เศรษฐกิจซบคนไม่มีเงินฝาก ผงะ! คนไทยออมเงินเพื่อเกษียณลดลง

Personal Finance

Banking & Bond

กองบรรณาธิการ

กองบรรณาธิการ

หนังสือพิมพ์ไทยรัฐ

Tag

เศรษฐกิจซบคนไม่มีเงินฝาก ผงะ! คนไทยออมเงินเพื่อเกษียณลดลง

Date Time: 23 ส.ค. 2560 08:40 น.

Summary

  • แบงก์ชาติเปิดผลสำรวจพบคนไทยเข้าถึงบริการทาง การเงินเพิ่มขึ้น แต่ยังมีถึง 11% ที่เลือกไม่ใช้บริการทางการเงิน ส่วนใหญ่รายได้ต่ำ ขาดความรู้ความเข้าใจ ไม่กล้าไปติดต่อ กลัวถูกปฏิเสธ

Latest

3 กองทุนลดหย่อนภาษี 2567 ลดหย่อนสูงสุด 8 แสนบาท มีเงื่อนไขแบบไหนบ้าง

แบงก์ชาติเปิดผลสำรวจพบคนไทยเข้าถึงบริการทาง การเงินเพิ่มขึ้น แต่ยังมีถึง 11% ที่เลือกไม่ใช้บริการทางการเงิน ส่วนใหญ่รายได้ต่ำ ขาดความรู้ความเข้าใจ ไม่กล้าไปติดต่อ กลัวถูกปฏิเสธ นอกจากนี้ ผลจากเศรษฐกิจซบทำให้คนส่วนหนึ่งไม่ฝากเงิน ที่สำคัญยังพบว่าคนไทยวางแผนออมเงินเพื่อเกษียณลดลงมากเมื่อเทียบกับปี 56 ขณะที่ผลจากมาตรการรัฐทำให้คนไทยก่อหนี้ในระบบได้มากขึ้น จึงใช้บริการหนี้นอกระบบลดลง

ผู้สื่อข่าวรายงานว่า ธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) ได้ร่วมกับสำนักงานสถิติแห่งชาติ สำรวจการเข้าถึงบริการทางการเงินภาคครัวเรือนเป็นประจำทุก 3 ปี เพื่อประเมินและติดตามการเข้าถึงบริการการเงินของประชาชน เพื่อนำผลสำรวจมาประกอบการจัดทำนโยบาย โดยปี 59 ได้สำรวจกลุ่มตัวอย่างซึ่งเป็นหัวหน้าครัวเรือนหรือตัวแทนครัวเรือนอายุ 15 ปีขึ้นไป 10,866 ครัวเรือน ในทุกภูมิภาคของประเทศใน 11 บริการ ได้แก่ 1.เงินฝาก และเงินออม 2.สินเชื่อ 3.การโอนเงิน 4.การชำระเงิน 5.บัตรเครดิต 6.ประกันชีวิต 7.ประกันวินาศภัย 8.กองทุนรวม 9.ตราสารการลงทุนภาครัฐ 10.ตราสารการลงทุนภาคเอกชน และ 11.การเล่นแชร์

ผลสำรวจปี 59 พบว่า ครัวเรือนสามารถเข้าถึงบริการทางการเงินเพิ่มขึ้นอยู่ที่อัตรา 97.3% จาก 95.8% ในปี 56 และมีครัวเรือนที่ใช้บริการทางการเงินทั้งสิ้น 86.3% อย่างไรก็ตาม มีครัวเรือนที่เลือกจะไม่ใช้บริการทางการเงิน 11.0% ทั้งนี้ หากพิจารณาเฉพาะครัวเรือนที่ใช้บริการ จะพบว่าธนาคารพาณิชย์และสถาบันการเงินเฉพาะกิจยังเป็นช่องทางหลัก ขณะที่กองทุนหมู่บ้าน สถาบันการเงินอื่นๆเข้ามามีบทบาทเพิ่มขึ้น โดยเฉพาะผู้ให้บริการชำระเงินทางอิเล็กทรอนิกส์ ขณะเดียวกันครัวเรือนใช้บริการจากผู้ให้บริการนอกระบบลดลง ซึ่งสะท้อนให้เห็นผลจากการดำเนินนโยบายรัฐที่สนับสนุนให้ประชาชนใช้บริการจากผู้ให้บริการในระบบและกึ่งในระบบ

สำหรับครัวเรือนที่ไม่สามารถเข้าถึงบริการทางการเงิน มีสัดส่วนลดลงจาก 4.2% ในปี 56 ลงมาอยู่ที่ 2.7% ส่วนใหญ่เป็นครัวเรือนที่มีรายได้ต่ำสุดหรือรายได้ต่ำในภาคใต้และภาคตะวันออกเฉียงเหนือ นอกจากนี้ ยังพบว่าเพศชายและหญิงเข้าถึงบริการ ทางการเงินได้เท่าเทียมกันที่ 97% และ 97.6% ตามลำดับ โดยบริการทางการเงิน 3 ประเภทที่ใช้บริการมากที่สุดคือ โอนเงินและชำระเงิน รองลงมาเป็นเงินฝาก และสินเชื่อ

