ (กรธ.) ในฐานะกรรมาธิการเสียงข้างน้อย ที่สงวนคำแปรญัตติไม่ให้ขยายเวลาบังคับใช้กฎหมาย อภิปรายว่า สิ่งที่คณะกรรมาธิการเสียงข้างมากทำนั้นเป็นการเปลี่ยนแปลงหลักการที่ กรธ.กำหนดไว้ ทั้งนี้ การทำงานของ กรธ.ทำตามมาตรา 267 มีกรอบเวลาชัดเจนคือ เขียนกฎหมายลูกทั้ง 10 ฉบับ ภายใน 240 วัน นับแต่รัฐธรรมนูญประกาศใช้ ซึ่ง กรธ.ทำตามกรอบและวางแผนอย่างดีว่าต้องทำอย่างไร เพราะรู้ดีว่า มีเวลาเพียง 240 วัน ดังนั้น การที่กรธ.เสนอว่าต้องดำเนินการเลือกตั้งใน 150 วัน นับแต่ร่างกฎหมายดังกล่าวประกาศใช้ จึงถือว่าระยะเวลาดังกล่าวมีความยืดหยุ่นเหมาะสมแล้ว นอกจากนี้ รัฐธรรมนูญฉบับปัจจุบันได้ขยายเวลายาวกว่ารัฐธรรมนูญปี 2550 ที่กำหนดไว้เพียง 90 วันเท่านั้น จึงไม่เห็นความจำเป็นที่จะต้องขยายเวลาอีก 90 วัน

ด้าน นายทวีศักดิ์ สูทกวาทิน กรรมาธิการเสียงข้างน้อยที่สงวนคำแปรญัตติขอขยายเวลาบังคับใช้กฎหมายเป็น 120 วัน อภิปรายว่า การขยายเวลาบังคับใช้ 90 วันนั้นไม่เพียงพอ อาจทำให้เกิดปัญหากับพรรคการเมือง อาจจะไม่สามารถเตรียมการเลือกตั้งได้ทัน อาจจะต้องมาขอขยายเวลาเพิ่ม ซึ่งกลายเป็นแรงกดดันทางการเมืองที่ถาโถมเข้ามา ทั้งนี้ คำสั่ง คสช.ที่ 53/2560 ที่ให้ขยับเวลาดำเนินกิจกรรมทางการเมือง โดยเริ่มต้นในเดือน มี.ค. และ เม.ย.นั้น ส่งผลให้เงื่อนเวลาดำเนินกิจกรรมทางการเมืองถูกขยับออกไป 6 เดือน ถ้าจะขยายเวลาออกไป 6 เดือนก็จะถูกวาทกรรมต่างๆ อาทิ ยื้อเวลา สืบทอดอำนาจ อย่างไรก็ตาม มีขั้นตอนหลายอย่างที่ต้องใช้เวลาดำเนินการมาก เช่น การทบทวนรายชื่อสมาชิกพรรคการเมือง ระบบไพรมารีโหวต ขณะที่ กกต.เองก็มีประเด็นใหม่หลายเรื่องที่ไม่มีประสบการณ์มาก่อน อาทิ การหาเสียงทางอิเลคทรอนิกส์ ผู้ตรวจการเลือกตั้ง ซึ่งไม่รู้ว่า กกต.มีความพร้อมและความรู้แค่ไหน ดังนั้น หากกำหนดเงื่อนเวลา 90 วันตามแรงกดดัน ทำแบบกล้าๆ กลัวๆ เมื่อถึงเวลาเลือกตั้งอาจจะเกิดปัญหาได้ จึงควรขยายเวลาเป็น 120 วันน่าจะเหมาะสมกว่า

นายวัลลภ ตังคณานุรักษ์ สมาชิก สนช. อภิปรายว่า ตัวแทนจากคณะกรรมการการเลือกตั้ง (กกต.) ต้องตอบคำถามด้วยว่า ทำไมจึงเป็นกรรมาธิการเสียงข้างมาก เห็นด้วยกับการขยายเวลา 90 วัน ซึ่งตนเข้าใจเอาเองว่า เป็นเพราะ กกต.ก็เห็นว่ากำหนดเวลาเดิมอาจจะดำเนินการไม่ทันใช่หรือไม่ จึงเห็นด้วยกับการขยายเวลาดังกล่าว กกต.ต้องอธิบายเหตุผลด้วยว่าทำไมต้องเป็น 90 วัน

