"อังคณา" ระบุปม "น้องเมย" ญาติมีสิทธิผ่าพิสูจน์กี่รอบก็ได้ หากข้องใจสาเหตุการตาย ชี้แพทย์เอาอวัยวะออกต้องให้ญาติยินยอม แนะเยียวยาครอบครัว เผย กสม.พร้อมตรวจสอบหากญาติร้องไม่ได้รับความเป็นธรรม 

เมื่อวันที่ 23 พ.ย.60 นางอังคณา ลีนะไพจิตร กรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งชาติ(กสม.) กล่าวถึงการเสียชีวิตของนักเรียนเตรียมทหาร ภคพงศ์ ตัญกาญจน์ หรือ น้องเมย ว่า รู้สึกตกใจและแปลกใจกับการที่แพทย์ออกมาระบุในทำนองว่าสามารถเอาอวัยวะภายในของน้องเมยออกไปได้ ทั้งที่ความจริงแล้วจะทำอะไรก็ควรต้องบอกกับญาติให้ทราบชัดเจนก่อน ซึ่งก็ไม่ควรทำด้วยวาจาแต่ต้องทำเป็นเอกสารและให้เซ็นยินยอม

ทั้งนี้การที่ญาติยังมีความข้องใจเกี่ยวกับสาเหตุการเสียชีวิต ก็เป็นสิทธิที่จะผ่าศพพิสูจน์อีกกี่ครั้งก็ได้ เหมือนกับกรณีของนายห้างทอง ธรรมวัฒนะ ที่ก็มีการผ่าพิสูจน์หลายครั้ง ส่วนกรณีดังกล่าวจะถือว่าเข้าข่ายละเมิดหรือไม่นั้น ต้องสรุปชัดเจนก่อนว่าน้องเมย เสียชีวิตเพราะอะไร หากเสียชีวิตโดยไม่ได้มีใครไปทุบทำร้ายเขา แต่เสียชีวิตเพราะถูกบังคับให้กระทำอย่างใดอย่างหนึ่งจนร่างกายรับไม่ไหว ก็ต้องถือว่าเขาเสียชีวิตโดยการที่มีคนซึ่งมีอำนาจบังคับให้เขาต้องทำแบบนั้น ซึ่งคนที่มีอำนาจคนนั้นก็ต้องรับผิดชอบ 

นางอังคณา กล่าวต่อว่า ส่วนที่ทหารอ้างว่าเป็นเรื่องธำรงวินัย เป็นเรื่องปกติที่จะฝึกวินัย ความอดทนของนักเรียนใหม่นั้น ก็เห็นว่าประเทศไทยได้ให้สัตยาบันอนุสัญญาว่าด้วยการต่อต้านทรมานแล้วทั้งปี 2550 และปี 2552 ซึ่งประเทศก็มีภาระผูกพันที่ต้องทำตามอนุสัญญานี้ และอนุสัญญาต่อต้านทรมานของสหประชาชาติก็ระบุไว้ว่าไม่ว่าสถานการณ์ใด รวมถึงสภาวะสงคราม การทรมานไม่สามารถเอามาใช้เป็นเหตุผลที่จะกระทำกับบุคคลอย่างไรก็ไม่ได้ อีกทั้งปัจจุบันมีร่างกฎหมายทรมานสูญหายที่ขณะนี้อยู่ในชั้นการแก้ไขของกระทรวงยุติธรรม โดยตามร่างกฎหมายนี้การทรมานทำไม่ได้ไม่ว่าในสถานการณ์ใดๆ และการทรมานตามนิยามนี้ไม่ได้หมายถึงการทรมานด้านร่างกายอย่างเดียว แต่หมายรวมถึงการทรมานด้านจิตใจ การบังคับขู่เข็ญด้วย ฉะนั้นการธำรงวินัย เช่น การชกท้อง หรือบังคับให้ทำอะไรหนักๆ เกินกว่าร่างกายจะรับไหว มันก็เข้าข่ายเป็นการทรมานอยู่แล้วซึ่งก็ทำไม่ได้

...

"ก็เป็นคำถามที่ท้าทายทางทหารเหมือนกันว่า ต่อไปเรามีกฎหมายต่อต้านการทรมานแล้วเรายังบอกว่าธำรงวินัยเป็นวัฒนธรรมของโรงเรียนที่จะต้องรักษาไว้ให้ยังคงอยู่อีกหรือ เพราะถ้ากฎหมายทรมานสูญหายมีผลบังคับใช้ วิธีการที่เป็นการบังคับจิตใจหรือทำให้เกิดความทุกข์ทรมานร่างกาย จิตใจ ผิดกฎหมายหมดเลย เพราะถือว่าเป็นอาชญกรรม การจะทำให้คนรู้รักษาวินัย มีวิธีการการอื่นๆ อีกมากมาย และประเพณีวัฒนธรรมอะไรที่ไม่ดี ไม่ถูกต้องก็ควรจะปรับปรุง ซึ่งรัฐบาลและหน่วยงานที่เกี่ยวข้องควรเอาเหตุการณ์ที่เกิดขึ้นเป็นบทเรียน หากรัฐบาลจะประกาศเอาเรื่องสิทธิมนุษยชนเป็นวาระแห่งชาติ ก็ควรจะปฏิรูประบบนี้เสีย" นางอังคณา กล่าว

นางอังคณา กล่าวต่อว่า ในส่วนของญาติผู้เสียหาย หากรู้สึกว่าไม่ได้รับความเป็นธรรมก็สามารถร้องต่อ กสม.ได้ ซึ่งจะมีการเข้าไปตรวจสอบข้อเท็จจริง ว่ามีการละเมิดหรือไม่ แต่ก็ยอมรับว่าไม่ใช่เรื่องที่จะทำให้เกิดความจริงได้ง่ายเพราะผู้ที่เห็นเหตุการณ์ คือนักเรียนนายร้อยด้วยกันซึ่งอยู่ที่ว่าจะพูดหรือไม่ เพราะก็อาจจะอ้างเรื่องวินัย พูดไม่ได้ เป็นความลับราชการ ก็ยากจะหาหลักฐาน จริงๆ เรื่องนี้ถ้าหากเจ้าหน้าที่ระดับสูงคิดว่า เป็นเรื่องที่ควรจะเยียวยาครอบครัวเขาก็ควรบอกความจริงกับเขาดีกว่า