ทั้งนี้ หากพิจารณาแยกรายบริการจะพบว่า ครัวเรือนสามารถเข้าถึงบริการเงินฝากเพิ่มขึ้นเป็น 94.2%จาก 92.5%ในการสำรวจครั้งก่อน แต่สัดส่วนครัวเรือนที่เลือกจะไม่ใช้บริการเงินฝากเพิ่มขึ้นเช่นกัน ซึ่งอาจมีสาเหตุมาจากภาวะเศรษฐกิจชะลอตัว ทำให้ครัวเรือนมีฐานะการเงินและรายได้ไม่เพียงพอที่จะออมเงิน ขณะที่มีการเข้าถึงบริการสินเชื่อได้เพิ่มขึ้นเล็กน้อยเป็น 94.1% จาก 93.4% โดยส่วนใหญ่ใช้บริการกับสถาบันการเงินเฉพาะกิจ และผู้ให้บริการกึ่งในระบบ เช่น กองทุนหมู่บ้าน ส่วนบริการโอนเงินและชำระเงินสามารถเข้าถึงบริการเพิ่มเป็น 98.6% จาก 96.9%

สำหรับช่องทางการใช้บริการทางการเงินพบว่า สาขาธนาคารพาณิชย์และสถาบันการเงินเฉพาะกิจ และตู้เอทีเอ็มยังคงเป็นช่องทางที่ครัวเรือนใช้บริการมากที่สุด อย่างไรก็ดี พบว่าครัวเรือนใช้บริการโอนเงินและชำระเงินผ่านร้านสะดวกซื้อและซุปเปอร์มาร์เกตมากขึ้นอย่างเห็นได้ชัด และมีการใช้บริการผ่านโมบายแอพพลิเคชั่นและอินเตอร์เน็ตเพิ่มขึ้นเล็กน้อย ทั้งนี้ ครัวเรือนส่วนใหญ่พอใจกับช่องทางปัจจุบัน แต่บางส่วนยังต้องการเพิ่ม โดยครัวเรือนในเขตเมืองต้องการสาขาและตู้เอทีเอ็ม ขณะที่ครัวเรือนนอกเขตเมืองต้องการให้มีตัวแทนของสถาบันการเงินให้บริการนอกสถานที่

การสำรวจยังพบว่า ครัวเรือนมีปัญหาการใช้บริการทางการเงินลดลงเมื่อเทียบกับปี 56 ปัญหาส่วนใหญ่ คือ ไม่พึงพอใจในบริการของสถาบันการเงิน เช่น รอคิวนาน พนักงานไม่สุภาพ และขายผลิตภัณฑ์พ่วง ดอกเบี้ยและค่าธรรมเนียมไม่เหมาะสม พนักงานให้ข้อมูลไม่เพียงพอ

ส่วนปัญหาที่พบว่ายังมีครัวเรือนที่ไม่สามารถเข้าถึงหรือเลือกจะไม่ใช้บริการจากธนาคารพาณิชย์และสถาบันการเงินเฉพาะกิจนั้น ส่วนใหญ่มีฐานะการเงินไม่ดีหรือรายได้ไม่เพียงพอ ขาดความรู้ความเข้าใจในบริการ ไม่กล้าไปติดต่อเพราะกลัวถูกปฏิเสธ และไม่สะดวกเดินทางไปใช้บริการ ทั้งนี้ หากพิจารณาพฤติกรรมการออมของภาคครัวเรือน พบว่า ครัวเรือนส่วนใหญ่ออมเงินเพื่อใช้ในยามฉุกเฉิน เจ็บป่วยหรือใช้ในยามเกษียณ และบริหารรายรับ-รายจ่าย โดยฝากเงินกับธนาคารพาณิชย์ หรือสถาบันการเงินเฉพาะกิจเพื่อออมเงินเป็นหลัก อย่างไรก็ตาม ครัวเรือนมีการวางแผนและเริ่มออมเงินเพื่อยามเกษียณลดลงจาก 59% ในปี 56 เหลือเพียง 44%

ทั้งนี้ จากผลสำรวจข้างต้น มีข้อเสนอแนะเชิงนโยบาย 3 ด้าน ดังนี้ 1.ควรส่งเสริมบทบาทของผู้ให้บริการที่มิใช่ธนาคารพาณิชย์เพื่อเพิ่มการแข่งขันในระบบ และช่วยให้ผู้ใช้บริการได้รับความสะดวกและสามารถใช้บริการ ในราคาต่ำลง 2.ส่งเสริมให้สถาบันการเงินมีบัญชี เพื่อการทำธุรกรรมพื้นฐาน เช่น ฝาก ถอน โอนเงินและชำระเงินโดยมีบริการที่ต่ำลง 3.ส่งเสริมให้ประชาชนมีความรู้ความเข้าใจ ผลิตภัณฑ์ทางการเงินพื้นฐาน เพื่อให้สามารถเลือกใช้ได้อย่างเหมาะสม รวมถึงสนับสนุนให้ประชาชนตระหนักถึงความสำคัญของการวางแผนทางการเงินและการออม เพื่อช่วยให้ประชาชนมีเงินเพียงพอสำหรับใช้จ่ายในยามเกษียณ.


Author

กองบรรณาธิการ

กองบรรณาธิการ
หนังสือพิมพ์ไทยรัฐ