นายสมชาย แสวงการ สมาชิก สนช. อภิปรายว่า ข่าวลือเรื่องที่ว่าจะมีการล้มกฎหมายลูกนั้น ขอให้ผ่านไปได้เลย เพราะเป็นไปไม่ได้อยู่แล้ว การขยายเวลาการบังคับใช้กฎหมายฉบับนี้ออกไปก็เพราะมีขั้นตอนในการดำเนินการแต่ละช่วง ทั้งนี้ การขยายเวลาออกไป 90 วันนั้นน้อยเกินไป ความจริงแล้วตนอยากได้ 180 วันด้วยซ้ำ แต่เมื่อเสียงส่วนใหญ่เห็นว่าควรขยายเวลาออกไป 90 วัน ตนก็เคารพและสนับสนุนกรรมาธิการเสียงข้างมาก ส่วนกรณีที่พรรคการเมืองออกมาคัดค้านนั้น ขอให้กล้าเอาความจริงมาพูดด้วย ไม่ต้องการระบบไพรมารีโหวตใช่หรือไม่จึงออกมาคัดค้าน อย่างไรก็ตาม อยากให้แปะข้างฝาไว้เลยว่า ถ้าไม่ทำไพรมารีโหวตในวันนี้ วันข้างหน้าก็จะไม่มีไพรมารีโหวตตลอดกาล ดังนั้นอย่ากล่าวหา สนช.ว่าขยายเวลาเพื่อต่อเวลาให้กับตัวเอง

พ.ต.ท.พงษ์ชัย วราชิต สมาชิก สนช. อภิปรายว่า ถ้าประเทศไทยไม่มีวันที่ 22 พ.ค. 2557 เราจะไม่มีประเทศไทยแบบทุกวันนี้ จะมีแต่การเผาบ้านเผาเมือง แบ่งแยกประเทศ จับอาวุธสงครามมากมาย การพัฒนาประเทศจะไม่เกิดขึ้น ที่ผ่านมา นักการเมืองทำอะไรเพื่อประเทศ และประชาชนบ้าง มีแต่ใช้วาทกรรมบิดเบือน ชักศึกเข้าบ้าน เรื่องการขยายเวลาบังคับใช้กฎหมายเป็นเรื่องเล็กน้อยแต่ทำให้เป็นเรื่องใหญ่ ทั้งนี้ ตนขอเสนอให้บังคับใช้กฎหมายหลังประกาศในราชกิจจานุเบกษา 60 เดือน หรือ 5 ปี เพื่อให้สอดคล้องกับยุทธศาสตร์ชาติ 20 ปี

ขณะที่ นายณัฏฐ์ เล่าสีห์สวกุล ตัวแทนคณะกรรมการการเลือกตั้ง (กกต.) ในฐานะกรรมาธิการฯ ชี้แจงว่า ตนไม่ได้อยู่ในเสียงข้างมาก หรือเสียงข้างน้อย เนื่องจากในขณะที่ประชุมเรื่องขยายเวลานั้น ตนไม่ได้อยู่ในที่ประชุม อย่างไรก็ตาม ในฐานะผู้จัดการเลือกตั้งก็มีความพร้อม ตั้งแต่ยกร่างรัฐธรรมนูญเราก็เตรียมการเลือกตั้งไปพอสมควรแล้ว ซึ่งผู้ที่เป็นผู้สมัคร ส.ส.จะอ่านกฎหมายฉบับเดียวแล้วมาสมัครไม่ได้ ต้องอ่านทั้ง 3 ฉบับ คือ รัฐธรรมนูญ กฎหมายพรรคการเมือง และกฎหมาย ส.ส. เพราะมีการทำไพรมารีโหวตเพิ่มขึ้น ซึ่งหากสมมติว่ากฎหมายประกาศในราชกิจจานุเบกษาในเดือน มิ.ย. คาดว่าพรรคการเมืองจะประชุม และทำกิจกรรมทางการเมืองได้เสร็จสิ้นประมาณวันที่ 27 ก.ย. หรือประมาณ 3 เดือน

ทั้งนี้ การขยายเวลาการบังคับใช้ออกไป 90 วันนั้น ไม่ได้แปลว่าวันเลือกตั้งจะต้องขยายออกไป 90 วัน อำนาจการกำหนดวันเลือกตั้งเป็นของ กกต. ดังนั้น ปฏิทินการเลือกตั้งจะเกิดขึ้นชัดเจนในเดือน มิ.ย. 2561 ซึ่งกิจกรรมพรรคการเมืองจะเริ่มได้เมื่อไหร่นั้น ก็จะอยู่ในเดือน มิ.ย.เช่นกัน สำหรับระยะเวลาภายใน 150 วันนั้น ถ้าให้การเลือกตั้งเกิดขึ้นเร็วที่สุด คาดว่าจะมีพระราชกฤษฎีกาเลือกตั้งประมาณวันที่ 70 ของ 150 วัน หลังจากพรรคการเมืองทำไพรมารีโหวตแล้ว การขยายระยะเวลา 90 วัน จึงน่าจะเพียงพอ