(ภาพองค์การสวนพฤกษศาสตร์)
องค์การสวนพฤกษศาสตร์ เผยเรื่องน่าดีใจ ค้นพบกล้วยไม้ไทยหายากสายพันธุ์ใหม่ของโลก “สิงโตต่างหู” พบได้เฉพาะใน จ.แม่ฮ่องสอน ห่วงสูญพันธุ์หลังมีการซื้อขายในเว็บดัง เร่งวิจัยหาทางขยายพันธุ์ด่วน
เมื่อเวลา 14.00 น. วันที่ 13 ก.ค. 60 ดร.ปิยเกษตร สุขสถาน รักษาการรองผู้อำนวยการองค์การสวนพฤกษศาสตร์ เปิดเผยว่า ทางองค์การพฤกษศาสตร์ ได้ค้นพบกล้วยไม้ไทยหายากสายพันธุ์ใหม่ของโลก "สิงโตต่างหู" ที่มีชื่อทางวิทยาศาสตร์ว่า “Bulbophyllum physometrum j.j Vermelen, Suksathan & Watthana” ซึ่งค้นพบโดยตนเอง ร่วมกับผู้เชี่ยวชาญกล้วยไม้จากเนเธอร์แลนด์ Dr.Jaap Vermeulen และ ดร.สันติ วัฒฐานะ จากมหาวิทยาลัยเทคโนโลยีสุรนารี
สำหรับกล้วยไม้นี้ เป็นกลุ่มกล้วยไม้สิงโตกลอกตาขนาดเล็ก ที่เรียกกันว่า "Miniature orchids" มีลำลูกกล้วยรูปร่างกลมแบน และเป็นร่องคล้ายซาลาเปาขนาดเพียง 1.2-1.4 เซนติเมตรเท่านั้น มีใบ 2 ใบ ช่อดอกผอมบางแทงออกจากใต้ลำลูกกล้วยตอนปลายมีดอกเป็นกลุ่ม 5-9 ดอก ตัวดอกมีขนาดเล็กมาก มีเส้นผ่าศูนย์กลางราว 2-3 มิลลิเมตร ลักษณะพิเศษของสิงโตชนิดนี้คือ ส่วนรังไข่ของดอกไม้ปลายยอดที่เป็นหมันนั้น ได้พัฒนาขยายตัวบวมพองออกจนมีขนาดใหญ่คล้ายโคมจีน หรือลูกบอลลูน เมื่อประกอบกับดอกปกติอื่นๆ โดยรอบ จึงดูเหมือนตุ้มหูหรือต่างหูที่มีตุ้มตรงปลาย และแกว่งไกวไปมาได้เป็นอิสระ จึงเป็นที่มาของชื่อ "สิงโตต่างหู" ซึ่งมีวัฒนาการเพื่อล่อแมลงในรูปแบบใหม่ที่ไม่เคยมีรายงานมาก่อนในกล้วยไม้
...
"กล้วยไม้ชนิดนี้เป็นพืชหายากถิ่นเดียวของไทย มีรายงานว่าพบได้เฉพาะใน จ.แม่ฮ่องสอน เท่านั้น สถานภาพในธรรมชาติมีจำนวนน้อยมาก เนื่องจากถิ่นที่อยู่ในป่าดิบเขาของมันถูกทำลายจากกิจกรรมต่างๆ ของมนุษย์ รวมถึงการเปลี่ยนแปลงของสภาพภูมิภาคอากาศโลก และเนื่องจากความแปลกประหลาดและหายากนี้ ทำให้มีความต้องการจากนักสะสมทั่วโลก กระทั่งมีการประกาศขายแล้วในเว็บไซต์ดัง ซึ่งถือว่าผิดกฎหมายไซเตสอย่างแน่นอน จากปัจจัยร่วมดังกล่าวจึงน่าเป็นห่วงอย่างยิ่งว่า "สิงโตต่างหู" อาจลดจำนวนลง และสูญพันธุ์ไปจากธรรมชาติในไม่ช้า ทางองค์การสวนพฤกษศาสตร์ กำลังทำการศึกษาวิจัยหาทางขยายพันธุ์อย่างเร่งด่วนแข่งกับการลดลงของสายพันธุ์ และกระแสความต้องการเพื่อเป็นหลักประกันความอยู่รอดในอนาคตของกล้วยไม้สุดพิเศษชนิดนี้" ดร.ปิยเกษตร กล่าวด้วยความเป็นห่วง